การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายพุธตกลงทําสัญญาจะซื้อโรงงานทํากระดาษจากนายจันทร์ 10 ล้านบาท ตกลงโอนสามเดือนหลังจากวันทําสัญญา มีนายศุกร์ลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวในสัญญาค้ำประกัน และมีนายอังคารนํา โฉนดที่ดินแปลงหนึ่งราคา 3 ล้านบาท มาจํานองเป็นประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่นายพุธ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ต่อมาเมื่อถึงกําหนดนัดโอนนายพุธไม่ปฏิบัติตามสัญญา นายจันทร์จึงฟ้องเรียก ค่าเสียหายจากนายพุธและนายศุกร์ แต่นายศุกร์อ้างว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาค้ําประกัน ใช้บังคับไม่ได้ และนายจันทร์ต้องบังคับเอาจากที่ดินที่จํานองเป็นประกันก่อน ดังนี้ ข้ออ้างของนายศุกร์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ําประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายศุกร์ทําสัญญาค้ำประกันการชําระหนี้ระหว่างนายพุธกับนายจันทร์ โดยนายศุกร์ได้ลงลายมือชื่อเพียงฝ่ายเดียวในสัญญานั้น ย่อมถือได้ว่าสัญญาค้ำประกันมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันแล้ว สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง ข้ออ้างของนายศุกร์ที่ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาค้ำประกันใช้บังคับไม่ได้จึงฟังไม่ขึ้น

และการที่นายศุกร์อ้างว่านายจันทร์ต้องบังคับเอาจากที่ดินที่จํานองเป็นประกันก่อนนั้น ก็ฟัง ไม่ขึ้นเช่นกัน เพราะการที่ผู้ค้ำประกันจะใช้สิทธิตามมาตรา 690 ได้นั้น จะต้องปรากฏว่า นายจันทร์เจ้าหนี้ มีทรัพย์ของนายพุธลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน เมื่อนายศุกร์ผู้ค้ำประกันร้องขอ นายจันทร์จึงจะบังคับชําระหนี้ เอาจากทรัพย์ที่ประกันก่อน แต่เมื่อปรากฏว่าทรัพย์ที่จํานองเป็นที่ดินของนายอังคารซึ่งมิใช่ลูกหนี้ จึงไม่อยู่ในบังคับ ตามมาตรา 690 อันจะทําให้นายศุกร์มีสิทธิที่จะอ้างกับนายจันทร์ดังกล่าว

สรุป

ข้ออ้างของนายศุกร์ทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายแสนแสบขายที่ดิน น.ส.3 ให้นางแสนดีโดยมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนโอนสิทธิกันตามกฎหมาย นางแสนดีเข้าทําประโยชน์ในที่ดินนั้นตั้งแต่วันที่ซื้อที่ดิน ต่อมานายแสนแสบทํา สัญญากู้เงินธนาคารแสนแพง 500,000 บาท และนําที่ดิน น.ส.3 ที่นายแสนแสบขายให้นางแสนดี ไปจดทะเบียนจํานองไว้กับธนาคารแสนแพง ต่อมาหนี้ถึงกําหนดชําระนายแสนแสบไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนี้ ธนาคารแสนแพงจะบังคับจํานองจากที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 705 “การจํานองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่น จะจํานองหาได้ไม่”

มาตรา 1377 วรรคแรก “ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือทรัพย์สิน ต่อไปไซร้การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง”

มาตรา 1378 “การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้น ย่อมทําได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง”

วินิจฉัย

ในเรื่องการจํานองนั้นมาตรา 705 ได้กําหนดไว้ว่า การที่ผู้จํานองจะนําทรัพย์สินไปจดทะเบียน จํานองเพื่อเป็นหลักประกันการชําระหนี้นั้น บุคคลที่จะสามารถนําทรัพย์สินไปจดทะเบียนจํานองได้ จะต้องเป็น เจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จํานองนั้นด้วย บุคคลใดถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินในขณะที่จํานองจะจํานองทรัพย์สินนั้น หาได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแสนแสบขายที่ดิน น.ส.3 ให้นางแสนดี แม้จะมิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนโอนสิทธิกันตามกฎหมาย แต่ก็ย่อมถือว่านายแสนแสบได้สละเจตนาครอบครองในที่ดินแปลงนี้แล้ว ตามมาตรา 1377 วรรคแรก และเมื่อนางแสนดีได้เข้าทําประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว นางแสนดีจึงได้สิทธิครอบครอง ในที่ดินแปลงนี้ตามมาตรา 1378 ดังนั้น นายแสนแสบจึงหาใช่เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไปไม่

