การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 วารินยืมรถตู้ของอํานาจเพื่อนําไปทํารถรับขนคนโดยสารมีกําหนด 6 เดือน โดยไม่ได้แจ้งให้อํานาจทราบว่าจะเอาไปใช้อย่างไร แต่วารินนํารถตู้ที่ยืมมาให้ผาแต้มเช่าขับรับคนโดยสาร ผ่านไป 2 เดือนอํานาจรู้ถึงการกระทําของวาริน ดังนี้ อํานาจเรียกรถตู้คืนจากวารินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่วารินยืมรถตู้ของอํานาจไปทํารถขับรับคนโดยสารมีกําหนด 6 เดือนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ประกอบมาตรา 641 วารินผู้ยืมจึงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถตู้ตามที่ ตกลงไว้กับอํานาจ คือ เอาไปทํารถรับขนคนโดยสาร

และตามมาตรา 645 กฎหมายได้กําหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืน ทรัพย์สินที่ยืมได้ ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 เช่น การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้ เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วารินได้นํารถตู้ไปให้ผาแต้มเช่าขับรับคนโดยสาร กรณีนี้จึงถือว่า วาริน ได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 แล้ว คือ เป็นการนําทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย ดังนั้น อํานาจผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา 645 คือ บอกเลิกสัญญาและเรียกรถตู้คืนจากวารินได้แม้จะยังไม่ครบกําหนด 6 เดือนก็ตาม

สรุป

อํานาจสามารถเรียกรถตู้คืนจากวารินได้

 

ข้อ 2. นายกิ่งยืมเงินนายขิงเป็นเงิน 2,000.01 บาท โดยทําเป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือของตนว่า “ข้าพเจ้านายกิ่ง นามสกุลไผ่สีทอง ได้ยืมเงินนายขิงเป็นจํานวนเงิน 2,000.01 บาท และจะให้ดอกเบี้ยจํานวน ร้อยละ 15.01 ต่อปี” ซึ่งหนังสือกู้ยืมดังกล่าวนายกิ่งเขียนด้วยลายมือชื่อตนเองเท่านั้น ไม่ได้มี ลายเซ็น ต่อมานายกิ่งได้นําเงินไปคืนนายขิงจํานวน 2,000.01 บาท โดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใด ๆ ส่วนดอกเบี้ยนั้นนายกิ่งได้พูดกับนายขิงว่ายังไม่มี เดือนหน้าจะให้ ดังนี้ การคืนเงินของนายกิ่งมีผล เป็นอย่างไร สมบูรณ์หรือไม่เพียงใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

ตามอุทาหรณ์

การที่นายกิ่งยืมเงินนายขิงเป็นเงิน 2,000.01 บาท ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทนั้น เมื่อนายกิ่งได้ทําเป็นหนังสือแต่ไม่ได้เซ็นชื่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ถือว่าการกู้ยืมเงินระหว่างนายกิ่ง และนายจึงมีผลสมบูรณ์ เพียงแต่จะนําไปฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้เท่านั้น

เมื่อการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 653 วรรคสอง กล่าวคือเมื่อนายกิ่งลูกหนี้ได้นําเงินไปคืนให้แก่นายชิง การคืนเงินของนายกิ่งก็มีผลสมบูรณ์ แม้จะไม่มี หลักฐานการคืนเงินใด ๆ เพราะนายกิ่งไม่จําต้องนําสืบถึงการใช้เงินตามกรณีพิบัญญัติไว้ในมาตรา 653 วรรคสอง แต่อย่างใด

สําหรับดอกเบี้ยซึ่งนายกิ่งตกลงว่าจะจ่ายให้แก่นายชิงในอัตราร้อยละ 15.01 ต่อปี ซึ่งเกินกว่า ร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 654 ในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด (ตามมาตรา 654 ประกอบ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา)

สรุป

การคืนเงินของนายกิ่งจํานวน 2,000.01 บาท มีผลสมบูรณ์ ส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะทั้งหมด

 

ข้อ 3 นายดําเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะลงทะเบียนเข้าพักนายดํากรอกชื่อที่อยู่และเซ็นชื่อของผู้เข้าพักลงในใบลงทะเบียน และปรากฏว่าข้อความในใบลงทะเบียนดังกล่าวว่า “โรงแรมจะไม่รับผิดชอบในทรัพย์สิน สิ่งของมีค่า หรือธนบัตรซึ่งอาจเกิดการสูญหาย” ต่อมาใน ระหว่างนายดําพักอยู่ที่โรงแรมแห่งนี้ รถยนต์ของนายดําที่จอดไว้บริเวณลานจอดรถของโรงแรม ถูกขโมยไป นายดําแจ้งต่อนายขาวผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมทราบทันที และขอให้นายเหลืองผู้เป็นเจ้าสํานักชดใช้เงินจํานวน 300,000 บาท ตามราคารถยนต์ที่หายไปคืนหากนายเหลืองไม่สามารถ ติดตามรถยนต์มาคืนแก่นายดําได้ นายเหลืองต่อสู้ว่านายดําได้รับทราบข้อความยกเว้นความรับผิด ของโรงแรมแล้ว และเซ็นชื่อไว้ในใบลงทะเบียนเข้าที่พัก จึงไม่สามารถเรียกร้องให้เจ้าสํานักรับผิดได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของโรงแรมรับฟังได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

มาตรา 677 “ถ้ามีคําแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านี้ เป็น ข้อความยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดของเจ้าสํานักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัย จะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดดังว่านั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลาย ที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้น เพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 วรรคแรก ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อรถยนต์ของนายดําแขกอาศัยที่จอดไว้บริเวณลานจอดรถของโรงแรมถูกขโมยไป และนายดํา ได้แจ้งต่อนายขาวผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมทราบทันที นายเหลืองผู้เป็นเจ้าสํานักจึงต้องรับผิดต่อนายดําใน ความสูญหายของทรัพย์สินดังกล่าว

สําหรับความรับผิดของนายเหลืองเจ้าสํานักโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายดํานั้น เมื่อ รถยนต์เป็นทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป แม้จะมีราคาสูงก็มิใช่ของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง ดังนั้น นายเหลือง เจ้าสํานักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายดําเต็มตามราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปคือ 300,000 บาท

ส่วนข้อต่อสู้ของโรงแรมเรื่องที่นายดํากรอกรายละเอียด ชื่อ ที่อยู่ และเซ็นชื่อในใบลงทะเบียน เข้าพัก และในใบลงทะเบียนดังกล่าวมีข้อยกเว้นความรับผิดในเรื่องการสูญหายของทรัพย์สินมีค่าหรือธนบัตร ปรากฏอยู่ด้วยนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่โรงแรมทําขึ้นฝ่ายเดียว และไม่ปรากฏว่านายดําได้ตกลงด้วย โดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดนั้น ข้อความในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 677 นายเหลืองผู้เป็น เจ้าสํานักจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ข้อต่อสู้ของโรงแรมจึงรับฟังไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของโรงแรมรับฟังไม่ได้

Advertisement