การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. อยากออกเงินกู้แต่ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนหากินทางดอกเบี้ย ก. จึงมอบด้วยวาจาให้ ข. ลูกน้องคนสนิทไปออกเงินกู้ ข. ให้ ค. กู้ห้าหมื่นบาทตามสัญญา ข. ลงชื่อผู้ให้กู้ แต่ ค. ทราบว่า ข. ปลูกกระต๊อบอยู่ท้ายสวนบ้านของ ก. ไม่มีเงินมากมายที่จะให้ใครกู้ เจ้าของเงินที่แท้จริงคือ ก. ค. นําเงินห้าหมื่นบาทพร้อมดอกเบี้ยไปชําระให้กับ ก. โดยมีหลักฐาน ข. จะนําสัญญากู้มาบังคับ เอากับ ค. เพราะ ค. มิได้ชําระหนี้กับตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทน เพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้อง มีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้แต่เพียง ในสิ่งที่จําเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”

มาตรา 806 “ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่ รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. อยากออกเงินกู้แต่ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนหากินทางดอกเบี้ย ก. จึงมอบหมายด้วยวาจาให้ ข. ไปออกเงินกู้แทนตนนั้น ถือว่า ก. ได้มอบอํานาจให้ ข. เป็นตัวแทนรับมอบ อํานาจเฉพาะการตามมาตรา 800 และถือเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 ดังนั้น แม้กิจการที่ ข. ตัวแทนไปกระทําคือไปออกเงินกู้นั้น ตามกฎหมายบังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งการตั้งตัวแทน เพื่อกิจการดังกล่าวก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยก็ตาม แต่ในเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 นั้น ถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798 ดังนั้น การที่ ก. ตั้งให้ ข. เป็นตัวแทนไปออกเงินกู้แม้จะกระทําด้วยวาจา สัญญาตัวแทนก็มีผลสมบูรณ์

เมื่อ ข. ได้ให้ ค. กู้เงิน 50,000 บาท และลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ ถือว่า ข. ได้กระทําไปภายใน ขอบอํานาจของตัวแทน และเมื่อ ค. บุคคลภายนอกได้รู้แล้วว่า ก. เป็นตัวการและเจ้าของเงินที่แท้จริง ย่อมถือว่า ชื่อของตัวการนั้นได้เปิดเผยแล้ว ดังนั้น ก. จึงต้องรับเอาสัญญากู้ยืมเงินและมีความผูกพันกับ ค. บุคคลภายนอก

ตามสัญญาที่ ข. ตัวแทนได้กระทํา และมีผลให้ ข. ตัวแทนหลุดพ้นจากความผูกพันตามสัญญาดังกล่าวตามมาตรา 820 ดังนั้น เมื่อ ค. ได้นําเงินพร้อมดอกเบี้ยไปชําระให้ ก. แล้ว ข. จะนําสัญญากู้มาบังคับเอากับ ค. โดยอ้างว่า ค. ไม่ได้ชําระหนี้ให้แก่ตนไม่ได้

สรุป

ข. จะนําสัญญากู้มาบังคับเอากับ ค. อีกไม่ได้

ข้อ 2. นายแดงเป็นตัวแทนค้าต่างเปิดร้านขายรถยนต์มือสองอยู่แถวถนนรัชดา นายดําเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้าซึ่งใช้มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี มีปัญหาต้องซ่อมอยู่เสมอ นายดําต้องการจะขายเพื่อจะได้ ซื้อรถยนต์คันใหม่จึงได้ตกลงให้นายแดงเป็นตัวแทนขายรถยนต์ของตนในราคา 230,000 บาท ถ้าขายได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นายแดง 10,000 บาท และในขณะเดียวกันนายดําได้ตกลงให้นายแดง ซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าให้ตนอีกหนึ่งคันมีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ในราคาไม่เกิน 350,000 บาท ถ้าซื้อได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นายแดงจํานวน 10,000 บาทเช่นกัน นายแดงได้นํารถยนต์ของนายดําไปเสนอขายให้แก่นายเขียวในราคา 230,000 บาท นายเขียวพอใจ แต่ขอต่อรองราคาลง 5,000 บาท ถ้าไม่ตกลงก็ไม่ซื้อ นายแดงจึงตกลงขายให้ในราคา 225,000 บาท ซึ่งจํานวนเงินไม่ตรงกับที่นายดํากําหนดไว้ เมื่อขายรถยนต์คันเก่าได้แล้ว นายแดงจึงได้ไปหาซื้อ รถยนต์คันใหม่ให้นายดําจนกระทั่งไปเจอรถยนต์ของนายขาวตรงตามที่นายดําต้องการทุกประการ นายขาวกําหนดราคาสูงกว่าที่นายดํากําหนดไว้ 5,000 บาท ถ้าไม่ได้ราคาตามที่กําหนดไว้ก็จะไม่ขาย นายแดงจึงตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นในราคา 355,000 บาท