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายแสนแสบได้นําที่ดิน น.ส.3 ไปจดจํานองไว้กับธนาคารแสนแพง จึงถือเป็นกรณีการจํานองโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ต้องห้ามตามมาตรา 705 ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนด ชําระและนายแสนแสบไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารแสนแพงจึงไม่อาจบังคับจํานองจากที่ดินดังกล่าวได้

สรุป

ธนาคารแสนแพงจะบังคับจํานองจากที่ดินดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. ก. ได้รับจํานํารถยนต์ไว้ ต่อมา ก. ผู้รับจํานําเอารถไปขับเองหรือให้เพื่อนนําไปขับ โดย ข. ผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วย ปรากฏว่ารถควำเสียหายเป็นเพราะฝนตกถนนลื่น และมีเด็กวิ่งตัดหน้ากระชั้นชิด รถเกิดพลิกคว่ำเพราะเหตุสุดวิสัย ก. จะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก. จึงไม่ต้องรับผิดในความ เสียหายนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง ก. เป็นเจ้าของร้านอาหารได้รับจํานําตู้เย็นไว้จาก ข. ต่อมา ก. ได้นําตู้เย็นไปให้ร้าน ข้างเคียงเช่า โดย ข. ผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วย ต่อมาเกิดไฟไหม้มาจากที่อื่นและได้ไหม้ตึกแถวนั้น ไปทั้งแถบ รวมถึงร้านของ ก. ด้วย ดังนี้ ถ้า ก. นําสืบได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยจริง ๆ ก. จะต้อง รับผิดในความเสียหายของตู้เย็นที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 760 “ถ้าผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จํานมิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานําจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจํานํานั้นสูญหาย หรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือ บุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีแรก การที่ ก. ผู้รับจํานําเอารถที่รับจํานําไปขับเองหรือให้เพื่อนนําไปขับ โดย ข. ผู้จํานํา มิได้ยินยอมด้วยนั้น เมื่อปรากฏว่ารถคว่ำเสียหาย ก. ก็ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 760 ตอนแรก แม้ว่าความเสียหายดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากฝนตกถนนลื่น และมีเด็กวิ่งตัดหน้า กระชั้นชิดจนรถพลิกคว่ำก็ตาม

ส่วนกรณีที่สอง การที่ ก. ได้รับจํานําตู้เย็นไว้จาก ข. และ ก. ได้นําตู้เย็นไปให้ร้านข้างเคียงเช่า โดยที่ ข. ผู้รับจํานํามิได้ยินยอมด้วยนั้น เมื่อปรากฏว่าต่อมาได้เกิดไฟไหม้มาจากที่อื่นและได้ไหม้ตึกแถวนั้นไปทั้งแถบ รวมถึงร้านค้าของ ก. ด้วย จึงถือเป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่ทรัพย์ที่รับจํานําด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งโดย หลักแล้ว ก. จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์ที่รับจํานําตามมาตรา 760 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม หาก ก. พิสูจน์หรือนําสืบได้ว่าถึงอย่างไรแม้จะเก็บตู้เย็นไว้ที่บ้าน ก. ตู้เย็นก็ไหม้เสียหายอยู่ดี ถ้านําสืบได้เช่นนี้ ก. ย่อมอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นได้ตามมาตรา 760 ตอนท้าย

สรุป

กรณีแรก ก. จะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก. จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ เกิดขึ้นนั้นไม่ได้

กรณีที่สอง ถ้า ก. พิสูจน์หรือนําสืบได้ว่า การที่ทรัพย์สินที่รับจํานําเกิดความเสียหาย เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยและถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะเสียหายอยู่ดี ก. ก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายนั้น

Advertisement