การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. ตั้ง ข. ให้เป็นตัวแทนให้มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อโดยมิได้มอบหมายแต่งตั้งเป็นหนังสือมี ค. มาทําสัญญาเช่าซื้อบ้านกับ ข. ข. ลงชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อนั้นไปให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาที่ ข. ทํากับ ค. นั้นเป็นอย่างไร การที่ ข. ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ” มาตรา 572 วรรคสอง “สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ”มาตรา 798 วรรคแรก “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้ง ตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อการทําสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นกิจการที่กฎหมายได้บังคับไว้ว่าต้องทําเป็นหนังสือ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 572 วรรคสอง) ดังนั้น การตั้งตัวแทนเพื่อไปทําสัญญาให้เช่าซื้อ จึงต้องทําเป็นหนังสือด้วย (มาตรา 798 วรรคแรก) เมื่อการตั้งตัวแทนของ ก. ที่ให้ ข. เป็นตัวแทนไปทําสัญญาให้เช่าซื้อ มิได้ทําเป็นหนังสือ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคแรก ดังนั้น สัญญาที่ ก. ตั้ง ข. ให้เป็นตัวแทน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 152 ข. จึงไม่มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อ

เมื่อ ข. ไม่มีอํานาจทําสัญญาให้เช่าซื้อ ดังนั้น การที่ ข. ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาให้เช่าซื้อบ้าน กับ ค. จึงเป็นการลงลายมือชื่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 572 วรรคสอง ประกอบมาตรา 798 วรรคแรก และมีผลทําให้สัญญาเช่าซื้อที่ ข. ทํากับ ค. เป็นโมฆะตามมาตรา 152 ที่มีหลักว่า การใดที่มิได้ทําให้ถูกต้อง ตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ

สรุป

การที่ ข. ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาที่ ข. ทํากับ ค. นั้น เป็นโมฆะ ไม่มีผลทางกฎหมาย

 

ข้อ 2. นางมะลิได้นําทองคําแท่งหนัก 50 บาท ไปฝากนางกุหลาบซึ่งเปิดร้านขายทองอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านบางกะปิ เป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคําแท่งให้ตน นางมะลิได้ตกลงกับนางกุหลาบว่า ถ้าขายทองคําแท่งได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นางกุหลาบเป็นเงินจํานวน 5,000 บาท ปรากฏว่าวันที่ 10 มีนาคม 2557 ราคาทองคําตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ 19,500 บาท นางกุหลาบเห็นว่าราคา ทองคําลดลงต่ํากว่าราคาก่อนหน้านี้ ถ้าซื้อเก็บไว้ทองคําแท่งอาจจะขึ้นราคาบาทละ 20,000 กว่าบาท ขึ้นไป ถ้าขายก็จะได้กําไร นางกุหลาบจึงมีความต้องการจะซื้อทองคําแท่งดังกล่าวไว้เอง จึงได้โทรศัพท์ ติดต่อขอซื้อทองคําแท่งจากนางมะลิ เมื่อนางมะลิได้รับโทรศัพท์และทราบคําบอกกล่าวขอซื้อแล้ว ก็ไม่ได้บอกปัดเสียในทันที

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าการขอซื้อทองคําแท่งของนางกุหลาบเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และนางกุหลาบมีสิทธิจะได้รับค่าบําเหน็จจํานวน 5,000 บาทหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 843 “ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคําสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคา ของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญา ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึ่งกําหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลา เมื่อตัวแทนค้าต่างให้คําบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการรับคําบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้ สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่ง แม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบําเหน็จก็ย่อมคิดได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 843 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญา ตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคําบอกกล่าว นั้นแล้ว และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบําเหน็จตามสัญญาอีกด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นางมะลิได้มอบให้นางกุหลาบเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคําแท่ง ของตนและตกลงจะจ่ายค่าบําเหน็จให้จํานวน 5,000 บาท ปรากฏว่าต่อมาราคาทองคําแท่งลดลงตามตลาดโลก ซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน นางกุหลาบต้องการซื้อทองคําแท่งดังกล่าวไว้เองเพื่อเก็งกําไร ในภายหน้านั้น ดังนี้ นางกุหลาบสามารถทําได้ เพราะในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ตามมาตรา 843 วรรคแรก

