การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1แดงกู้เงินเขียว 5 ล้านบาท แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืม เขียวขอให้แดงพาผู้ค้ำประกันมาให้ แดงจึงไป หาม่วงให้มาค้ำประกัน โดยม่วงตกลงกับเขียวว่าหากแดงชําระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชําระหนี้แทน หลังจากนั้นได้ทําหลักฐานการค้ำประกันแต่ลงลายมือชื่อม่วงคนเดียวเท่านั้น ต่อมาอีก 2 เดือน แดงไปนําที่ดินของตนไปจํานองกับเขียวเพื่อเป็นหลักประกันเพิ่มอีก ในจํานวน 2 ล้านบาท แดงได้ชําระหนี้ดอกเบี้ยมาโดยตลอด เขียวสงสารแดงจึงปลดจํานองที่ดินของแตงเพื่อแดงจะได้ นําที่ดินไปทํากิจการอย่างอื่นได้ แต่เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ แดงนําเงินที่ได้ไปลงทุนเพิ่มในที่ดินแปลงนั้น จนทําให้ไม่มีเงินมาชําระหนี้ ให้เขียว 5 ล้านบาท เขียวจึงใช้สิทธิไปบังคับม่วงให้ชําระหนี้แทน ม่วงต่อสู้ว่า สัญญาค้ำประกัน ไม่สมบูรณ์ เพราะเขียวและแดงมิได้ลงลายมือชื่อด้วย และหากต้องชําระก็ขอหักออกจากเงิน 2 ล้านบาทที่เขียวปลดจํานองให้แดง

อยากทราบว่า ข้อต่อสู้ของม่วงทั้ง 2 ข้อ รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย พร้อมหลักกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ได้ แต่นั้น”

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทําสัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตน ต้องเสียหายเพราะการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงทําสัญญาค้ำประกันการชําระหนี้ของแดงกับเขียว โดยมีการ ลงลายมือชื่อม่วงเพียงคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้น กฎหมายกําหนดให้ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสําคัญ ส่วนเจ้าหนี้และลูกหนี้

หาจําต้องลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระและปรากฏว่าแดงชําระหนี้ไม่ได้ เขียวเจ้าหนี้ย่อมฟ้องเรียกให้ม่วงผู้ค้ําประกันชําระหนี้แทนแดงได้ ตามมาตรา 686 ข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่า สัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์เพราะเขียวและแดงมิได้ลงลายมือชื่อด้วยนั้น จึงรับฟังไม่ได้

และตามมาตรา 697 ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้ได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิ จํานอง จํานํา หรือบุริมสิทธิที่ได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้

ก่อนหรือขณะทําสัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้อง เสียหายเพราะการกระทําของเจ้าหนี้นั้น ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่เขียวปลดจํานองที่ดินของแดงนั้น เป็นการปลดจํานองที่เกิดมีขึ้นหลังจากมีการค้ําประกันแล้ว ย่อมไม่ทําให้ผู้ค้ำประกันเสียหาย อันจะทําให้ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในส่วนดังกล่าวตามมาตรา 697 แต่อย่างใด ข้อต่อสู้ของม่วงที่ว่า หากต้องชําระ ก็ขอหักออกจากเงิน 2 ล้านบาท ที่เขียวปลดจํานองให้แดง จึงรับฟังไม่ได้เช่นกัน

สรุป

ข้อต่อสู้ของม่วงทั้ง 2 ข้อ รับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2. เหลืองจะรับจํานองที่ดินซึ่งมี น.ส.3 ก. ของฟ้าเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของชมพูที่กู้เงินจากเหลืองไป 10 ล้านบาท อยากทราบว่า การจํานองนี้จะทําได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย พร้อมหลักกฎหมาย

ธงคําตอบ :

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้อง พิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 703 “อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจํานองได้ไม่ว่าประเภทใด ๆ”

มาตรา 705 “การจํานองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่น จะจํานองหาได้ไม่”

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้อง ชําระก็ให้ทําได้”

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ฟ้าได้นําที่ดินซึ่งมี น.ส.3 ก. ของตนไปจํานองประกันหนี้เงินกู้ของ ชมพูกับเหลืองนั้น การจํานองดังกล่าวถึงแม้จะเป็นที่ดินของฟ้า ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ การจํานองดังกล่าว ก็ย่อมกระทําได้ ตามมาตรา 702 มาตรา 703 และมาตรา 709

แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 714 ได้กําหนดเอาไว้ว่า การจํานองจะต้องทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยจึงจะสมบูรณ์ ดังนั้น บุคคลที่จะนําทรัพย์สินมาจํานองได้ จะต้องเป็น ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นด้วย ตามมาตรา 705 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของฟ้าที่จะนํามาจํานองกับเหลือง เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของชมพูนั้น เป็นที่ดินที่มีเพียง น.ส.3 ก. ซึ่งฟ้ามิได้มีกรรมสิทธิ์ที่จะสามารถนําไป จดทะเบียนตามมาตรา 714 ได้แต่อย่างใด ดังนั้น ฟ้าจะนําที่ดิน น.ส.3 ก. ของตนมาจํานองกับเหลืองมิได้

สรุป

เหลืองจะรับจํานองที่ดินซึ่งมี น.ส.3 ก. ของฟ้าไม่ได้ ตามหลักกฎหมายและเหตุผล ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. ดินนําสร้อยเพชรราคา 7 แสนบาท ส่งมอบให้น้ำเพื่อเป็นการจํานําในหนี้เงินกู้ 5 แสนบาทโดยมิได้ทําหลักฐานใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากนั้น 3 เดือน น้ำได้รับเชิญให้ไปงานคืนสู่เหย้าของโรงเรียน ที่น้ําเรียนหนังสือจบ น้ำอยากอวดเพื่อน ๆ ว่า บัดนี้ตนได้มีฐานะดีแล้ว จึงนําสร้อยเพชรดังกล่าว ใส่ไปในงานเลี้ยง ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุในห้องครัวของงานเลี้ยง ทําให้เกิดไฟไหม้ แขกที่มาใน งานเลี้ยงวิ่งหนีกันอลหม่าน ทําให้สร้อยเพชรที่น้ำใส่มาตกหายในงานและหาไม่พบ ดินทราบข่าวจึงขอให้น้ำชดใช้ราคาสร้อยเพชร น้ําต่อสู้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเป็นอุบัติเหตุ ตนไม่ต้องรับผิด ให้ตกเป็นพับแก่คู่กรณี

อยากทราบว่า ข้ออ้างของน้ำรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 760 “ถ้าผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอก ใช้สอยหรือเก็บรักษาโดยผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานําจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจํานํานั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างของน้ำรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมาย ในเรื่องสัญญาจํานํานั้น หากผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เองแล้วทรัพย์สินนั้นได้สูญหายไป ผู้รับจํานําจะต้องรับผิด แม้ความสูญหาย จะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายอยู่นั่นเอง (มาตรา 760)

ตามข้อเท็จจริง การที่ดินนําสร้อยเพชรส่งมอบให้น้ำเพื่อเป็นการจํานําในหนี้เงินกู้ 5 แสนบาท นั้น สัญญาจํานําย่อมเกิดขึ้นแล้วตามมาตรา 747 เพราะการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ย่อมถือเป็นความสมบูรณ์ ของสัญญาจํานําโดยมิต้องมีหลักฐานแต่อย่างใด

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า น้ำได้นําสร้อยเพชรดังกล่าวใส่ไปในงานเลี้ยง และปรากฏว่าได้เกิด อุบัติเหตุในห้องครัวของงานเลี้ยงทําให้เกิดไฟไหม้ จนทําให้สร้อยเพชรที่น้ำใส่มาตกหายในงานและหาไม่พบ ดังนี้ ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินที่จํานําออกใช้เอง และทรัพย์สินนั้นได้สูญหายไป น้ำจึงต้องรับผิด ในความสูญหายที่เกิดขึ้น แม้ว่าเหตุไฟไหม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ตามมาตรา 760 ดังนั้น ข้ออ้างของน้ำที่ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอุบัติเหตุ ตนไม่ต้องรับผิด ให้ตกเป็นพับแก่คู่กรณี จึงรับฟังไม่ได้

สรุป

ข้ออ้างของน้ำรับฟังไม่ได้ และน้ำต้องชดใช้ราคาสร้อยเพชรให้แก่ดิน

 

Advertisement