การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแดงยืมรถยนต์จากนายขาวมาใช้สําหรับขับไปทํางานที่กรุงเทพฯ มีกําหนดระยะเวลายืม 1 เดือน ในระยะเวลายืมนั้น นายแดงได้ขับรถยนต์ไปเที่ยวที่พัทยาในวันหยุด และถูกนายเขียวขับรถยนต์ บรรทุกเข้ามาชนเสียหาย โดยเป็นความผิดของนายเขียวต้องซ่อม คิดเป็นเงินทั้งหมด 20,000 บาท เมื่อนายขาวทราบ จึงบอกเลิกสัญญาเรียกรถยนต์คืน และให้ชําระค่าซ่อม นายแดงคืนรถยนต์แต่ ไม่ยอมชําระค่าซ่อม นายขาวจึงฟ้องศาลให้นายแดงรับผิดค่าซ่อมภายในอายุความ นายแดงต่อสู้ ว่าตนไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้จึงไม่ต้องรับผิด ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงยืมรถยนต์จากนายขาวมาใช้สําหรับขับไปทํางานที่กรุงเทพฯ มีกําหนดระยะเวลายืม 1 เดือนนั้น สัญญายืมรถยนต์ระหว่างนายแดงและนายขาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตาม มาตรา 640 ประกอบมาตรา 641 นายแดงผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามที่ตกลงไว้กับนายขาว คือ เอามาใช้ขับไปทํางานที่กรุงเทพฯ เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแดงได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเที่ยวที่พัทยาในวันหยุดและถูก นายเขียวขับรถยนต์บรรทุกเข้ามาชนเสียหายนั้น แม้จะเป็นความผิดของนายเขียวก็ตาม แต่เมื่อนายแดงได้ประพฤติผิด หน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 กล่าวคือ นายแดงได้นําทรัพย์สินที่ยืมไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอัน ปรากฏในสัญญา ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับทรัพย์สินที่ยืม นายแดงผู้ยืมจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่ เกิดขึ้นนั้น คือต้องรับผิดชดใช้ค่าซ่อมทั้งหมดจํานวน 20,000 บาท ให้แก่นายขาวตามมาตรา 643

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้นายแดงรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์จํานวน 20,000 บาท ให้แก่นายขาว

 

ข้อ 2. นายแดงมีจดหมายถึงนายดําขอยืมเงิน โดยข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า “ ระยะนี้เงินไม่พอใช้ต้องขอรบกวนขอยืมเงินสัก 20,000 บาท.” แล้วลงชื่อแดงพร้อมลงวันที่ เดือน ปี ในจดหมาย หลังจากนั้น 7 วัน นายแดงมีจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงนายดํา ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า “ เงิน 20,000 บาท ที่ส่งไปให้นั้นได้รับแล้วขอบคุณมาก….” แล้วลงชื่อแดงพร้อมทั้งลงวันที่ เดือน ปี ที่เขียนจดหมายไว้ในจดหมายฉบับที่ 2 นั้นด้วย ต่อมาปรากฏว่าเมื่อนายดําทวงเงิน 20,000 บาท นั้น จากนายแดง นายแดงปฏิเสธการชําระหนี้ นายดําจึงนําความฟ้องร้องยังศาลโดยมีจดหมาย 2 ฉบับ นั้นเป็นหลักฐาน ในชั้นศาลนายแดงต่อสู้ว่าไม่ได้กู้ยืม ถ้าท่านเป็นศาลจะตัดสินอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดี ในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี คือ

