การสอบไล่ภาค  2   ปีการศึกษา  2552

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

Advertisement

 ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าตึกเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา  5  ปี  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี แดงได้ขายตึกแถวนี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  มืดเป็นผู้ไปเก็บค่าเช่ากับขาวทุกๆวันสิ้นเดือน  ตามสัญญาเช่าที่ได้ตกลงระหว่างแดงและขาว  และขาวอยู่ในตึกแถวครบ  3  ปีแล้ว  มืดก็มิว่ากระไรในระหว่างปีที่  4  ซึ่งตรงกับปี  2552  
ขาวนำค่าเช่ามาให้มืดทุกๆสิ้นเดือนตามปกติ  ครั้นสิ้นเดือนธันวาคม  2552  ขาวนำค่าเช่าไปชำระให้มืด  มืดรับค่าเช่าไว้แต่ได้ขอบอกเลิกสัญญากับขาวและให้ขาวออกจากตึกแถวไปในวันที่  15  มกราคม  2553  แต่ขาวไม่ยอมออกจากตึกแถวนี้จนถึงวันที่  12  กุมภาพันธ์  2553  มืดจึงฟ้องขับไล่ขาวออกจากตึกแถว  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด
 ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

  มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวได้ทำเป็นหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว  ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยแต่อย่างใด  สัญญาเช่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะ  แต่กฎหมายให้ถือว่าสัญญาเช่าที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่  3  ปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาเช่าได้แต่เพียง  3  ปี  ตามมาตรา  538  เท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขาวเช่าตึกได้เพียง  1 ปี  แดงได้ยกตึกแถวนั้นให้มืด  ดังนี้สัญญาเช่าไม่ระงับ  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  กล่าวคือต้องให้ขาวเช่าจนครบ  3  ปี  ตามสัญญา  ส่วนการที่ขาวอยู่ครบ  3  ปีแล้วยังอยู่ต่อมาอีกจนถึงปีที่  4  แม้ไม่ได้ทำสัญญาใหม่ก็ตาม  การเช่าระหว่างมืดกับขาวก็เป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570  ข้อตกลงต่างๆจึงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม

อนึ่ง  มืดสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลาได้ตามมาตรา  566  แม้ขาวจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเลยก็ตาม  แต่การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  2  เดือน

เมื่อกำหนดชำระค่าเช่าตกลงกันทุกๆวันสิ้นเดือน  การที่มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่  31  ธันวาคม  2552  (สุดระยะอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่า)  ฉะนั้นมืดจะต้องให้เวลาขาวอีกชั่วระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  คือครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2553  แต่เมื่อมืดให้เวลาขาวเพียง  15  วันจึงไม่ชอบ  แต่อย่างไรก็ดี  การบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวก็หาตกเป็นโมฆะไม่  เมื่อมืดฟ้องขับไล่ขาวในวันที่  12  กุมภาพันธ์  2553  ซึ่งเลยวันที่  31  มกราคม  2553  มาแล้ว  กรณีจึงถือว่าการกระทำของมืดชอบด้วยมาตรา  566

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าบ้านหนึ่งหลังมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าตกลงให้เหลืองเช่าบ้านสำหรับทำเป็นร้านเสริมสวยเท่านั้นและตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  15 และวันที่  28  ของแต่ละเดือน  โดยชำระค่าเช่าคราวละ  10,000  บาท  ในระหว่างที่เหลืองเช่าอยู่ในปีที่  2  ปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  28  มกราคม  2553  ดังนั้นในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  หากปรากฏว่าในระหว่างปีที่  2  นั้น  เหลืองเลิกทำร้านเสริมสวย  แต่เหลืองได้เปลี่ยนเป็นทำบ้านเช่าเป็นสถานบริการ  อาบ  อบ  นวด  แทน  น้ำเงินเห็นว่าเหลืองผิดสัญญา  จึงบอกเลิกสัญญาในทันที  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าการชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เช่น  รายสองเดือนหรือรายปี  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้  แต่ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าน้อยกว่าเดือน  เช่น  รายวัน  รายสัปดาห์  กรณีเช่นนี้  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาระหว่างน้ำเงินและเหลืองมีการตกลงชำระค่าเช่าทุกวันที่  15  และวันที่  28  ของแต่ละเดือน  ซึ่งถือว่าต่ำกว่ารายเดือน  เมื่อปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าในวันที่  28  มกราคม  2553  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้ทันที  เพราะกรณีดังกล่าวต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคแรก  ที่ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนแต่อย่างใด

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองเปลี่ยนจากร้านเสริมสวยมาเป็นสถานบริการ  อาบ  อบ  นวด  การกระทำของเหลืองดังกล่าวไม่ถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ที่น้ำเงินจะสามารถบอกเลิกสัญญาได้  ทั้งนี้แม้ในสัญญาจะกำหนดให้เช่าบ้านโดยทำเป็นร้านเสริมสวยเท่านั้น  ก็จะถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ไม่ได้เป็นแต่เพียงผิดสัญญาธรรมดา  จึงบอกเลิกสัญญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  574 วรรคแรกไม่ได้  ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3 

(ก)    นายสมคิดเป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างเดือนละ  10,000  บาท  โดยนายจ้างจะชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาจ้างนายสมคิดเป็นสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลา  นายสมคิดได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงาน  3  วันต่อนายจ้าง  แต่นายจ้างไม่อนุญาต  แต่นายสมคิดก็หยุดงานไปตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสเพื่อไปจัดงานสมรสให้บุตรสาวที่ต่างจังหวัด  นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่  31  มีนาคม  โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า  แต่นายสมคิดต่อสู้ว่าไม่ถูกต้อง  เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    ตามสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  จะมีโทษอย่างไร  และมีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดหรือไม่  แม้ว่าจะส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลา  ที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสมคิดยื่นหนังสือขอลาหยุดงาน  3  วันต่อนายจ้าง  แต่นายจ้างไม่อนุญาต  และนายสมคิดก็หยุดงานไปตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัส  ดังนี้  แม้นายสมคิดจะได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงานแล้ว  แต่เมื่อนายจ้างยังไม่อนุญาต  จึงต้องถือว่าการที่นายสมคิดหยุดงานวันจันทร์ถึงวันพฤหัส  เป็นการละทิ้งการงานไปเสีย  ตามมาตรา  583  ซึ่งนายจ้างสามารถไล่ออกได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด

สรุป  การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ข  อธิบาย

ตามมาตรา  596  กำหนดว่า  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น  จะมีโทษคือ

1       ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลงได้  หรือ

2       ถ้าสาระสำคัญอยู่ที่เวลา  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ดี  ถ้าความชักช้าในการที่ทำเกิดขึ้นเพราะสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างส่งให้  หรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง  กรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ  หรือคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง  และมิได้บอกกล่าวตักเตือน  (มาตรา  591)

อนึ่ง  แม้ว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานที่ทำให้ผู้ว่าจ้างภายหลังกำหนดเวลาในสัญญา  หรือภายหลังเวลาอันควรในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาในสัญญาไว้  และผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ทำนั้นโดยมิได้อิดเอื้อน  กรณีเช่นนี้  ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อการส่งมอบล่าช้า  (มาตรา  597)

Advertisement