การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายใสกู้เงินนายสว่าง 50,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง แต่นายสว่างต้องการให้นายใสหาประกันมามอบให้ นายใสได้ขอให้นายมืดมาเป็นผู้ค้ำประกันโดยนายมืดได้ตกลงกับนายใสว่าหากนายใส ชําระหนี้ไม่ได้ตนจะเป็นผู้ชําระหนี้แทนและได้ทําหลักฐานแต่ลงลายมือชื่อเฉพาะนายมืดเท่านั้น ดังนี้

อยากทราบว่า นายมืดเป็นผู้ค้ำประกันตามกฎหมายหรือไม่ จงยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคแรก “อันค้ําประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 680 วรรคแรก การค้ำประกันนั้นจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาทําสัญญา กับเจ้าหนี้ว่า หากลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชําระหนี้นั้นแทนลูกหนี้

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้หนี้เงินกู้ยืมระหว่างนายใสกับนายสว่างจะเป็นหนี้ที่สมบูรณ์และสามารถ ทําสัญญาค้ำประกันได้ตามมาตรา 681 วรรคแรก แต่การที่นายมืดได้ตกลงกับนายใสว่าหากนายใสชําระหนี้ไม่ได้ ตนจะเป็นผู้ชําระหนี้แทนนั้น ถือเป็นการตกลงกันระหว่างนายมืดบุคคลภายนอกกับนายใสซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณี จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 680 วรรคแรก ดังนั้น นายมืดจึงไม่ถือว่าเป็นผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย

สรุป

นายมืดไม่เป็นผู้ค้ำประกันตามกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายอินขอยืมเงินนางอ้นเป็นเงิน 100,000 บาท โดยได้ทําหลักฐานการยืมเงินเป็นหนังสือ แต่ได้ทําหลักฐานหายไปเพราะปลวกกิน และต่อมาได้มีนางอ้วนนําที่ดินของตนมาจํานองประกันการชําระหนี้ รายนี้ตามกฎหมาย โดยสัญญาจํานองได้ระบุว่า เมื่อจํานองที่ดินแล้วหากถึงกําหนดการชําระหนี้ แล้วลูกหนี้ไม่มีเงินจ่ายให้ลูกหนี้ยกที่ดินให้เจ้าหนี้ ดังนี้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 681 วรรคแรก “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 707 “บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจํานอง อนุโลม ตามควร”

มาตรา 711 “การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกําหนดชําระเป็นข้อความอย่างใด อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชําระหนี้ ให้ผู้รับจํานองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจํานอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็น ประการอื่นอย่างใด นอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจํานองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอินขอยืมเงินนางอ้น โดยได้ทําหลักฐานการยืมเงินเป็นหนังสือนั้น ย่อมถือว่าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินได้เกิดขึ้นแล้ว และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ว่านายอินจะได้ทําหลักฐาน หายไปเพราะปลวกกินก็ตาม ดังนั้น เมื่อมีหนี้เกิดขึ้นก็ย่อมสามารถที่จะมีการจํานองกันได้ตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 707 การที่นางอ้วนนําที่ดินของตนมาจํานองเป็นประกันการชําระหนี้รายนี้ การจํานองดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย รประกอบการ

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในสัญญาจํานองที่ว่า หากถึงกําหนดการชําระหนี้แล้วลูกหนี้ไม่มีเงินจ่าย ให้ลูกหนี้ยกที่ดินให้เจ้าหนี้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้ เพราะขัดกับมาตรา 711 และมาตรา 728 ซึ่งได้กําหนดว่า ถ้าจะมีการบังคับจํานอง ผู้รับจํานองจะต้องฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษา สั่งให้ยึดทรัพย์สินที่จํานองออกขายทอดตลาด ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการตกลงยกเว้นบทบัญญัติของ กฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ

สรุป

สัญญาจํานองมีผลสมบูรณ์ แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3. นางมะนาวทําสัญญากู้เงินจากนายมะพร้าว 100,000 บาท และได้นําโทรทัศน์ 1 เครื่อง และวัว 1 ตัว มาส่งมอบให้นายมะพร้าวเป็นหลักประกัน โดยยอมให้นายมะพร้าวนําหลักประกันออกให้ บุคคลภายนอกเช่าได้ ได้ค่าเช่าจากโทรทัศน์ 5,000 บาทและจากวัว 5,000 บาท อีกทั้งยังมีลูกวัว เกิดจากแม่วัวตัวดังกล่าว 1 ตัวมีราคา 5,000 บาท ต่อมานางมะนาวผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายมะพร้าว จึงนําโทรทัศน์และวัวออกขายทอดตลาด ได้เงินมาทั้งสิ้น 85,000 บาท ดังนี้ นายมะพร้าวจะเรียก ให้นางมะนาวชําระเงินส่วนที่ขาดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 761 “ถ้ามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา หากมีดอกผลนิตินัยงอกจาก ทรัพย์สินนั้นอย่างไร ท่านให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระ ท่านให้จัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

วินิจฉัย

มาตรา 761 ได้วางหลักไว้ว่า หากทรัพย์สินที่จํานํามีดอกผลนิตินัย (เช่น ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือ เงินปันผล) เกิดขึ้น ให้ผู้รับจํานําจัดสรรใช้เป็นค่าดอกเบี้ยอันค้างชําระแก่ตน และถ้าไม่มีดอกเบี้ยค้างชําระก็ให้ จัดสรรใช้เงินต้นแห่งหนี้ที่ได้จํานําทรัพย์สินเป็นประกันนั้น เว้นแต่ในสัญญาจํานําจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ถ้ามีการตกลงกันว่าให้ดอกผลเป็นนิตินัยเป็นของผู้จํานํา ดังนี้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมะพร้าวนําหลักประกันออกให้บุคคลภายนอกเช่าโดยได้ค่าเช่า จากโทรทัศน์ 5,000 บาท และจากวัว 5,000 บาท นั้น ค่าเช่าดังกล่าวถือเป็นดอกผลนิตินัย เมื่อในสัญญากู้ยืมเงิน มิได้กําหนดดอกเบี้ยเอาไว้ จึงต้องนําเงินจํานวนดังกล่าวมาจัดสรรใช้ต้นเงินแห่งหนี้อันได้จํานําทรัพย์สินเป็น ประกันตามมาตรา 761 ส่วนลูกวัวที่เกิดจากแม่วัวนั้นถือเป็นดอกผลธรรมดา ไม่สามารถนํามาจัดสรรใช้หนี้ได้

ต่อมาปรากฏว่า นางมะนาวผิดนัดไม่ชําระหนี้ และนายมะพร้าวได้นําโทรทัศน์และวัว ออกขายทอดตลาดได้เงินมาทั้งสิ้น 85,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อนํามารวมกับส่วนของดอกผลนิตินัยที่นํามาจัดสรรใช้หนี้ จํานวน 10,000 บาทแล้ว ยังคงได้เงินจํานวนน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชําระอีก 5,000 บาท ดังนั้นนางมะนาวจึงต้อง รับใช้ส่วนที่ขาดอีก 5,000 บาท ตามมาตรา 767 วรรคสอง

สรุป

นายมะพร้าวจะเรียกให้นางมะนาวชําระเงินส่วนที่ขาดได้

Advertisement