การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแดงกู้เงินนายเขียว 2 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง ต่อมาได้มีนายขาวตกลงกับนายเขียวเพื่อเป็นผู้ค้ำประกัน แต่นายเขียวกําหนดวงเงินในการค้ำประกันเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมกับทํา หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายขาวคนเดียว เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายแดงชําระหนี้ไม่ได้ นายเขียวจึงบังคับให้นายขาวรับผิดตามสัญญาค้ําประกันที่ทําไว้ นายขาวยอมชําระหนี้ตามสัญญา ล้านบาทเท่านั้น นายเขียวจึงมาปรึกษาท่านว่า จะบังคับให้นายขาวผู้ค้ำประกันรับผิดทั้ง 2 ล้านบาท ได้หรือไม่

หากไม่ได้นายเขียวจะต้องไปบังคับจากใครได้บ้าง จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคแรก “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

มาตรา 683 “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจํากัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย”

มาตรา 685 “ถ้าเมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชําระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิดต่อเจ้าหนี้ ในส่วนที่เหลือนั้น”

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ได้แต่นั้น”

วินิจฉัย

ในกรณีที่การกู้เงินและการค้ำประกันนั้นได้กระทําถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานใน การฟ้องร้องบังคับคดี หากลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการบังคับการชําระหนีเอาจากลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 680 และมาตรา 686

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวได้ตกลงเป็นผู้ค้ําประกันในหนี้ที่นายแดงกู้เงินนายเขียว โดยมีการทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายขาวคนเดียวนั้น สัญญาค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับ กันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อผู้ค้ําประกันเพียงฝ่ายเดียวก็ สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนด นายแดงลูกหนี้ชําระไม่ได้ นายเขียวย่อม สามารถเรียกให้นายขาวผู้ค้ำประกันชําระหนี้ได้ตามมาตรา 686

แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนี้ที่นายแดงกู้จากนายเขียวนั้นจะมีจํานวน 2 ล้านบาท แต่นายขาวใต้ ตกลงค้ำประกันโดยมีการจํากัดความรับผิดไว้เพียง 1 ล้านบาท ตามมาตรา 680 และมาตรา 683 ดังนั้นนายขาว จึงต้องรับผิดต่อนายเขียวเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อนายขาวได้ยอมชําระหนี้ตามสัญญา 1 ล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลือนายเขียวจะบังคับเอาจากนายขาวอีกไม่ได้ จะต้องไปบังคับเอาจากนายแดงลูกหนี้ เพราะตามมาตรา 685 ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อมีการบังคับตามสัญญาค้ำประกันแล้ว หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในส่วน ที่เหลือนั้น

สรุป

นายเขียวจะบังคับให้นายขาวผู้ค้ำประกันรับผิดทั้ง 2 ล้านบาทไม่ได้ ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านบาท นายเขียวจะต้องไปบังคับเอาจากนายแดงลูกหนี้

 

ข้อ 2. นายจันทร์ทะเลาะกับนายเตี้ยเพราะเรื่องการเมือง นายจันทร์จึงโยนระเบิดใส่บ้านนายเตี้ยเสียหายไป 200,000 บาท นายอังคารพ่อของนายจันทร์ได้นําเอาที่ดินของตนราคา 1,000,000 บาทมาจํานอง เพื่อประกันหนี้ ซึ่งที่ดินผืนนี้นายอังคาร (ผู้เป็นพ่อ) ได้ทําสัญญากับนายจันทร์ (ลูกชาย) โดยให้ นายจันทร์เช่าที่อยู่ในราคา 100 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 20 ปีอยู่ก่อนแล้ว การจํานองดังกล่าวนี้ได้ กําหนดเวลาชําระหนี้ในวันที่ 1 เมษายนศกนี้ ต่อมาเวลาได้ล่วงมาถึงวันที่ 1 มิถุนายนปีเดียวกัน จึงมี ปัญหาเกิดขึ้นคือ

1 มีคนมาบอกว่าการจํานองของนายอังคารนั้นทําไม่ได้

2 นายเตี้ยต้องการจะ บอกล้างการเช่าของนายจันทร์เพราะค่าเช่าของนายจันทร์ต่ำมาก และสัญญาเช่าที่กล่าวจะทําให้ การขายทอดตลาดไม่ได้ราคาดี จึงมาขอให้นักศึกษาได้ให้คําปรึกษากับนายเตี้ยตามปัญหาดังกล่าว

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 705 “การจํานองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่น จะจํานองหาได้ไม่”

มาตรา 706 “บุคคลมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นใด จะจํานองทรัพย์สิน นั้นได้แต่ภายในบังคับเงื่อนไขเช่นนั้น”

