การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแดงให้นายดํายืมรถยนต์ซึ่งอยู่ในสภาพดีไปเพื่อใช้ขับขี่ทํางานในกรุงเทพฯ แต่นายดํามิได้ใช้รถเพื่อขับมาทํางานนั้นเท่านั้น ในวันหยุดราชการสุดสัปดาห์นายดําได้พานางสาวขาวคนรักไป เชียงใหม่ ระหว่างกําลังขับรถพานางสาวขาวเที่ยวอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่นั้นเอง เกิดแผ่นดินไหว เฉพาะบริเวณในเขตจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดใกล้เคียง แต่แผ่ขยายไปไม่ถึงกรุงเทพฯ นายดํา บังคับรถไม่อยู่ รถไถลเข้าชนเสาไฟฟ้าข้างทางเสียหาย เช่นนี้ นายดําจะต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่รถยนต์ที่ยืมมานั้นอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงให้นายดํายืมรถยนต์ซึ่งอยู่ในสภาพดีไปเพื่อใช้ขับขี่ทํางาน ในกรุงเทพฯ นั้น สัญญายืมรถยนต์ระหว่างนายแดงและนายดําเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ประกอบ มาตรา 641 นายดําผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์ตามที่ตกลงไว้กับนายแดงคือเอาไปใช้เพื่อขับขี่ ทํางานในกรุงเทพฯ เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายดําได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวพานางสาวขาวคนรักไปเชียงใหม่ ในวันหยุดราชการสุดสัปดาห์ และระหว่างที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวเฉพาะบริเวณในเขต จังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดใกล้เคียง ทําให้นายดําบังคับรถไม่อยู่และรถไถลเข้าชนเสาไฟฟ้าข้างทางเสียหาย แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย นายดําก็จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายแดง ทั้งนี้เพราะ นายดําได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 กล่าวคือ นายดําได้นําทรัพย์สินที่ยืมไปใช้เพื่อการอื่น นอกจากการอันปรากฏในสัญญา นายดําจะอ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อนายแดงในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้

และแม้ว่าตามมาตรา 643 ตอนท้าย จะบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ยืมอาจไม่ต้องรับผิด ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเองก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงย่อม เป็นการยากที่นายดําจะพิสูจน์ได้เช่นนั้น เพราะการเกิดแผ่นดินไหวซึ่งเป็นภัยทางธรรมชาติที่ไม่มีใครจะป้องกันได้ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นได้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ด้วย อีกทั้งรถยนต์ที่นายดํายืมมาจากนายแดงก็เป็นรถที่อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ดังนั้นนายดําจึงไม่อาจหาเหตุที่จะอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้น ดังกล่าวได้

สรุป

นายดําจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่ยืมมานั้นต่อนายแดง

 

