การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายก้องตกลงให้นายเก้งยืมรถแทรกเตอร์ไปไถนาเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อนายเก้งใช้รถแทรกเตอร์คันดังกล่าวไปได้หนึ่งเดือน นายกวางเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันเกิดรถแทรกเตอร์เสีย จึงได้มาขอยืม รถแทรกเตอร์จากนายเก้งเพื่อใช้ชั่วคราวในช่วงที่เอารถแทรกเตอร์ของนายกวางไปซ่อม นายเก้ง เห็นว่าบ้านของตนเองกับนายกวางอยู่ติดกัน ถ้าตนจะเอารถแทรกเตอร์ของนายก้องคืนเมื่อไหร่ ก็สามารถให้นายกวางเอาคืนได้ทันที จึงให้นายกวางยืมรถแทรกเตอร์คันดังกล่าว ต่อมาเกิดฝนตกหนัก ทําให้น้ำท่วมทั้งตําบลอย่างฉับพลัน ทําให้รถแทรกเตอร์และเครื่องยนต์การเกษตรอื่น ๆ ของชาวบ้าน ทั้งตําบลนั้นเสียหายทั้งหมด ดังนี้ นายก้องจะเรียกให้นายเก้งรับผิดในความเสียหายของรถ แทรกเตอร์คันดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายก้องตกลงให้นายเก้งยืมรถแทรกเตอร์ไปไถนาเป็นเวลา 3 เดือนนั้น สัญญายืมรถแทรกเตอร์ระหว่างนายก้อง และนายเก้งเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และมาตรา 641 ซึ่ง นายเก้งผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถแทรกเตอร์ได้ตามสิทธิของผู้ยืม แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม คือต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติของ ทรัพย์นั้นหรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา ต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย และต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ผู้ยืมกระทําผิดหน้าที่ของผู้ยืมดังกล่าว ผู้ยืมจะต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ยืม แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ตามมาตรา 643 เว้นแต่ผู้ยืมจะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

การทนายเก้งได้ให้นายกวางยืมรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวของนายก้องไปใช้นั้น ย่อมถือว่าเป็น กรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่ารถแทรกเตอร์คันดังกล่าวเสียหาย นายเก้งผู้ยืมจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น แม้จะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่รถแทรกเตอร์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายนั้น เป็นเพราะเกิดฝนตกหนักทําให้น้ำท่วมทั้งตําบลอย่างฉับพลัน ทําให้รถแทรกเตอร์และเครื่องยนต์การเกษตรอื่น ๆ ของชาวบ้านทั้งตําบลนั้นเสียหายหมด นายเก้งจึงสามารถอ้างได้ว่าถึงแม้ว่าตนจะไม่ได้เอารถแทรกเตอร์คันดังกล่าว ให้นายกวางยืมไปใช้และเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง รถแทรกเตอร์คันดังกล่าวของนายก้องก็คงจะต้องเสียหายอยู่นั้นเอง กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 643 ตอนท้ายที่นายเก้งย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ดังนั้น นายก้องจะเรียกให้นายเก้งรับผิดในความเสียหายของรถแทรกเตอร์ดังกล่าวไม่ได้

สรุป

นายก้องจะเรียกให้นายเก้งรับผิดในความเสียหายของรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 2. นายแผ่นดินยืมเงินนางท้องฟ้าเป็นเงิน 10,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย ทั้งคู่ตกลงคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมครั้งนี้ 1,500 บาท ต่อมานายแผ่นดินชําระหนึ่งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ย ด้วยเงินสด 1,500 บาท ครั้งที่สองชําระหนี้เงินต้นด้วยเช็คจํานวน 10,000 บาท โดยในการชําระหนี้ ทั้งสองครั้งไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ ดังนี้ หากนางท้องฟ้าจะฟ้องร้องให้นายแผ่นดินคืนเงิน ที่ยืมทั้งหมดใหม่ได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การทํานายแผ่นดินยืมเงินนางท้องฟ้าเป็นเงิน 10,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็น หนังสือตามกฎหมาย และทั้งคู่ตกลงคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมครั้งนี้ 1,500 บาทนั้น การกู้ยืมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

ต่อมาการที่นายแผ่นดินได้ชําระหนึ่งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ยด้วยเงินสด 1,500 บาท และครั้งที่สอง ได้ชําระหนี้ด้วยเช็คจํานวน 10,000 บาท โดยในการชําระหนี้ทั้งสองครั้งไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ นั้น กรณี ดังกล่าวนายแผ่นดินจะนําสืบถึงการใช้เงินได้หรือไม่นั้น ตามมาตรา 653 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่าในการกู้ยืมเงิน มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะสามารถนําสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การนําสืบการใช้เงินตามมาตรา 653 วรรสองนั้นจะใช้บังคับกับการชําระเงินต้นด้วยเงินสดเท่านั้น