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การที่บุคคลใดจะนําทรัพย์สินไปจํานองเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้นั้น กฎหมาย มิได้กําหนดว่าหนี้ที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมสัญญาเท่านั้น หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะนิติเหตุระหว่างลูกหนี้ กับเจ้าหนี้ ก็เป็นหนี้ที่สามารถจะนําทรัพย์สินไปจํานองเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม บุคคล ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเช่นใด เช่น เป็นเจ้าของที่ดินที่มีสัญญาเช่า หรือเป็นที่ดินที่ผู้อื่นมี กรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น บุคคลนั้นจะจํานองทรัพย์สินนั้นได้ก็แต่ภายใต้บังคับเงื่อนไขเช่นนั้นด้วย (มาตรา 706)

ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

1 แม้หนี้ระหว่างนายจันทร์ลูกหนี้กับนายเตี้ยเจ้าหนี้ จะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพราะนิติเหตุ (มูลหนี้เกิดจากละเมิด) ก็เป็นหนี้ที่นายอังคารซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน สามารถเอาที่ดินไปจํานองเพื่อเป็นประกันการ ชําระหนี้นั้นได้ โดยการทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 702 และมาตรา 714 ประกอบมาตรา 705

2 เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่นายอังคารนําไปจํานองนั้น นายอังคารได้ทําสัญญาเช่ากับนายจันทร์ไว้ และสัญญาเช่านั้นได้ทําไว้ก่อนการจํานอง ดังนั้นนายเตี้ยเจ้าหนี้ผู้รับจํานองจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเช่านั้นได้ ตามมาตรา 706

สรุป

1 การจํานองของนายอังคารนั้นสามารถทําได้

2 นายเตี้ยจะบอกเลิกสัญญาเช่าของนายจันทร์ไม่ได้

 

ข้อ 3. นายปูกู้เงินนายปลา 500,000 บาท โดยนําสร้อยคอทองคํา และแหวนเพชรไปจํานําเป็นประกันหนี้เงินกู้ แต่มิได้มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด หลังจากจํานําเสร็จ นายปลาได้มอบสร้อย และแหวนดังกล่าวให้นางกุ้งเป็นผู้เก็บรักษา ต่อมานางกุ้งไปงานแต่งงานที่จังหวัดเชียงใหม่แต่กลัว ของที่ฝากไว้หายจึงนําสร้อยและแหวนใส่ติดตัวไปด้วย ปรากฏว่าไฟไหม้โรงแรมที่นางกุ้งพัก ทําให้ ไม่สามารถนําสร้อยและแหวนออกมาได้ ของทั้งสองสิ่งจึงไหม้ไปทั้งหมด ดังนั้น การจํานําในกรณีนี้ สมบูรณ์หรือไม่ และนายปลาต้องรับผิดในกรณีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมทั้งยก หลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 749 “คู่สัญญาจํานําจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจํานําไว้ก็ได้”

มาตรา 760 “ถ้าผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานําจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจํานํานั้นสูญหาย หรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือ บุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

การที่นายปูได้นําสร้อยคอทองคํา และแหวนเพชรไปจํานําเป็นประกันหนี้เงินกู้กับนายปลานั้น แม้การจํานําดังกล่าวจะมิได้มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือว่ามีการจํานําก็ตาม สัญญาจํานําระหว่างนายปกับนายปลา ก็มีผลสมบูรณ์ เพราะมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับจํานําเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้แล้วตามมาตรา 47

ในสัญญาจํานํานั้น ผู้รับจํานําไม่จําเป็นต้องเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์ไว้เองโดยอาจตกลงกันให้ บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจํานําไว้ก็ได้ตามมาตรา 749 แต่อย่างไรก็ตาม กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ นายปลาได้มอบสร้อยและแหวนดังกล่าวให้นางกุ้งเป็นผู้เก็บรักษาไว้นั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันระหว่างนายป และนายปลา หรือได้รับความยินยอมจากนายปูแต่อย่างใด ดังนั้นการที่นางกุ้งนําสร้อยและแหวนใส่ติดตัวไป จังหวัดเชียงใหม่และทรัพย์สินดังกล่าวโดนไฟไหม้เสียหายทั้งหมด นายปลาจึงต้องรับผิดจากการที่สร้อยคอทองคํา และแหวนเพชรบุบสลายไปแม้เหตุที่ไฟไหม้โรงแรมนั้นจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตามตามมาตรา 760

สรุป

การจํานําระหว่างนายปูกับนายปลามีผลสมบูรณ์ และนายปลาจะต้องรับผิดจากการที่ ทรัพย์สินที่จํานําได้บุบสลายไป

Advertisement