การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายดีกู้เงินนายมาก 5 ล้านบาท มีหลักฐานถูกต้อง ขณะเดียวกันได้นําที่ดินของนายน้อยมาจดทะเบียนจํานองเป็นหลักประกันหนี้จํานวน 3 ล้านบาท โดยนายน้อยยินยอมและมอบฉันทะให้ดําเนินการ จํานองได้พร้อมกับได้นําสัญญาเช่าตึกที่ทําการบริษัทราคา 2 ล้านของตนมามอบไว้ให้เป็นประกัน ชําระหนี้ แต่นายมากต้องการให้หาผู้ค้ำประกันมาให้ด้วย นายดีจึงไปขอให้นายวิเศษมาเป็นผู้ค้ำประกัน โดยนายวิเศษได้ตกลงกับนายมากพร้อมกับทําหลักฐานเป็นหนังสือในการค้ำประกันแต่มีเพียง นายวิเศษที่ลงลายมือชื่อเท่านั้น หลังจากนั้นกิจการค้าของนายดีได้ผลกําไรมาก นายมากจึงปลดจํานอง ที่ดินและคืนสัญญาเช่าตึกที่ทําการบริษัทให้นายดีไป แต่เมื่อหนี้ของนายดีถึงกําหนดชําระ ปรากฏว่า เกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทําให้การค้าของนายดีขาดทุนหมด นายดีไม่สามารถชําระหนี้ได้ นายมากจึงขอให้นายวิเศษชําระหนี้แทนตามสัญญาค้ำประกัน นายวิเศษต่อสู้ว่า

1) สัญญาค้ำประกันนายดีและนายมากไม่ได้ลงลายมือชื่อจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับได้

2) เนื่องจากนายมากได้ปลดจํานองที่ดินราคา 3 ล้านบาท และคืนสัญญาเช่าตึกราคา 2 ล้านไป ทําให้เกิดความเสียหายจากการกระทําดังกล่าวซึ่งเมื่อหากว่าตนได้ชําระหนี้แทนแล้วจะไม่สามารถรับช่วงสิทธิใด ๆ ได้ ตนจึงไม่มีต้องรับผิดชอบแต่ประการใด

อยากทราบว่าข้ออ้างของนายวิเศษทั้ง 2 ข้อรับฟังได้หรือไม่ ยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 วรรคแรก “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์”

มาตรา 686 “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ได้ แต่นั้น”

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชําระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทําสัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตน ต้องเสียหายเพราะการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดีกู้เงินนายมาก 5 ล้านบาท โดยมีหลักฐานถูกต้องนั้น เมื่อการ กู้เงินเป็นหนี้ที่สมบูรณ์และถูกต้องย่อมมีผลทําให้สัญญาค้ำประกันระหว่างนายวิเศษกับนายมากมีผลสมบูรณ์ (ตามมาตรา 681 วรรคแรก) และเมื่อสัญญาค้ำประกันระหว่างนายวิเศษกับนายมากนั้น ได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อนายวิเศษผู้ค้ำประกัน ดังนี้แม้จะไม่มีลายมือชื่อของนายดีและนายมาก สัญญาค้ำประกัน ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 680 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระแต่นายดีลูกหนี้ไม่สามารถชําระหนี้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ นายมาก ย่อมสามารถที่จะเรียกให้ผู้ค้ําประกันชําระหนี้ได้ตามมาตรา 686 และเมื่อนายมากได้เรียกให้นายวิเศษชําระหนี้ ตามสัญญาค้ำประกัน แต่นายวิเศษต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันนายดีและนายมากไม่ได้ลงลายมือชื่อจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผล บังคับได้นั้น ข้อต่อสู้ของนายวิเศษจึงรับฟังไม่ได้

และผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้วย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามี เหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วง ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิ จํานอง หรือจํานํา หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทําสัญญา ค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการกระทํา ของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่า ถ้านายวิเศษได้ชําระหนี้ให้แก่นายมากแล้ว นายวิเศษ ย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายมากเจ้าหนี้ได้เฉพาะสิทธิจํานองที่นายดีได้นําที่ดินมาจดทะเบียนจํานอง เป็นหลักประกันไว้เท่านั้น ดังนั้นการที่นายมากได้ปลดจํานองที่ดินให้แก่นายดีย่อมทําให้นายวิเศษเสียหายเป็น จํานวน 3 ล้านบาท ส่วนการที่นายมากได้คืนสัญญาเช่าตึกให้แก่นายดีไปนั้น ไม่ถือว่าการคืนสัญญาเช่าตึกนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายวิเศษผู้ค้ำประกันแต่อย่างไร เพราะเป็นแต่เพียงบุคคลสิทธิซึ่งผู้ค้ำประกันไม่อาจ รับช่วงสิทธิแต่ประการใด ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงถือว่าการกระทําของนายมากเป็นเหตุให้นายวิเศษได้รับความ เสียหายเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น นายวิเศษจึงต้องชําระหนี้แทนนายดีลูกหนี้เป็นเงิน 2 ล้านบาท

สรุป

1) ข้อต่อสู้ของนายวิเศษที่ว่าสัญญาค้ำประกันนายดีและนายมากไม่ได้ลงลายมือชื่อจึงไม่สมบูรณ์ไม่มีผลบังคับได้นั้น รับฟังไม่ได้

2) ข้อต่อสู้ของนายวิเศษที่ว่าเนื่องจากนายมากได้ปลดจํานองที่ดินราคา 3 ล้านบาททําให้ตนได้รับความเสียหายนั้นรับฟังได้ แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าการคืนสัญญาเช่าตึก ราคา 2 ล้านบาท ทําให้ตนได้รับความเสียหายนั้นรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2.นายอินขอยืมเงินนางอ้นเป็นเงิน 100,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือการยืมเงินและมีนางอ้วน นําที่ดินของตนมาจํานองเป็นประกันการชําระหนี้รายนี้ในสัญญาจํานองรายนี้ระบุว่า

