การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก่อนที่จะมาสมรสกัน น.ส.ดาวได้รับที่ดินมือเปล่าจากบิดามารดายกให้โดยเสน่หามา 1 แปลง ส่วนนายดีเป็นหนี้นายแดงอยู่ห้าแสนบาท หลังจากสมรสกันแล้ว ดาวมอบให้ดีสามีนําที่ดินดังกล่าว ไปขอออกโฉนด ดีใส่ชื่อตนเองแต่เพียงผู้เดียวในโฉนด ต่อมาแดงเรียกบังคับชําระหนี้จากดี แดงนําเจ้าพนักงานบังคับคดีนํายึดที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาด เดียร์เข้ามาซื้อไว้ ดาวจะมาขอเพิกถอนการจดทะเบียนขายทอดตลาด โดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตนก่อนสมรส ที่มีชื่อในโฉนดที่พิพาทในฐานะผู้ถือแทนเท่านั้น ข้ออ้างของดาวฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้แต่ เพียงในสิ่งที่จําเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”

มาตรา 806 “ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่ รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดาวมอบให้ดีสามีนําที่ดินมือเปล่าของตนไปออกโฉนด ถือเป็นการ มอบอํานาจให้ดีเป็นตัวแทนรับมอบอํานาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 และถือเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ตามมาตรา 806 ซึ่งกําหนดไว้ว่า “ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกนอกหน้าเป็นตัวการไซร้ ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อน ที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ดาวตัวการได้ยอมให้ดีตัวแทนทําการยอกนอกหน้าเป็นตัวการ และเดียร์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด โดยไม่รู้ว่าที่เป็นตัวแทนของดาวในการนํา ที่ดินมาออกโฉนด กรณีนี้ ดาวซึ่งเป็นตัวการที่มิได้เปิดเผยชื่อและได้แสดงตนให้ปรากฏจะมาขอเพิกถอนการ จดทะเบียนขายทอดตลาด โดยอ้างว่าที่ดินเป็นของตนก่อนสมรส ที่มีชื่อในโฉนดที่พิพาทในฐานะผู้ถือแทนเท่านั้น ไม่ได้ เพราะจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของเดียร์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าดีเป็น ตัวแทนของดาว (ตามมาตรา 806) ดังนั้นข้ออ้างของดาวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างของดาวฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นางสร้อยเปิดร้านขายทองรูปพรรณอยู่ที่ตลาดบางกะปิ นางดาวต้องการขายทองรูปพรรณหนัก 30 บาท จึงได้มอบให้นางสร้อยเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองรูปพรรณของตน โดยตกลงว่าถ้าขายได้ จะจ่ายค่าบําเหน็จจํานวน 20,000 บาทให้แก่นางสร้อย ปรากฏว่าก่อนนําทองรูปพรรณมาฝากขาย ราคาทองรูปพรรณขายบาทละ 17,850 บาท นางดาวได้บอกกับนางสร้อยว่าถ้าราคาทองรูปพรรณสูงกว่านี้ให้นางสร้อยขายทองรูปพรรณของตนให้ด้วย ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2558 ปรากฏว่า ราคาทองรูปพรรณตามราคาตลาดโลกขึ้นเป็นราคาบาทละ 18,350 บาท ซึ่งนางสร้อยคาดว่า ราคาทองคําจะต้องขึ้นราคาอีก อาจจะถึงบาทละ 19,000 บาท นางสร้อยจึงต้องการซื้อทองรูปพรรณ ดังกล่าวไว้เองเพื่อผลกําไรในภายหน้า จึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้นางดาวทราบว่าตนจะซื้อทองรูปพรรณ ของนางดาวไว้เอง นางดาวไม่ได้บอกปัดในทันที เพราะเห็นว่าราคาทองคําขึ้นราคาแล้ว และตนก็ได้ กําไรเพิ่มขึ้น

ดังนี้อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณระหว่างนางสร้อยกับนางดาวเกิดขึ้นหรือไม่ และนางสร้อยจะได้รับบําเหน็จจากนางดาวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 843 “ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคําสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคา ของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญา ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกําหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลา เมื่อตัวแทนค้าต่างให้คําบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการรับคําบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้ สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่ง แม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบําเหน็จก็ย่อมคิดได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 843 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญา ตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคําบอกกล่าว นั้นแล้ว และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบําเหน็จตามสัญญาอีกด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นางดาวได้มอบให้นางสร้อยเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองรูปพรรณของตน และตกลงจะจ่ายบําเหน็จให้จํานวน 20,000 บาท ปรากฏว่าต่อมาราคาทองรูปพรรณตามราคาตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน เมื่อนางสร้อยคาดว่าราคาทองคําจะต้องสูงขึ้นอีก จึงต้องการซื้อทองรูปพรรณดังกล่าวไว้เองเพื่อผลกําไรในภายภาคหน้านั้น ดังนี้ นางสร้อยสามารถทําได้ เพราะ ในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ตามมาตรา 843 วรรคแรก

