การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. สวยกู้เงินหนุ่ม 5 ล้านบาท เพื่อไปลงทุนโดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง หนุ่มเกรงว่าสวยจะชําระหนี้ไม่ได้จึงขอให้หาผู้ค้ำประกันมาให้ด้วย สวยไปบอกแก่ซึ่งเป็นเพื่อนของสวยให้มาเป็นผู้ค้ำประกัน แก่ตกลง ยอมเป็นผู้ค้ำประกัน แต่ในวันที่ตกลงทําการค้ำประกันระหว่างหนุ่มและแก่นั้น แก่ขอเป็นผู้ค้ำประกัน เพียง 3 ล้านบาท โดยกําหนดไว้ในหนังสือค้ำประกันและมีการลงลายมือชื่อเฉพาะแก่เท่านั้น เมื่อหนี้ ถึงกําหนดชําระ สวยชําระไม่ได้ หนุ่มจึงทําหนังสือบอกกล่าวไปยังแก่ให้ชําระหนี้ตามกําหนดเวลา ตามกฎหมาย แก่อ้างว่าสัญญาค้ำประกันนี้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีแต่แก่เท่านั้นที่ลงลายมือ ส่วน หนุ่มมิได้ลงลายมือชื่อ จึงเป็นสัญญาไม่สมบูรณ์ และหากต้องรับผิดจริง ก็ควรจะต้องรับผิดเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น อยากทราบว่า ข้ออ้างทั้ง 2 ข้อของแก่รับฟังได้หรือไม่ ยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคหนึ่ง “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

มาตรา 683 “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจํากัดนั้น ย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย”

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ได้แต่นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้ออ้างทั้ง 2 ข้อของแก่รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่แก่ตกลงยอมเป็น ผู้ค้ำประกันในหนี้ที่สวยกู้เงินหนุ่ม โดยมีการทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเฉพาะแก่คนเดียวนั้น สัญญา ค้ำประกันย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง เพราะสัญญาค้ำประกันนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อ ผู้ค้ำประกันเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้แล้ว ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนด สวยลูกหนี้ ชําระหนี้ไม่ได้ หนุ่มย่อมสามารถเรียกให้แก่ชําระหนี้ได้ตามมาตรา 686 ข้ออ้างของแก่ที่ว่า สัญญาค้ำประกันหนี้ เป็นสัญญาที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีแต่แก่เท่านั้นที่ลงลายมือชื่อ ส่วนหนุ่มมิได้ลงลายมือชื่อนั้น จึงรับฟังไม่ได้

แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนี้ที่สวยกู้จากหนุ่มนั้นจะมีจํานวน 5 ล้านบาท แต่เมื่อแก่ได้ตกลงค้ำประกัน โดยมีการจํากัดความรับผิดไว้เพียง 3 ล้านบาทตามมาตรา 680 และมาตรา 683 ดังนั้น แก่จึงต้องรับผิดต่อหนุ่มเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น ข้ออ้างของแก่ที่ว่า หากต้องรับผิดจริง ก็ควรจะต้องรับผิดเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น จึงรับฟังได้

สรุป

ข้ออ้างของแก่ที่ว่าสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์รับฟังไม่ได้ ส่วนข้ออ้างของแก่ที่ว่าแก่ จะต้องรับผิดเพียง 3 ล้านบาทนั้นรับฟังได้

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงหลักการบังคับจํานองตามมาตรา 729/1 มาโดยสังเขป

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729/1 (ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ และมีผล ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558) ได้บัญญัติไว้ว่า “เวลาใด ๆ หลังจากที่หนี้ถึงกําหนดชําระ ถ้าไม่มีการจํานองรายอื่นหรือบุริมสิทธิ์อื่นอันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ ผู้จํานองมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือ ไปยังผู้รับจํานองเพื่อให้ผู้รับจํานองดําเนินการให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น ทั้งนี้ให้ถือว่าหนังสือแจ้งของผู้จํานองเป็นหนังสือยินยอมให้ขายทอดตลาด

ในกรณีที่ผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลาที่ กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ผู้จํานองพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว

เมื่อผู้รับจํานองขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองได้เงินสุทธิจํานวนเท่าใด ผู้รับจํานองต้องจัดสรร ชําระหนี้และอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นไป ถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 733 และในกรณีที่ผู้จํานองเป็นบุคคล ซึ่งจํานองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ผู้จํานองย่อมรับผิดเพียงเท่าที่มาตรา 727/1 กําหนดไว้”

หลักการบังคับจํานองตามกฎหมายใหม่มาตรา 729/1 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้สิทธิแก่ ผู้จํานองมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับจํานองเพื่อให้ผู้รับจํานองเอาทรัพย์สินของตนเองที่จํานองไว้นั้นออกขายทอดตลาด ได้เลยโดยไม่ต้องฟ้องศาล หากทรัพย์สินที่จํานองนั้นไม่มีการจํานองรายอื่น (ไม่มีการจํานองซ้อน) หรือบุริมสิทธิอื่น อันได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกันนี้ และผู้รับจํานองต้องดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานอง ภายในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น

ถ้าผู้รับจํานองไม่ได้ดําเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จํานองภายในระยะเวลา 1 ปีดังกล่าว ผู้จํานองย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระตลอดจนค่าภาระติดพัน อันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่พ้นกําหนดเวลาดังกล่าว