1 ห้ามนําที่ดิน ดังกล่าวนี้จํานองกับบุคคลใด ๆ อีกหลังจากได้จํานองประกันหนี้กับนางอ้นแล้ว

2 เมื่อจํานองที่ดิน แล้วหากถึงกําหนดการชําระหนี้แล้วไม่มีเงินจ่ายให้นําที่ดินออกขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องศาล

ดังนี้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานองเป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 711 “การที่จะตกลงกันไว้เสียแต่ก่อนเวลาหนี้ถึงกําหนดชําระเป็นข้อความอย่างใด อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่ชําระหนี้ให้ผู้รับจํานองเข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินซึ่งจํานอง หรือว่าให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็น ประการอื่นอย่างใดนอกจากตามบทบัญญัติทั้งหลายว่าด้วยการบังคับจํานองนั้นไซร้ ข้อตกลงเช่นนั้นท่านว่าไม่สมบูรณ์

มาตรา 712 “ถึงแม้ว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่นก็ตาม ทรัพย์สินซึ่งจํานองไว้แก่บุคคลคนหนึ่งนั้น ท่านว่าจะเอาไปจํานองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอินขอยืมเงินนางอ้น 100,000 บาท แม้จะมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ การยืมเงิน ก็ถือว่าหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินได้เกิดขึ้นแล้ว และมีผลสมบูรณ์เพียงแต่ไม่สามารถที่จะ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้เท่านั้น และเมื่อมีหนี้เกิดขึ้นก็ย่อมสามารถที่จะมีการค้ําประกันหนี้กันได้ตามมาตรา 702 ดังนั้นการที่นางอ้วนนําที่ดินของตนมาจํานองเป็นประกันการชําระหนี้รายนี้ การจํานองดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อในสัญญาจํานองรายนี้มีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาอยู่ 2 ประการ ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 ข้อตกลงที่ว่าห้ามนําที่ดินดังกล่าว (ที่ดินที่นํามาจํานอง) จํานองกับบุคคลใด ๆ อีก หลังจากได้จํานองประกันหนี้กับนางอ้นแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้ เนื่องจากขัดกับ มาตรา 712 ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินที่ติดจํานองสามารถเอาไปจํานองแก่บุคคลอีกคนหนึ่งในระหว่างเวลาที่ สัญญาก่อนยังมีอายุอยู่ได้ ดังนั้นข้อตกลงที่ห้ามจํานองกับบุคคลใด ๆ อีกนั้นจึงเป็นการตกลงยกเว้นบทบัญญัติ ของกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมีผลเป็นโมฆะ

2 ข้อตกลงที่ว่า เมื่อจํานองที่ดินแล้วหากถึงกําหนดการชําระหนี้แล้วไม่มีเงินจ่ายให้นํา ที่ดินออกขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลนั้น ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับตามกฎหมายไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการขัดกับมาตรา 711 และมาตรา 728 ซึ่งได้กําหนดว่าถ้าจะมีการบังคับจํานอง ผู้รับจํานองจะต้อง ฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่จํานองออกขายทอดตลาด ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าว เป็นการตกลงยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ

สรุป

ข้อตกลงทั้งสองใช้บังคับไม่ได้ และมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 ก. กู้เงิน ข. 200,000 บาท โดยนํารถยนต์จํานําไว้เป็นประกันหนี้ ข. ได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปฝากจอดไว้บ้านญาติโดยมิได้บอกให้ ก. ทราบว่านําทรัพย์สินที่รับจํานําไว้ให้ผู้อื่นเก็บรักษา ต่อมาไฟได้ ไหม้ตึกของญาติที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับบ้านของ ข. ไฟได้ไหม้รถยนต์เสียหายทั้งคัน แต่ รถดับเพลิงได้ดับไฟเสียทันไฟจึงไหม้ไปไม่ถึงบ้านของ ข. ดังนี้ ข. จะต้องรับผิดในความเสียหายที่ เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่รับจํานําหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 749 “คู่สัญญาจํานําจะตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจํานําไว้ก็ได้”

มาตรา 760 “ถ้าผู้รับจํานําเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกใช้เอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเก็บรักษาโดยผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วยไซร้ ท่านว่าผู้รับจํานําจะต้องรับผิดเพื่อที่ทรัพย์สินจํานํานั้นสูญหาย หรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ทั้งเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ก็คงจะต้องสูญหาย หรือ บุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. กู้เงิน ข. 200,000 บาท โดยนํารถยนต์จํานําไว้เป็นประกันหนี้ นั้น ถือว่าการจํานํามีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 747 และคู่สัญญาจํานําสามารถตกลงกันให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บ รักษาทรัพย์สินซึ่งจํานําไว้ก็ได้ตามมาตรา 749

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ข. ผู้รับจํานําได้นํารถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินจํานําไปฝากให้ญาติ ของ ข. เป็นผู้เก็บรักษาไว้แทนตนโดยมิได้บอกกล่าวแก่ ก. เจ้าของทรัพย์ จึงถือว่าเป็นกรณีที่ผู้รับจํานําได้เอา ทรัพย์สินจํานําไปให้บุคคลภายนอกเป็นผู้เก็บรักษาโดยผู้จํานํามิได้ยินยอมด้วย ดังนั้นเมื่อทรัพย์สินที่จํานํา เสียหายเพราะไฟได้ไหม้รถยนต์เสียหายทั้งคัน ข. ผู้รับจํานําจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ รับจํานํา แม้ว่าจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม ตามมาตรา 760)

สรุป

ข. ผู้รับจํานําจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่รับจํานํา

Advertisement