1 หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้ ต้องมีสาระสําคัญที่แสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันและต้องมี ข้อความที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่กันแล้วด้วย ซึ่งข้อความอันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จําเป็นว่า จะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลาย ๆ ฉบับก็ได้ เมื่อนําเอาเอกสารเหล่านั้น มาอจนประกอบเข้าด้วยกัน หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว ย่อมถือว่าเอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่ง การกู้ยืมได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงมีจดหมายถึงนายดําขอยืมเงิน โดยมีข้อความในจดหมาย ตอนหนึ่งว่า “ระยะนี้เงินไม่พอใช้ ต้องขอรบกวนขอยืมเงินสัก 20,000 บาท.” แล้วลงชื่อแดง พร้อมลงวันที่ เดือน ปี ในจดหมาย และหลังจากนั้น 7 วัน นายแดงมีจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงนายดํา โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า “เงิน 20,000 บาท ที่ส่งไปให้นั้นได้รับแล้วขอบคุณมาก…” แล้วลงชื่อแดงพร้อมทั้งลงวันที่ เดือน ปี ที่เขียน จุดหมายไว้ในจดหมายฉบับที่ 2 ด้วยนั้น จะเห็นได้ว่าจดหมายของนายแดงถึงนายดําทั้ง 2 ฉบับนั้น ถ้าอ่านเพียง ฉบับใดฉบับหนึ่ง จะไม่แสดงถึงการกู้ยืมเงินจํานวน 20,000 บาท แต่อย่างใด แต่ถ้าอ่านรวมกันแล้วจะได้ใจความ ว่านายแดงขอกู้ยืมเงินจํานวน 20,000 บาท จากนายดํา และนายดําได้ส่งมอบเงินจํานวน 20,000 บาท ให้กับ นายแดงแล้ว และนายแดงได้รับเงินจํานวนดังกล่าวแล้ว อีกทั้งในจดหมายทั้ง 2 ฉบับ ก็ได้มีการลงลายมือชื่อ ของนายแดงไว้แล้วด้วย ดังนั้น นายดําจึงสามารถใช้จดหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเพื่อ ฟ้องร้องบังคับให้นายแดงคืนเงินที่กู้ยืมไปจํานวน 20,000 บาท คืนให้แก่ตนได้ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะตัดสินให้นายแดงชําระเงินคืนให้นายดําจํานวน 20,000 บาท

 

 

ข้อ 3. นางสาวนิดเดินทางไปธุระที่ลพบุรี พร้อมกับหน่อยซึ่งเป็นคนใช้ ไปถึงก็ตรงไปพักที่โรงแรมแสนสบายเจ้าของโรงแรมได้ยื่นประกาศระเบียบของโรงแรมให้นางสาวนิดอ่านดูก่อนลงชื่อเข้าพักแรมประกาศ นั้นมีใจความว่าทางโรงแรมจะไม่ยอมรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของ ผู้มาพัก ไม่ว่าในกรณีใด ๆ นางสาวนิดอ่านประกาศแล้วก็หัวเราะไม่พูดว่ากระไร คงลงชื่อเข้าพักไป ตามปกติ ระหว่างที่พักอยู่นั้น หน่อยได้ขโมยนาฬิการาคา 20,000 บาท ของนางสาวนิดพาหนีไป อยากทราบว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดชดใช้ราคานาฬิกาของนางสาวนิดแค่ไหน หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

มาตรา 677 “ถ้ามีคําแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านี้ เป็น ข้อความยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดของเจ้าสํานักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัย จะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดดังว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

แต่อย่างไรก็ตาม หากความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือ เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือ บุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ เจ้าสํานักย่อมไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด (มาตรา 675 วรรคสาม)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวนิดและหน่อยซึ่งเป็นคนใช้ได้เข้าไปพักที่โรงแรม และเจ้าของ โรงแรมได้ยื่นประกาศระเบียบของโรงแรมให้นางสาวนิดอ่านดูก่อนลงชื่อเข้าพักแรม โดยประกาศนั้นมีใจความว่า ทางโรงแรมจะไม่ยอมรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้มาพักไม่ว่ากรณีใด ๆ นั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ทางโรงแรมทําขึ้นฝ่ายเดียว และไม่ปรากฏว่านางสาวนิดได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งใน การยกเว้นความรับผิดนั้น ข้อความในเอกสารหรือในประกาศนั้นจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 677 ดังนั้น ทางเจ้าสํานัก โรงแรมจึงยังคงต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้ที่มาพักในโรงแรมนั้น

แต่อย่างไรก็ดี การที่นาฬิการาคา 20,000 บาท ของนางสาวนิดได้หายไปนั้น เป็นเพราะถูก หน่อยคนใช้ของนางสาวนิดลักไป จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์สินของคนเดินทางที่เข้าพักยังโรงแรมได้สูญหายไป เพราะบริวารของเขาเอง ดังนั้น เจ้าของโรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดตามมาตรา 675 วรรคสาม

สรุป เจ้าของโรงแรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ราคานาฬิกาให้แก่นางสาวนิด

 

 

Advertisement