การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแสนหลอกนายพันว่าแหวนที่นายแสนนํามาขายเป็นแหวนเพชรแท้ นายพันหลงเชื่อเพราะเห็นว่านายแสนเป็นเจ้าของร้านเพชรจึงตกลงซื้อแหวนวงนี้ในราคา 300,000 บาท แต่ขอชําระราคาใน อีก 15 วัน นายแสนตกลงแต่ขอให้นายพันหาคนมาค้ำประกัน นายพันนําแหวนไปให้นายหมื่นดู และขอให้ช่วยเป็นผู้ค้ำประกันให้ นายหมื่นเห็นแหวนทราบทันทีว่านายแสนหลอกขายเพชรปลอม ให้นายพันแต่ยอมลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวในสัญญาค้ำประกันมอบให้นายแสนเก็บไว้ ปรากฏว่าเมื่อ ครบกําหนด 15 วัน นายพันไม่ยอมชําระราคาอ้างว่าแหวนเพชรเป็นของปลอม ดังนี้ นายแสนจะเรียกให้นายหมื่นรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทําด้วยความสําคัญผิด หรือเพราะเป็น ผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสําคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้น ในขณะที่เข้าทําสัญญาผูกพันตน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแสนใช้กลฉ้อฉลหลอกขายแหวนให้แก่นายพัน และต่อมานายพันได้ บอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆยะเนื่องจากกลฉ้อฉลดังกล่าวแล้ว ทําให้หนี้ที่เกิดจากสัญญาซื้อขายแหวนเป็นโมฆะ เป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 681 วรรคแรก และหนี้ที่เกิดขึ้นจึงไม่มีผลผูกพันนายพันซึ่งเป็นลูกหนี้

และหนี้อันเกิดจากสัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ แต่อาจมีประกันที่สมบูรณ์ได้และผู้ค้ำประกันจะต้อง รับผิดตามมาตรา 681 วรรคสามนั้น จะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากลูกหนี้ได้ทําเพราะความสําคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ ความสามารถ และผู้ค้ำประกันได้รู้เหตุสําคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทําสัญญาผูกพันตนด้วย แต่เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้อันเกิดจากสัญญาซึ่งไม่ผูกพันนายพันลูกหนี้ดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉล จึงไม่เข้า ข้อยกเว้นที่จะทําให้นายหมื่นผู้ค้ำประกันต้องรับผิด แม้ว่าสัญญาค้ำประกันนั้นจะมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ นายหมื่นเป็นผู้ค้ำประกันตามมาตรา 680 วรรคสอง และนายหมื่นจะได้รู้เหตุกลฉ้อฉลในขณะเข้าทําสัญญาค้ำประกันก็ตาม ดังนั้น เมื่อนายพันไม่ยอมชําระราคาแหวน นายแสนจะเรียกให้นายหมื่นรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ได้

สรุป

นายแสนจะเรียกให้นายหมื่นรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันไม่ได้

 

ข้อ 2. นายกิ่งเป็นสามีของนางลิง ก่อนแต่งงานนางลิงเป็นผู้ใหญ่บ้านเจ้าของที่ดินติดแม่น้ำที่ลูกบ้านทั้งหลายทราบดี ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินมีโฉนด ต่อมานางลิงได้เก็บโฉนดที่ดินพร้อมใบมอบอํานาจ ที่เซ็นชื่อตนไว้ลอย ๆ ในตู้เซฟ จากนั้นนายกิ่งสามีได้ไปติดพันกับนางตริ่งสาวสวยญาตินางลิง เนื่องจากนายกิ่งได้ทุ่มเทเงินมากมายไปกับนางตริ่ง นายกิ่งจึงไปกู้นายจิงชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน ดังกล่าวเป็นเงิน 50,000 บาท โดยไม่ทําเป็นหนังสือและได้มีโฉนดที่ดินของนางลิงพร้อมด้วย ใบมอบอํานาจของนางลิงไปจํานองประกันหนี้ไว้ ดังนี้ การจํานองมีผลประการใด การจํานองนี้นางลิง ยกเป็นข้อต่อสู้ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 5 “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชําระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทําโดยสุจริต”