และเมื่อนางกุหลาบบอกกล่าวทางโทรศัพท์ให้นางมะลิทราบว่าตนจะซื้อทองคําแท่งดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่านางมะลิก็มิได้บอกปัดเสียในทันทีที่ได้รับคําบอกกล่าว กรณีนี้จึงถือว่านางมะลิเป็นอันได้สนองรับ คําบอกกล่าวนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายทองคําแท่งระหว่างนางกุหลาบกับนางมะลิจึงเกิดขึ้นตามมาตรา 843 วรรคสอง และนอกจากนี้นางกุหลาบก็ยังสามารถคิดเอาค่าบําเหน็จจํานวน 5,000 บาท จากนางมะลิ เนื่องจากการซื้อขาย ของตนได้ด้วย แม้นางกุหลาบจะเป็นผู้ซื้อทองคําแท่งเหล่านั้นไว้เองก็ตามตามมาตรา 843 วรรคท้าย

สรุป

สัญญาซื้อขายทองคําแท่งของนางกุหลาบได้เกิดขึ้นแล้ว และนางกุหลาบมีสิทธิจะได้รับ ค่าบําเหน็จจํานวน 5,000 บาท จากนางมะลิ

 

ข้อ 3. ลุงชิดต้องการซื้อที่ดินแปลงใหม่แต่ยังขาดเงินอีกสองล้านบาท จึงมอบให้หลานชายชื่อนายประเสริฐไปติดต่อขอกู้ธนาคารโดยจํานองที่ดินของตนประกันหนี้ และบอกว่าจะให้ค่าป่วยการร้อยละหนึ่ง เมื่อธนาคารมาดูหลักทรัพย์ที่ดินที่จะจํานอง เห็นว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในทําเลดีมีราคาทั้งลุงชิดก็มีรายได้ดี ผู้จัดการธนาคารเสนอให้ลุงชิดกู้ห้าล้านบาทเพื่อไม่ขัดศรัทธา ลุงชิดจดทะเบียนจํานองประกันเงินกู้ สามล้านบาท และได้จ่ายบําเหน็จให้ประเสริฐสองหมื่นบาท แต่ประเสริฐอ้างว่าลุงชิดต้องจ่ายค่า นายหน้าให้ตนสามหมื่นบาท เพราะสัญญาจํานองสามล้านไม่ใช่สองล้าน ข้ออ้างของประเสริฐฟังขึ้น หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

โดยหลัก สัญญานายหน้านั้น ถ้าได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าบําเหน็จและนายหน้าได้ชี้ช่อง หรือจัดการให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาทําสัญญากับตัวการจนสําเร็จแล้ว นายหน้าก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จ ตามที่ตกลงกันไว้ (มาตรา 845 วรรคแรก)

ตามอุทาหรณ์ การที่ลุงชิดได้ให้นายประเสริฐไปติดต่อขอกู้เงินกับธนาคารโดยจํานองที่ดินของตน เป็นประกันหนี้นั้น เมื่อธนาคารได้ตกลงรับจํานองแล้ว กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าการจํานองนั้นมีขึ้น เพราะนายประเสริฐได้ ชี้ช่องหรือจัดการจนได้มีการทําสัญญากัน นายประเสริฐจึงมีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าตามมาตรา 845 วรรคแรก

สําหรับค่าบําเหน็จนายหน้าที่นายประเสริฐจะได้รับคือร้อยละหนึ่งจากจํานวนสามล้านบาท ซึ่งเป็นราคาตามสัญญาจํานองที่เกิดจากการชี้ช่องหรือจัดการของนายประเสริฐนายหน้ามิใช่ร้อยละหนึ่งจากจํานวน สองล้านบาท ทั้งนี้เพราะสัญญาจํานองสามล้านบาทที่ลุงชิดทํากับธนาคารนั้น เป็นผลสําเร็จของการที่นายประเสริฐ เป็นนายหน้าชี้ช่องให้แก่ลุงชิด ดังนั้น ข้ออ้างของนายประเสริฐที่ว่าลุงชิดต้องจ่ายค่านายหน้าให้ตนสามหมื่นบาท จึงฟังขึ้น (เทียบฎีกาที่ 1515/2512)

สรุป ข้ออ้างของนายประเสริฐฟังขึ้น

 

Advertisement