การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ดําตกลงให้แดงยืมรถยนต์ไปธุระที่เชียงใหม่เป็นเวลา 10 วัน ครบกําหนด 10 วันแล้ว แดงเกิดมีธุระที่จะต้องไปทําต่อที่เชียงรายอีก 7 วัน หลังจากนั้นจึงขับรถกลับกรุงเทพฯ ระหว่างทางเกิดมีพายุ ฝนตกน้ำท่วมป่า ท่วมไหลหลากมาท่วมถนนอย่างรวดเร็ว สุดวิสัยที่แดงจะขับรถหนีได้พ้น รถยนต์ ของดําต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ทําให้เครื่องยนต์เสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 1,000 บาท อยากทราบว่าค่าซ่อมแซมรถนี้ดําจะเรียกร้องจากแดงได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 8 “คําว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฎในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมรถยนต์ระหว่างแดงและดําเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 640 และมาตรา 641 โดยมีการกําหนดว่าจะเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้เพื่อการใดและได้กําหนดเวลา ส่งคืนไว้ด้วย ซึ่งแดงผู้ยืมย่อมมีสิทธิที่จะครอบครองและใช้สอยรถยนต์ได้ตามสิทธิของผู้ยืม แต่จะต้องสงวนรักษา ทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งจะต้องไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่แดงได้ยืม รถยนต์ไปธุระที่เชียงใหม่เป็นเวลา 10 วันแล้ว แดงยังนํารถยนต์ไปทําธุระต่อที่เชียงรายอีกเป็นเวลา 7 วัน ถือว่า เป็นกรณีที่ผู้ยืมได้นําทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา และเป็นการเอาทรัพย์สิน ที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดใน เหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย

และตามอุทาหรณ์ ในขณะที่แดงขับรถกลับกรุงเทพฯ นั้น ระหว่างทางเกิดมีพายุฝนตกน้ำท่วมถนน สุดวิสัยที่แดงจะขับรถหนีได้ทัน ทําให้รถยนต์ของดําต้องแช่น้ําอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ทําให้เครื่องยนต์เสียหาย ต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 1,000 บาทนั้น กรณีเช่นนี้แดงผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแม้ว่าการเกิดพายุ และน้ำท่วมถนนนั้นจะเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 ก็ตาม ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 643 ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินที่ยืม หากผู้ยืมได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม แม้ความเสียหายนั้นจะได้เกิดขึ้น เพราะเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 643 ตอนท้าย ได้กําหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ยืมอาจหลุดพ้นจาก ความรับผิดได้หากผู้ยืมพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง กล่าวคือ หากแดงพิสูจน์ได้ว่า ถ้าแดงได้ใช้รถยนต์ที่ยืมมาตามการอันปรากฏในสัญญาและมิได้เอารถยนต์ที่ยืมมาใช้นาน กว่าที่ควรจะเอาไว้แล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์ที่ยืมอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยนั้นก็คงจะต้องเกิดขึ้นอยู่ดี เช่นนี้ แดงก็อาจหลุดพ้นจากความรับผิดได้

สรุป

ค่าซ่อมแซมรถยนต์จํานวน 1,000 บาท ดําสามารถเรียกร้องเอาจากแดงได้ตามมาตรา 643 เว้นแต่แดงจะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องได้รับความเสียหายอยู่นั่นเอง

 

ข้อ 2 เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย นายอินเสียหายอย่างหนักจึงได้ยืมเงินนายอ้นเป็นจํานวนเงิน 5,000 บาท โดยทําเป็นหนังสือ ในหนังสือระบุว่านายอินต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจํานวนร้อยละ 20 บาท ต่อปี เมื่อครบกําหนดชําระเงิน 1 ปีแล้ว นายอินไม่มีเงินสดมาจ่าย จึงนํารถจักรยานยนต์ของตน ตามราคาท้องตลาดมีมูลค่า 6,000 บาท มาคืนแทนเงิน ดังนี้ การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสด มีผลหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”

มาตรา 656 “ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น แทนจํานวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชําระโดยจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือ ทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

ถ้าทําสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชําระหนี้ แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชําระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจํานวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอินได้ยืมเงินจากนายอันเป็นจํานวนเงิน 5,000 บาท ซึ่งเป็น การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทนั้น เมื่อสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวได้ทําเป็นหนังสือ การกู้ยืมเงินระหว่างนายอิน และนายอ้นจึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ในหนังสือกู้ยืมเงินได้ระบุว่านายอินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจํานวน ร้อยละ 20 บาทต่อปีนั้น ถือเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ คือเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เช่นนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด ส่วนเงินต้นนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ (ตามมาตรา 654 ประกอบ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา) ดังนั้น นายอินจึงยังคงต้องรับผิดคืนเงินต้นจํานวน 5,000 บาทให้แก่นายอ้น

