การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ปลาม้ายืมบ้านของปลาดาวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีกําหนดสองปี แต่ปลาม้าแบ่งห้อง ๆ หนึ่งให้ชะเมาเช่า ระหว่างที่ชะเมาเช่าอยู่นั้นชะเมาประมาททําไฟไหม้บ้านเสียหาย ดังนี้ปลาดาวจะบอกเลิกสัญญาให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกําหนดและเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคล อีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอย เสร็จแล้ว”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ปลาม้าผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยบ้านเป็นที่อยู่อาศัยได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่จะต้องสงวนรักษา ทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าเอาบ้านที่ยืมมาแบ่งให้ ชะเมาเช่า ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย ซึ่งเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของ ผู้ยืมตามมาตรา 643 ย่อมเป็นเหตุให้ปลาดาวผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมได้ตามมาตรา 645 และให้ปลาม้า คืนบ้านก่อนครบกําหนดได้ แม้สัญญายืมนั้นจะมีกําหนดระยะเวลาไว้ก็ตาม

และในกรณีที่ปลาม้าผู้ยืมเอาบ้านที่ยืมมาแบ่งให้ชะเมาเช่า และชะเมาประมาททําให้ไฟไหม้บ้าน เสียหาย ปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามมาตรา 643 เพราะเป็นกรณี ที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมโดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย จึงต้องรับผิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินนั้น

สรุป

ปลาดาวสามารถบอกเลิกสัญญาให้ปลาม้าคืนบ้านก่อนกําหนด และเรียกเอาค่าทดแทน ความเสียหายได้

 

ข้อ 2 นายกระทาได้ยืมเงินจํานวน 3,000 บาท และได้ยืมข้าวโพดจํานวน 1 ตัน จากนายกระสา โดยทําเป็นหนังสือสัญญามีความว่า ข้าพเจ้านายกระทาได้รับเงินจากนายกระสาจํานวน 3,000 บาท พร้อมด้วยข้าวโพดหนัก 1 ตันแล้ว ข้าพเจ้าจะส่งมอบทรัพย์ที่ได้ยืมมาทั้งสองอย่างคืน หลังจากนี้ ภายในเวลา 2 ปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ดังนี้ หากนายกระทาได้ลงลายมือชื่อ ในสัญญาเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่เรียกกันว่า Peter แล้วผลของสัญญายืมดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และ ปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกระทาได้ยืมเงินจํานวน 3,000 บาท และได้ยืมข้าวโพดจํานวน 1 ตัน จากนายกระสานั้น ถือว่าเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา 650 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการส่งมอบ ทรัพย์สินที่ยืมกันแล้ว สัญญายืมเงินและสัญญายืมข้าวโพดจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายตามมาตรา 650 วรรคสอง

กรณีการกู้ยืมเงินตามมาตรา 653 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไปจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ ซึ่งการลง ลายมือชื่อผู้ยืมนั้นผู้ยืมอาจเขียนเป็นชื่อตัวเอง หรือลายเซ็นก็ได้ และอาจจะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่น และจะเป็น ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้ ดังนั้นหนังสือสัญญาที่นายกระสาได้ลงลายมือชื่อในสัญญาโดยลงเป็นชื่อเล่น และเป็นภาษาอังกฤษว่า Peter นั้น ย่อมถือว่าเป็นหนังสือสัญญายืมเงินที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

ส่วนกรณีที่มีการตกลงกันว่า จะชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปีนั้น ในกรณีที่เป็นการ กู้ยืมเงินนั้นในส่วนของดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะเป็นการกําหนดดอกเบี้ยเกินกว่าที่ กฎหมายกําหนดคือเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา) แต่ในกรณีการยืมข้าวโพดนั้น ไม่ถือเป็นดอกเบี้ยแต่เป็นค่าตอบแทน จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

สรุป

สัญญายืมเงินและสัญญายืมข้าวโพดมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับกันได้ แต่ในส่วนดอกเบี้ยของสัญญายืมเงินนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด

 

ข้อ 3 นายเอกเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย มีนายโทเป็นเจ้าสํานักผู้ควบคุมกิจการโรงแรมนายเอกได้ถอดสร้อยคอทองคําหนัก 3 บาท แขวนพระ 1 องค์ (โดยเฉพาะพระมีมูลค่า 8,000 บาท) วางไว้ในห้องพัก ต่อมาก่อนออกไปธุระข้างนอก นายเอกได้แยกสร้อยคอทองคําออกจากพระเครื่อง แล้วนําสร้อยคอติดตัวไป ส่วนพระเครื่องวางไว้ในห้องพัก เมื่อกลับมาพบว่าพระเครื่องหายไป จึงแจ้งนายโทเจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที เพื่อให้นายโทชดใช้ราคาพระเครื่อง 8,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่เจ้าสํานักโรงแรมต้องรับผิดชอบต่อนายเอกหรือไม่ หากเจ้าสํานักต้องรับผิดจะต้องรับผิดจํานวนเท่าไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง…”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

วินิจฉัย

โดยหลัก เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลาย ที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้น เพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อปรากฏว่าพระเครื่องราคา 8,000 บาทของนายเอกคนเดินทางหรือ แขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วยหายไป และนายเอกได้แจ้งให้นายโทเจ้าสํานักโรงแรมทราบทันทีแล้ว นายโทจึงต้อง รับผิดชอบชดใช้ให้แก่นายเอกตามมาตรา 674 และมาตรา 676

แต่อย่างไรก็ตาม การที่พระเครื่องที่หายไปนั้น ถือว่าเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง เมื่อนายเอกมิได้มีการนํามาฝากและบอกราคาแห่งของนั้น ดังนั้นนายโทจึงรับผิดเพียง 5,000 บาท

สรุป

นายโทเจ้าสํานักโรงแรมต้องรับผิดชอบต่อนายเอกในกรณีที่พระเครื่องของนายเอกหายไป แต่จะรับผิดชอบเพียง 5,000 บาทเท่านั้น

 

 

Advertisement