ข้อ 2. นาย ก. ยืมเงินนาย ข. เป็นเงิน 2,000.01 บาท แต่ไม่ได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างหนึ่งอย่างใดต่อมาอีก 3 วัน นาย ก. ได้ส่งจดหมายมาความว่า “ขอบคุณที่ส่งเงินมาได้รับเรียบร้อยแล้ว” พร้อม 2 พยายามในการ ลงลายมือชื่อตน (นาย ก.) พร้อมพยาน 2 คน ต่อมานาย ก. ทะเลาะกับนาย ข. นาย ก. ให้การในบันทึกประจําวันว่า “ผมเป็นคําทําร้ายนาย ข. เพราะนาย ข. เป็นเจ้าหนี้เงินอยู่ 2,000.01 บาท แต่ รู้จี้ จุกจิก เลยหมั่นไส้ด่าซะ” โดยทั้งคู่ (นาย ก. และนาย ข.) ได้ลงนามสัญญาว่าต่อไปนี้จะไม่ทะเลาะกันอีก ดังนี้การกู้ยืมดังกล่าวสามารถฟ้องได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ยอมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทําเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการ กู้ยืมเงินกัน และมีการระบุถึงจํานวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ แต่ที่สําคัญจะต้องมีลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญ ส่วนผู้ให้ยืมและพยานจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ และการมีหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวนั้น ไม่จําเป็นต้องทําในวันที่มีการกู้ยืมเงินกันอาจทําในภายหลังก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. ยืมเงินนาย ข. เป็นเงิน 2,000.01 บาท แต่ไม่ได้ทําหลักฐาน เป็นหนังสือแต่อย่างหนึ่งอย่างใดนั้น เมื่อการกยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมีการส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมแล้ว สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนาย ก. และนาย ข. จึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 650 เพียงแต่เมื่อเป็นการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท และมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อนาย ก. ผู้ยืม แล้ว นาย ข. ผู้ให้ยืมก็ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีนาย ก. ได้ (มาตรา 653 วรรคหนึ่ง) และแม้ตามข้อเท็จจริงจะ ปรากฏว่า นาย ก. ได้ส่งจดหมายให้แก่นาย ข. และเขียนข้อความว่า “ขอบคุณที่ส่งเงินมาได้รับเรียบร้อยแล้ว” พร้อมลงลายมือชื่อนาย ก. ก็ตาม นาย ข. ก็จะนําจดหมายดังกล่าวมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะในจดหมายดังกล่าวไม่มีข้อความว่านาย ก. ผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการกู้ยืมเงินกัน และไม่มีการระบุถึง จํานวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า นาย ก. ได้ให้การในบันทึกประจําวันของ เจ้าหน้าที่ตํารวจว่า “ผมเป็นคนทําร้ายนาย ข. เพราะนาย ข. เป็นเจ้าหนี้เงินอยู่ 2,000.01 บาท.” โดยนาย ก. และ นาย ข. ได้ลงนามในบันทึกดังกล่าวนั้นด้วย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่า บันทึกปากคําของเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ทําขึ้นภายหลังนี้ สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ ทั้งนี้เพราะมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและมีลายมือชื่อ นาย ก. ผู้ยืม พร้อมทั้งมีข้อความว่าผู้ยืมเป็นหนี้ในเรื่องการกู้ยืมเงินกันโดยชัดแจ้ง และแม้จะเกิดขึ้นภายหลังวันที่ มีการกู้ยืมเงินกันก็ตาม นาย ข. ก็สามารถใช้บันทึกประจําวันดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้

สรุป

การกู้ยืมเงินดังกล่าว นาย ข. สามารถนําบันทึกประจําวันของเจ้าหน้าที่ตํารวจดังกล่าว มาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้

 

ข้อ 3. นายหนึ่งไปร่วมงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งในย่านถนนรามคําแหง โดยเข้าร่วมงานตั้งแต่เวลา 08.30 น. นายหนึ่งได้จอดรถยนต์ไว้ที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรม และเมื่อ เสร็จงานสัมมนาเวลา 16.00 น. นายหนึ่งกลับมาที่รถเพื่อขับออกไปจึงพบว่ารถยนต์ถูกชนที่ประตู ด้านขวาข้างคนขับโดยไม่ทราบตัวคู่กรณี นายหนึ่งได้แจ้งให้นายสองผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที และขอให้นายสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ที่ถูกชนเป็นจํานวน 10,000 บาท ดังนี้

ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของนายสองผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมที่มีต่อนายหนึ่ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งไปร่วมงานสัมมนาทางวิชาการที่จัดขึ้นที่โรงแรม และได้จอดรถยนต์ไว้ที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรม และเมื่อเสร็จงานนายหนึ่งกลับมาที่รถพบว่ารถยนต์ถูกชนที่ประตู ด้านขวาข้างคนขับโดยไม่ทราบตัวคู่กรณีนั้น เมื่อนายหนึ่งเป็นเพียงผู้มาร่วมงานสัมมนาที่จัดขึ้นที่โรงแรมแห่งนี้ เท่านั้น มิใช่เป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยในโรงแรมดังกล่าว ตามนัยของมาตรา 670 ดังนั้น นายสองผู้เป็น เจ้าสํานักโรงแรมจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของนายหนึ่งแต่อย่างใด

สรุป

นายสองผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน ของนายหนึ่ง

 

Advertisement