และเมื่อหนี้ถึงกําหนด การที่นายอินไม่มีเงินสดมาชําระหนี้ แต่ได้นํารถจักรยานยนต์ของตน ตามราคาท้องตลาดมีมูลค่า 6,000 บาท มาชําระหนี้แทนเงินนั้น ถือเป็นกรณีที่มีการชําระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่น แทนจํานวนเงิน และเมื่อนายอ้นผู้กู้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น หนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวย่อมระงับไปตามมาตรา 656 และเมื่อเป็นหนี้กันเป็นเงินจํานวน 5,000 บาท แต่ราคาของทรัพย์สินอื่นนั้นมีราคาตามเวลาที่ส่งมอบเป็นเงินจํานวน 6,000 บาท นายอ้นเจ้าหนี้จึงต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอินลูกหนี้เป็นเงินจํานวน 1,000 บาท

สรุป การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสดจะมีผลทําให้หนี้จํานวน 5,000 บาทระงับไป และ นายอ้นจะต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอินเป็นจํานวนเงิน 1,000 บาท

 

ข้อ 3 นายเอกไปร่วมงานฉลองมงคลสมรสของพี่สาวที่จัดขึ้นในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เมื่องานเลี้ยงเลิกแล้วนายเอกและเพื่อน ๆ อีกห้าคนลงมานั่งรับประทานอาหารและสังสรรค์กันต่อ ที่ห้องอาหารของโรงแรมจนเวลา 20 นาฬิกา ห้องอาหารปิด นายเอกกับเพื่อนจึงแยกย้ายกันกลับ พอมาถึงที่จอดรถของโรงแรม นายเอกพบว่ารถยนต์ของตนถูกชนที่ประตูด้านคนขับ ประตูยุบ จนไม่สามารถเปิดได้ นายเอกแจ้งต่อนายโทผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมทันที และเรียกร้องให้นายโท รับผิดชอบในความเสียหายที่รถยนต์ถูกชนเป็นเงินสองหมื่นบาท นายโทปฏิเสธว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ ความรับผิดของเจ้าสํานักโรงแรม เพราะนายเอกไม่ใช่ผู้มาใช้บริการห้องพักของโรงแรม แต่นายเอก ต่อสู้ว่าตนใช้บริการห้องอาหารของโรงแรมจนห้องอาหารปิดจึงกลับ จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายโท เจ้าสํานักโรงแรมรับผิดในความเสียหายครั้งนี้ได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดชดใช้ต่อนายเอกหรือไม่ ข้อต่อสู้ของ นายเอกและนายโทรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และคําว่า “คนเดินทางหรือแขกอาศัย” นั้น หมายถึง บุคคลผู้เข้าพักในโรงแรม โฮเต็ล และ สถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้นโดยชําระค่าที่พัก

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกไปร่วมงานฉลองมงคลสมรสของพี่สาวที่จัดขึ้นในโรงแรม แห่งหนึ่ง และเมื่องานเลี้ยงเลิกแล้วนายเอกและเพื่อน ๆ ได้ลงมารับประทานอาหารและสังสรรค์กันต่อที่ห้องอาหาร ของโรงแรมนั้น กรณีนี้ไม่ถือว่านายเอกได้เปิดห้องพักของโรงแรม นายเอกจึงมิใช่คนเดินทางหรือแขกอาศัย ของโรงแรมตามนัยของมาตรา 674 เมื่อนายเอกได้เรียกร้องให้นายโทเจ้าสํานักโรงแรมรับผิดชอบในความเสียหาย ที่รถยนต์ของนายเอกถูกชน แต่นายโทปฏิเสธโดยอ้างว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเจ้าสํานักโรงแรม เพราะ นายเอกไม่ใช่ผู้มาใช้บริการห้องพักของโรงแรมนั้น ข้อต่อสู้ของนายโทจึงรับฟังได้ และนายโทไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่นายเอก ส่วนข้อต่อสู้ของนายเอกที่ว่าตนได้ใช้บริการห้องอาหารของโรงแรมจึงมีสิทธิเรียกร้อง ให้นายโทเจ้าสํานักโรงแรมรับผิดในความเสียหายครั้งนี้ได้นั้น รับฟังไม่ได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 ดังกล่าวข้างต้น

สรุป

นายโทไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเอก และข้อต่อสู้ของนายโทรับฟังได้ ส่วน ข้อต่อสู้ของนายเอกรับฟังไม่ได้

Advertisement