และเมื่อนางสร้อยบอกกล่าวทางโทรศัพท์ให้นางดาวทราบว่าตนจะซื้อทองรูปพรรณดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่านางดาวก็มิได้บอกปัดเสียในทันทีที่ได้รับคําบอกกล่าว กรณีนี้จึงถือว่านางดาวได้สนองรับคําบอกกล่าว นั้นแล้ว สัญญาซื้อขายทองรูปพรรณระหว่างนางสร้อยกับนางดาวจึงเกิดขึ้นตามมาตรา 843 วรรคสอง และนอกจากนี้นางสร้อยก็ยังสามารถคิดเอาค่าบําเหน็จจํานวน 20,000 บาท จากนางดาวตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้ด้วย แม้นางสร้อยจะเป็นผู้ซื้อทองรูปพรรณเหล่านั้นไว้เองก็ตามตามมาตรา 843 วรรคท้าย

สรุป

สัญญาซื้อขายทองรูปพรรณระหว่างนางสร้อยกับนางดาวได้เกิดขึ้นแล้ว และนางสร้อย มีสิทธิจะได้รับบําเหน็จจํานวน 20,000 บาท จากนางดาว

 

ข้อ 3. ก. ต้องการจะขายที่ดิน เลยเอาป้ายไปปักไว้ว่า “ที่ดินแปลงนี้ขาย” ติดต่อโทร. ข. ขับรถผ่านไปเห็นป้ายตัวนี้ก็เลยนึกถึง ค. ซึ่งเป็นลูกค้าของ ข. ว่า ให้หาที่ดินย่านนี้ให้หน่อยจะทําโรงงาน ประมาณสัก 4 หรือ 5 ไร่ก็ได้ ข. จึงจอดรถโทรถาม ก. เจ้าของที่ว่าที่แปลงนี้มีกี่ไร่ ลดราคาได้หรือไม่ เมื่อ ก. บอกไปว่ามี 5 ไร่ ๆ ละ 5 ล้านบาท แล้ว ข. ก็จากไป 3 วันต่อมา ข. ได้นํา ค. มาดูที่ ค. ชอบใจจึงพากัน ไปพบ ก. และตกลงซื้อขายและโอนกันเสร็จเลย หลังจากนั้น 1 วัน ข. มาพบ ก. เพื่อขอค่านายหน้า ก. ปฏิเสธที่จะให้ค่านายหน้า โดยบอกกับ ข. ว่า ก. ไม่ได้มอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้า ข. นําคดี มาฟ้องศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ ก. จ่ายค่านายหน้า ศาลวินิจฉัยว่า ก. ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้า เพราะไม่ได้ มีการมอบหมาย ข. โต้แย้งศาลว่าแม้ไม่ได้มอบหมายโดยตรงก็น่าจะเป็นการกระทําโดยปริยาย ตามมาตรา 846 วรรคแรก เพราะการขายที่ดินก็หวังว่าจะได้ค่านายหน้า

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของ ข. ฟังขึ้นหรือไม่ และ ข. จะได้ค่าบําเหน็จนายหน้าหรือไม่ และถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะสั่งให้ ก. จ่ายค่านายหน้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคแรก “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่ คาดหมายได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้ มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกัน หรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับ บําเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 345 หรือมีสัญญา ต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่ง มิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์

แม้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ค. จะได้เกิดขึ้นจากการชี้ช่อง และจัดการของ ข. ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก. ไม่เคยตกลงให้ ข. เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนตาม มาตรา 845 วรรคแรก อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคแรกก็ไม่ได้ เพราะการตกลง ตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่าบําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้ ก. ยังไม่ได้มอบหมายให้ ข. เป็นนายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น ข้ออ้างของ ข. จึงฟังไม่ขึ้น ข. ไม่มีสิทธิ ได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าจาก ก. และถ้า ข. ฟ้องให้ศาลสั่งให้ ก. จ่ายค่านายหน้า ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะ พิจารณาพิพากษาว่า ก. ไม่จําต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่ ข. แต่อย่างใด (คําพิพากษาฎีกาที่ 705/2505)

สรุป

ข้ออ้างของ ข. ฟังไม่ขึ้น ข. ไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า และถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะพิจารณาพิพากษาว่า ก. ไม่จําต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่ ข.

Advertisement