ดังนั้น การที่นายแผ่นดินชําระหนี้ครั้งแรกซึ่งเป็นการชําระในส่วนของดอกเบี้ยแม้จะเป็นการชําระ ด้วยเงินสดก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสอง จึงสามารถนําพยานบุคคลมาสืบถึงการชําระดอกเบี้ยได้ และการชําระหนี้ครั้งที่สองที่เป็นการชําระเงินต้นโดยการสั่งจ่ายเช็คนั้น เป็นการชําระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่น มิได้ชําระด้วยเงินสด จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 653 วรรคสองเช่นเดียวกัน นายแผ่นดินจึงสามารถนํา พยานบุคคลมาสืบถึงการชําระหนี้เงินต้นได้ ดังนั้น หากนางท้องฟ้าจะฟ้องร้องให้นายแผ่นดินคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ จึงไม่สามารถทําได้ เพราะนายแผ่นดินสามารถนําพยานบุคคลมาสืบถึงการชําระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้

สรุป

นางท้องฟ้าจะฟ้องร้องให้นายแผ่นดินคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ไม่ได้

 

ข้อ 3. นายหนึ่งไปเที่ยวทะเลที่บางแสน จังหวัดชลบุรี และเข้าพักที่โรงแรมหลับสบายมาก เมื่อนายหนึ่งเช็คอินแล้วนําทรัพย์สินและสัมภาระไปเก็บที่ห้องพัก จากนั้นก็รีบไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร ข้างนอกตามที่นัดหมายกับเพื่อนของตนไว้ อย่างไรก็ตามด้วยความรีบร้อนทําให้นายหนึ่งทํากุญแจ ห้องพักหล่นไว้หน้าห้องพักของตน อีกทั้งยังปิดประตูห้องพักไม่สนิทด้วย หลังจากทานอาหารเสร็จ นายหนึ่งกลับมาที่ห้องพบว่าทรัพย์สินของตน ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุคราคา 60,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 40,000 บาท และสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท พร้อมพระเลี่ยมทองราคา 200,000 บาท ได้หายไปจากกระเป๋าเดินทางที่เก็บไว้ในห้องพักของตน นายหนึ่งจึงรีบแจ้งนายสอง ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรมในทันทีและเรียกร้องให้โรงแรมรับผิดชอบในความสูญหายของทรัพย์สิน ดังกล่าว ให้ท่านวินิจฉัยว่า โรงแรมหลับสบายมากจะต้องรับผิดในความสูญหายของทรัพย์สิน ของนายหนึ่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ ต้อนรับ

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

แต่อย่างไรก็ตาม หากความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือ เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นหรือบริวารของเขาเอง หรือ บุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ เจ้าสํานักย่อมไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด (มาตรา 675 วรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเข้าพักที่โรงแรมหลับสบายมาก เมื่อนายหนึ่งเช็คอินแล้วนําทรัพย์สิน และสัมภาระไปเก็บที่ห้องพัก จากนั้นก็รีบไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารข้างนอกตามที่นัดหมายกับเพื่อนของตนไว้ หลังทานอาหารเสร็จนายหนึ่งกลับมาที่ห้องพบว่าทรัพย์สินของตน ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน้ตบุคราคา 60,000 บาท กล้องถ่ายรูปราคา 40,000 บาท และสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท พร้อมพระเลี่ยมทองราคา 200,000 บาท ได้หายไปจากกระเป๋าเดินทางที่เก็บไว้ในห้องพักของตน ซึ่งนายหนึ่งได้รับแจ้งนายสองซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรมในทันที และเรียกร้องให้ทางโรงเรมรับผิดชอบในความสูญหายของทรัพย์สินดังกล่าวนั้น โดยหลักแล้วเมื่อคอมพิวเตอร์ โน้ตบุค กล้องถ่ายรูป เป็นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไปทางโรงแรมจะต้องรับผิดชอบต่อนายหนึ่งเต็มจํานวน คือ 100,000 บาท ส่วนสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท และพระเลี่ยมทองซึ่งเป็นของมีค่านั้น เมื่อนายหนึ่งมิได้ฝาก ของมีค่าดังกล่าวและได้บอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายหนึ่งเพียง 5,000 บาท ตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 บรรคหนึ่งและวรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่ทรัพย์สินดังกล่าวได้สูญหายไปนั้น เป็นเพราะ ความผิดของนายหนึ่งซึ่งเป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยเอง เนื่องจากนายหนึ่งได้ประมาทเลินเล่อทํากุญแจห้องพัก หล่นไว้หน้าห้องพักและปิดประตูห้องพักไม่สนิท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายไป ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 675 วรรคสาม ทําให้โรงแรมหลับสบายมากไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของทรัพย์สินของนายหนึ่ง ดังกล่าว

สรุป

โรงแรมหลับสบายมากไม่ต้องรับผิดในความสูญหายของทรัพย์สินของนายหนึ่ง

Advertisement