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าทั้งสองกรณีนี้ นายดําตัวการจะต้องยอมรับเงินจํานวนที่น้อยกว่า หรือต้องจ่ายเงินจํานวนที่สูงกว่าหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการ ซื้อเป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้นํารถยนต์ไปให้นายแดงซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างขาย โดยตกลง ให้นายแดงขายรถยนต์ของตนในราคา 230,000 บาท ถ้าขายได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นายแดง 10,000 บาท แต่นายแดง ได้นําไปขายให้แก่นายเขียวในราคา 225,000 บาทนั้น ถือว่านายแดงได้ทําการขายในราคาต่ําไปกว่าที่นายดํา กําหนดไว้ 5,000 บาท กรณีนี้นายดําตัวการจะไม่ยอมรับเงินจํานวน 225,000 บาทได้ เพราะถือว่านายแดงได้ทํา นอกเหนือคําสั่งของนายดําตัวการ

แต่อย่างไรก็ดี ถ้านายแดงตัวแทนค้าต่างยอมรับใช้เศษที่ขาดไปจํานวน 5,000 บาท และชําระราคาค่าขายรถยนต์ให้แก่นายดําจํานวน 230,000 บาทตามที่ตกลงกัน เช่นนี้ นายดําตัวการก็จะต้อง รับเอาจํานวนเงินที่ขายได้นั้น เพราะถือว่านายดําได้รับชําระเงินตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว (ตามมาตรา 839)

ส่วนการซื้อรถยนต์คันใหม่ซึ่งนายดําตัวการได้ตกลงให้ซื้อในราคาไม่เกิน 350,000 บาทนั้น เมื่อนายแดงตัวแทนค้าต่างได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่ในราคา 355,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่นายดํากําหนด 5,000 บาท กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน คือนายดําจะไม่ยอมรับเอาการซื้อขายนั้นและไม่ชําระส่วนที่เกินได้ เพราะถือว่านายแดงได้ทํานอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าหากว่านายแดงตัวแทนยอมรับใช้เศษที่เกินไป จํานวน 5,000 บาท นายดําตัวการก็ต้องรับเอาการซื้อขายนั้น และชําระราคาค่ารถยนต์จํานวน 350,000 บาท (ตามมาตรา 839)

สรุป

ทั้งสองกรณี นายดําตัวการจะไม่ยอมรับเงินจํานวนที่น้อยกว่าและไม่ยอมจ่ายเงินจํานวน ที่สูงกว่าที่ตกลงได้ เว้นแต่ ถ้านายแดงตัวเเทนค้าต่างยอมรับใช้เศษที่ขาดและเกินนั้นแล้ว นายดําก็ต้องรับเอาการขาย และการซื้อรถยนต์นั้น

 

ข้อ 3. ก. มอบ ข. ให้ขายที่ดินให้โดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จนายหน้า ข. นําเสนอขาย ค. ค. ตกลงซื้อ ข. นํา ก. กับ ค. ผู้ซื้อ มาพบกัน และเข้าทําสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังทําสัญญาการซื้อขายเลิกกัน ดังนี้ ข. ยังจะได้ค่าบําเหน็จนายหน้าหรือไม่ เพราะอะไร ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง ก. บอก ข. ให้ขายที่ดิน และตกลงว่าจะให้บําเหน็จนายหน้า ข. นําเสนอขาย ค. ค. ตกลงซื้อ แต่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องให้ที่ดินแปลงหน้าตัดถนนมาถึงที่ดินที่กําลังทําสัญญา จะซื้อจะขายกันเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์” ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข. จะได้ค่านายหน้า หรือไม่ และเมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้ เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้น ได้ทํากันสําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็น เงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และ นายหน้ารับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อม จะได้รับค่าบําเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่สัญญาที่ทํานั้น เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กฎหมายห้ามมิให้ มีการเรียกค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสําเร็จแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

กรณีที่ 1. การที่ ก. ได้ตกลงมอบให้ ข. ขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จนั้น เมื่อปรากฏว่า ข. ได้นําที่ดินเสนอขาย ค. ค. ตกลงซื้อ ก. และ ค. เข้าทําสัญญาซื้อขายกัน ดังนี้ถือว่า ข. ได้ทําหน้าที่ของตนใน ฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาภายหลังการซื้อขายจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม ข. ก็ยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าอยู่ ตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 517/2494

กรณีที่ 2. การที่ ก. มอบ ข. ให้ขายที่ดิน และตกลงว่าจะให้บําเหน็จนายหน้า เมื่อ ข. นําที่ดิน เสนอขายให้ ค. และ ค. ตกลงซื้อ แต่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องให้ที่ดินแปลงหน้าตัดถนนมาถึงที่ดินที่กําลัง ทําสัญญาจะซื้อจะขายกันเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์” ดังนี้ แม้ว่า ก. และ ค. จะได้เข้าทําสัญญาซื้อขายกันแล้ว ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน ข. จึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้า ข. จะได้รับค่านายหน้า ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นสําเร็จแล้ว คือที่ดินแปลงหน้าได้ตัดถนนมาถึงที่ดินแปลงที่ซื้อขายกันอันมีผลทําให้ สัญญาซื้อขายนั้นมีผลสมบูรณ์

สรุป

กรณีที่ 1. ข. ยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า

กรณีที่ 2. ข. ยังไม่ได้รับค่านายหน้า จะได้รับค่านายหน้าก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อน ที่กําหนดไว้ในสัญญาซื้อขายนั้นสําเร็จแล้ว

Advertisement