ตัวอย่าง นาย ก. ได้นําที่ดินซึ่งมีราคา 2 ล้านบาท จํานองไว้กับนาย ข. เป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยไม่มีการนําที่ดินแปลงดังกล่าวไปจํานองกับเจ้าหนี้รายอื่นอีก ดังนี้หากนาย ก. คิดว่าตนไม่มีเงินจะไถ่ที่ดินแปลงนี้ คืนจากนาย ข. แน่นอน แต่ต้องการจะจํากัดไม่ให้ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้น นาย ก. ย่อมสามารถใช้ สิทธิตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 729/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้ได้ โดยการมีหนังสือแจ้งไปยังนาย ข. ผู้รับ จํานองให้นําที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เลย

ถ้านาย ข. ผู้นับจํานองไม่ดําเนินการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวภายในเวลา 1 ปี นับแต่ วันที่ได้รับหนังสือแจ้งนั้น นาย ข. จะเรียกร้องให้นาย ก. ผู้จํานองรับผิดในดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ภายหลังวันที่พ้นกําหนด 1 ปีนั้นไม่ได้

ส่วนในวรรคสามของมาตรา 729/1 นั้น ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อผู้รับจํานองขายทอดตลาดทรัพย์สิน ที่จํานองได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ผู้รับจํานองจะต้องนําเงินนั้นมาจัดสรรชําระหนี้และอุปกณ์ให้เสร็จสิ้นไป และ ถ้ายังมีเงินเหลืออีกก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานอง หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น แต่ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนที่

ค้างชําระให้เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 733 กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาด เว้นแต่ลูกหนี้ จะได้ตกลงว่าจะรับผิดชอบในส่วนที่ขาดนั้น แต่ถ้าในกรณีที่ผู้จํานองเป็นบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ แต่ได้เอา ทรัพย์สินมาจํานองเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ดังนี้ผู้จํานองก็ไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเลย (ตามมาตรา 727/1)

 

ข้อ 3. นางสาวชื่นกู้เงินนางชดช้อย 100,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง นางสาวชื่นนําแหวนเพชรหนึ่งวงราคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นางชดช้อยเป็นประกันการชําระหนี้ วันที่ 10 มกราคม 2559 นางชดช้อยนําแหวนวงดังกล่าวออกมาใส่เล่นที่บ้าน และทําแหวนหล่น ทําให้เพชรหลุดหายไป หนึ่งเม็ด แต่นางชดซ้อยไม่ได้แจ้งให้นางสาวชื่นทราบ ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2559 หนี้ถึงกําหนดชําระ นางสาวชื่นนําเงินมาชําระหนี้จนครบ และรับมอบแหวนกลับไปโดยไม่ได้ตรวจดู กลับถึงบ้านในวันนั้น จึงเห็นว่าเพชรหายไป นางสาวชื่นจึงมาปรึกษาท่านว่าในกรณีนี้นางสาวชื่นจะเรียกให้นางชดช้อยรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมแหวนได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 760 “ถ้าผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอก ใช้สอยหรือเก็บรักษาโดยผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานําจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจํานํานั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

มาตรา 763 “ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีดังจะกล่าวต่อไปนี้ เมื่อพ้นหกเดือนนับแต่วันส่งคืนหรือ ขายทอดตลาดทรัพย์สินจํานํา คือ

(1) ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันผู้รับจํานําก่อให้เกิดแก่ทรัพย์สินจํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นางสาวชื่นจะเรียกให้นางชดช้อยรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมแหวนได้หรือไม่ อย่างไร เห็นว่า ตามกฎหมายในเรื่องสัญญาจํานํานั้น หากผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เองแล้วทรัพย์สินนั้น ได้สูญหายหรือบุบสลายไป ผู้รับจํานําจะต้องรับผิด แม้ความสูญหายหรือบุบสลายไปนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ตาม เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายอยู่นั่นเอง (มาตรา 760)

ตามข้อเท็จจริง การที่นางสาวชื่นนําแหวนเพชรหนึ่งวงมาส่งมอบให้นางชดช้อยเพื่อเป็นประกัน การชําระหนี้เงินกู้นั้น สัญญาจํานําย่อมเกิดขึ้นแล้วตามมาตรา 747 เพราะการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ย่อมถือเป็น ความสมบูรณ์ของสัญญาจํานําโดยมิต้องมีหลักฐานแต่อย่างใด

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางชดช้อยนําแหวนดังกล่าวออกมาใส่เล่นที่บ้าน และทําแหวนหล่น ทําให้เพชรหลุดหายไปหนึ่งเม็ด ดังนี้ ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินที่จํานําออกใช้เอง และทรัพย์สินนั้น ได้บุบสลายไป นางชดช้อยจึงต้องรับผิดในความบุบสลายของแหวนวงที่จํานําตามมาตรา 760 และนางสาวชื่นมีสิทธิ เรียกร้องให้นางชดช้อยรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมแหวนได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่นางชุดช้อยส่งคืนแหวนใน วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ตามมาตรา 763 (1)

สรุป

นางสาวชื่นจะเรียกให้นางชดช้อยรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมแหวนได้ภายใน 6 เดือน นับแต่ วันที่นางชดช้อยส่งคืนแหวน

Advertisement