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 705 “การจํานองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่น จะจํานองหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วในการเอาทรัพย์สินไปจํานองเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้นั้น บุคคลที่จะเอาทรัพย์สินจํานองได้จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เจ้าของไม่มีสิทธิที่จะจํานอง (มาตรา 702 ประกอบมาตรา 705)

ตามอุทาหรณ์ เมื่อที่ดินเป็นของนางลิง นายกิ่งย่อมไม่สามารถที่จะเอาที่ดินแปลงนั้นไปจํานอง เพื่อประกันหนี้กับนายจิง (ตามมาตรา 705) แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางลิงได้เซ็นชื่อไว้ในใบมอบอํานาจลอย ๆ ย่อมถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนางลิง เมื่อนายกิ่งได้เอาโฉนดที่ดินของนางลิง พร้อมด้วยใบมอบอํานาจดังกล่าวของนางลิงไปจํานองเพื่อประกันหนี้ที่นายกิ่งกู้ยืมเงินจากนายจิง ซึ่งในทางปฏิบัติ ย่อมทําให้นายจิงมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่านายกิ่งได้รับมอบอํานาจจากนางลิงจริง ดังนี้ถ้านายจิงบุคคลภายนอกสุจริต สัญญาจํานองย่อมมีผลสมบูรณ์ตามหลักการของการจํานองทั่ว ๆ ไป โดยให้ถือเสมือนว่านางลิงได้เชิดให้นายกิ่ง เป็นตัวแทนของตน

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้นั้น ตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่า นายจิงผู้รับจํานองได้ทราบดีว่าที่ดินที่ ติดแม่น้ำที่นายกิ่งเอามาจํานองนั้นเป็นที่ดินของใคร เมื่อนายจึงได้รับจํานองไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดย ไม่สุจริต ทั้งนี้เพราะได้รับจํานองไว้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านายกิ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินดังกล่าว ดังนั้น กรณีนี้ถือว่าการ จํานองระหว่างนายกิ่งกับนายจิงมีผลเป็นโมฆะ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต (ตามมาตรา 5) นางลิงยกเป็น ข้อต่อสู้ได้

สรุป

การจํานองมีผลเป็นโมฆะ นางลิงยกเป็นข้อต่อสู้ได้

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงจํานํานาฬิกาของตน 1 เรือนเป็นประกัน ครั้นหนี้ถึงกําหนดชําระแดงไม่ชําระ ดําปล่อยปละละเลยจนหนี้รายนี้ขาดอายุความ ดําจึงมาเรียกให้แดงชําระหนี้ แดงยก อายุความขึ้นต่อสู้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากนาฬิกาโดยการบังคับจํานําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ดําจะได้รับชําระหนี้เป็นจํานวนเท่าไร หากในขณะนั้นนาฬิการาคา 80,000 บาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตาม สิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท โดยแดงได้จํานํานาฬิกาของตน 1 เรือน เป็นประกัน ครั้นหนี้ถึงกําหนดชําระ แดงไม่ชําระ และดําปล่อยปละละเลยจนหนี้รายนี้ขาดอายุความนั้น เมื่อดํา มาเรียกให้แดงชําระหนี้ แดงลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชําระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานําระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (1) ดังนั้นดําผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานําคือ นาฬิกาที่แดงได้จํานําไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม (ตามมาตรา 193/27) แต่ดําจะได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ตามราคาของนาฬิกาเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 20,000 บาท แม้มาตรา 767 วรรคสอง จะกําหนดให้ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ก็ตาม แต่กรณีนี้ถือว่าสิทธิเรียกร้องในจํานวนเงิน 20,000 บาทนั้น ขาดอายุความแล้ว และแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธไม่ชําระหนี้แล้วด้วย

สรุป

(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากนาฬิกาโดยการบังคับจํานําได้

(ข) ดําจะได้รับชําระหนี้เป็นเงินเพียง 80,000 บาท ตามราคาทรัพย์สินที่นํามาประกันไว้ เท่านั้น

 

Advertisement