การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ไปลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนตน นายแสงตะวันไปทําสัญญาตามคําสั่งและ รับรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้ามาหนึ่งคัน เมื่อนางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบ จึงบอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทน ดังนี้ นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ ให้นายสายฟ้าหรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทน เพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้อง มีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 799 “ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อม ต้องผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทํา”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนไปลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ จากนายสายฟ้าแทนตนนั้น เป็นการมอบอํานาจที่ถูกต้องตามมาตรา 798 วรรคสอง และมาตรา 799 ดังนั้น นายแสงตะวันจึงมีอํานาจทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนนางสาวแสงดาวได้

เมื่อนายแสงตะวันได้ทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ตามคําสั่งและรับรถจักรยานยนต์จาก นายสายฟ้ามาหนึ่งคัน จึงถือเป็นกิจการที่นายแสงตะวันตัวแทนได้ทําไปภายในขอบอํานาจของการเป็นตัวแทน ย่อมมีผลทําให้นางสาวแสงดาวต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกคือต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้า ตามมาตรา 820 แม้ว่านางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบและได้บอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทน แองนายแสงตะวันแล้วก็ตาม นางสาวแสงดาวก็ยังคงต้องรับผิดชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้า เนื่องจากการที่ตนได้ใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนตามมาตรา 799

สรุป

นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้นายสายฟ้า

 

ข้อ 2. นายอาทิตย์เป็นตัวแทนค้าต่างขายรถยนต์มือสองทุกยี่ห้อ นายจันทร์ได้นํารถยนต์ของตนหนึ่งคันมาฝากนายอาทิตย์ขายในราคา 300,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายรถยนต์คันดังกล่าวได้จะให้ ค่าบําเหน็จแก่นายอาทิตย์เป็นเงินจํานวน 20,000 บาท ปรากฏว่านายอาทิตย์ได้นํารถยนต์คันนั้น ไปขายให้แก่นายอังคารในราคา 340,000 บาท และนอกจากนี้เงินที่ขายรถยนต์ได้ยังไม่ยอมส่งมอบ ให้แก่นายจันทร์โดยนําไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าเงินที่ขายรถยนต์ ได้สูงกว่าที่นายจันทร์กําหนดไว้ นายอาทิตย์จะถือเอาเงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนได้หรือไม่ และ เงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบให้แก่นายจันทร์ นายอาทิตย์จะต้องรับผิดต่อนายจันทร์หรือไม่ อย่างไรจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการ นั้นไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือ ขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 835 “บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้ บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้”

มาตรา 840 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อได้ ราคาต่ํากว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ได้นํารถยนต์ของตนหนึ่งคันไปฝากนายอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขายในราคา 300,000 บาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายรถยนต์คันดังกล่าวได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่ นายอาทิตย์จํานวน 20,000 บาท แต่นายอาทิตย์ได้ขายให้แก่นายอังคารในราคา 340,000 บาท ซึ่งเป็นราคาขายที่สูงกว่าที่นายจันทร์กําหนดไว้ 40,000 บาทนั้น เงินส่วนที่เกินนี้นายอาทิตย์ตัวแทนค้าต่างจะถือเอาเป็นประโยชน์ ของตนไม่ได้ ต้องคิดให้แก่ตัวการตามมาตรา 840 คือต้องส่งมอบเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่นายจันทร์ตัวการ

ส่วนเงินจํานวน 340,000 บาท ที่ขายรถยนต์ได้ นายอาทิตย์ตัวแทนค้าต่างต้องส่งมอบให้แก่ นายจันทร์ตัวการจงสิ้นตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 810 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอาทิตย์ไม่ยอมส่งมอบ ห้แก่นายจันทร์แต่ได้นําเงินจํานวนดังกล่าวไปใช้สอยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตน จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้นําไปใช้ตามมาตรา 835 ประกอบมาตรา 811

สรุป

นายอาทิตย์จะถือเอาเงินส่วนที่ขายเกินเป็นของตนไม่ได้ และเงินส่วนที่ไม่ยอมส่งมอบ ให้แก่จันทร์ นายอาทิตย์จะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้นําไปใช้

 

ข้อ 3. นายเชิดต้องการขายที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา 1 แปลง กําหนดราคา 10 ล้านบาท จึงได้ตั้งนายชูและนายชอบเป็นนายหน้าขายที่ดินดังกล่าวโดยตกลงจะให้บําเหน็จ 2% จากราคาขาย นายชูและ นายชอบได้ประกาศขายที่ดินดังกล่าวไว้ที่ website ประกาศขายที่ดินแห่งหนึ่ง นายรวยมาเจอเข้า จึงได้ติดต่อมาที่นายชูและนายชอบ นายชูและนายชอบจึงนัดให้นายรวยและนายเชิดได้มาเจอกัน แต่ปรากฏว่าพอถึงวันนัด นายเชิด กลับเสนอขายราคาที่ดินเป็น 11 ล้านบาท นายรวยจึงไม่ยอมตกลงทําสัญญาซื้อขายด้วย อีกสามวัน ถัดมานายเชิดได้ให้ตัวแทนของตนไปติดต่อกับนายรวยอีกครั้ง ในการติดต่อครั้งนี้นายรวยตกลง จะซื้อที่ดินของนายเชิดในราคา 11 ล้านบาท และได้เข้าทําสัญญาจะซื้อจะขายกับนายเชิด ในเวลาต่อมาเมื่อนายชูและนายชอบทราบจึงมาขอรับบําเหน็จจากนายเชิด นายเชิดปฏิเสธโดย อ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการชี้ช่องของนายชูและนายชอบแต่เกิดจาก การที่ตัวแทนของตนไปติดต่อในภายหลัง ดังนี้ ข้ออ้างของนายเชิดฟังขึ้นหรือไม่ จงอธิบายพร้อม ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้ เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้น ได้ทํากันสําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็น เงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และ นายหน้ารับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้า ย่อมจะได้รับค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเชิดต้องการขายที่ดินจึงได้ตั้งนายชูและนายชอบเป็นนายหน้า ขายที่ดินดังกล่าวโดยตกลงจะให้คําบําเหน็จ 2% จากราคาขาย และนายชูและนายชอบได้ประกาศขายที่ดิน ดังกล่าวไว้ที่ website ประกาศขายที่ดินแห่งหนึ่งนั้น เมื่อนายชูและนายชอบได้ตกลงรับเป็นนายหน้าให้แก่ นายเชิดแล้ว สัญญานายหน้าจึงเกิดขึ้น การกระทําการชี้ช่องหรือจัดให้บุคคลผู้ตกลงให้นายหน้าชี้ช่องกับ บุคคลภายนอกได้เข้าทําสัญญากันจึงเป็นหน้าที่ของนายหน้าอันพึงกระทําลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ตกลง ให้นายหน้าซ่อง และเมื่อนายหน้าได้จัดให้บุคคลทั้งสองฝ่ายได้เข้าทําสัญญากันแล้ว การกระทําของนายหน้า ย่อมบริบูรณ์และสมประโยชน์ของบุคคลผู้ตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องแล้ว เมื่อบุคคลผู้ตกลงให้นายหน้าเป็น ผู้ชี้ช่องได้ถือเอาประโยชน์จากการชี้ช่องของนายหน้า สิทธิของนายหน้าในการได้รับบําเหน็จย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ต้อง คํานึงว่าการทําสัญญาระหว่างบุคคลผู้ตกลงให้นายหน้าชี้ช่องกับบุคคลภายนอกนั้นจะได้เกิดขึ้นในคราวเดียว หรือในคราวต่อ ๆ ไปก็ตาม

ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ แม้ว่าในคราวแรกนายเชิดจะยังไม่ได้ตกลงทําสัญญา จะซื้อจะขายกับนายรวย แต่ได้ตั้งตัวแทนไปทําสัญญาจนสําเร็จในคราวหลัง ย่อมถือได้ว่านายเชิดได้ถือเอา ประโยชน์จากการที่นายชูและนายชอบได้ชี้ช่องในคราวแรกแล้ว นายชูและนายชอบจึงได้ทําหน้าที่ของการ เป็นนายหน้าโดยสมบูรณ์แล้วย่อมมีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้าจากนายเชิดได้ การที่นายเชิดปฏิเสธโดยอ้างว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการชี้ช่องของนายชูและนายชอบแต่เกิดจากการที่ตัวแทนของตน ไปติดต่อในภายหลังนั้น ข้ออ้างของนายเชิดจึงฟังไม่ขึ้น (เปรียบเทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1515/2512)

สรุป

ข้ออ้างของนายเชิดฟังไม่ขึ้น

Advertisement