การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร (มาตรา 210 วรรคหนึ่ง) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง

Advertisement

ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นซ่องโจร…”

จากหลักประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า กรณีที่จะเป็นความผิด ฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบของความผิด ดังต่อไปนี้ คือ
1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

1. สมคบกัน การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้นั้นจะต้องมีการสมคบกัน ซึ่ง “การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(1) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(2) จะต้องมีการตกลงใจร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

ดังนั้นถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่ถือว่าเป็นการสมคบกัน เช่น ร่วมปรึกษากัน 8 คน เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ แต่มีผู้ตกลงใจที่จะร่วมปล้นทรัพย์เพียง 5 คน ดังนี้เฉพาะ 5 คนนี้เท่านั้นที่ถือว่ามีการสมคบกัน

2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การสมคบกันที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้า ต่ํากว่า 5 คนแล้วย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร

3. เพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้น มีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป บุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปสมคบกันเพื่อกระทําความผิดนั้น จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรได้ จะต้องมีเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้เท่านั้น คือตั้งแต่มาตรา 107 – มาตรา 366 (ภาคความผิด) เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดตามกฎหมายอื่น แม้ระวางโทษหนักเพียงใด ก็ไม่ถือเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร และนอกจากนี้ความผิดนั้นจะต้องมีโทษอย่างสูง ตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

ตัวอย่าง นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือ และ ตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้า แต่ยังไม่ทันได้ขายบุคคลทั้งห้าก็ถูกตํารวจจับเสียก่อน ดังนี้ แม้จะมีการสมคบกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิด แต่ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ซึ่งมิใช่ความผิด

อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ความผิดนั้นจะกําหนดโทษจําคุก อย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปก็ตาม ดังนั้นบุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

4. โดยเจตนา ผู้กระทําต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาที่จะสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่ กระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรนี้ถือเป็นความผิดสําเร็จทันทีตั้งแต่ มีการสมคบกัน แม้ผู้สมคบนั้นจะยังมิได้กระทําความผิดตามที่สมคบกันก็ตาม

ตัวอย่าง นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า จะเข้าปล้นบ้านของนายดํา ซึ่งทั้ง 5 คนตกลงเห็นด้วย แต่ก่อนที่จะเข้าปล้นบ้านของนายดําทั้ง 5 คน ถูกตํารวจ จับได้เสียก่อน ดังนี้ถือว่าทั้ง 5 คน มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่งแล้ว

(ข) อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน (มาตรา 149) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 149 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือ สมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิก
สภาเทศบาล
2. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3. เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4. โดยเจตนา

“เรียก” หมายถึง การที่เจ้าพนักงานฯ แสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดให้ แม้บุคคลนั้นจะยังไม่ได้ส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

“ยอมจะรับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ นอกจากผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 คือ รู้ว่าตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับ ตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบแล้ว ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(ก) เพื่อกระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่าง ร.ต.อ.แดงออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดําฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ ร.ต.อ.แดง ไม่ยอมจับกุมนายดํา นายขาวจึงยื่นเงินให้ ร.ต.อ.แดง 10,000 บาท เพื่อให้จับกุมนายดํา ร.ต.อ.แดงรับเงินมาแล้ว จึงจับกุมนายดําส่งสถานีตํารวจเพื่อดําเนินคดี ดังนี้ ร.ต.อ.แดงย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตาม มาตรา 149

(ข) เพื่อไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่าง นายเอกเป็นตํารวจจราจรกําลังตั้งด่านตรวจ พบเห็นนายโทขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อก จึงเรียกให้จอดรถ แล้วบอกกับนายโทว่า “ถ้าไม่อยากถูกออกใบสั่ง ขอเงินให้ตน 500” ดังนี้ แม้นายโทจะไม่ได้ให้เงินตามที่นายเอกบอก นายเอกก็มีความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตามมาตรา 149 แล้ว

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องโทษ (มาตรา 189) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 189 “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษ…”

องค์ประกอบความผิดฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189 ประกอบด้วย
1. ผู้ใด
2. ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด
3. ความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดลหุโทษ
4. โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
5. เพื่อไม่ให้ต้องโทษ
6. กระทําโดยเจตนา

การกระทําความผิดตามมาตรานี้ คือ ช่วยผู้อื่น ซึ่งการช่วยนั้นจะต้องทําโดยให้ที่พํานักโดย ซ่อนเร้น หรือโดยช่วยด้วยประการใด
คําว่า “ให้พํานัก” หมายถึง ให้ที่พักอาศัยจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เช่น ให้อยู่ในบ้าน คําว่า “ซ่อนเร้น” หมายถึง ปกปิดมิให้เจ้าพนักงานทราบ เช่น พาไปหลบในที่ลับตา

คําว่า “ช่วยด้วยประการใด” หมายถึง ช่วยเหลือผู้กระทําความผิดหรือผู้ต้องหาในทุก ๆ วิธี เช่น การช่วยดูต้นทาง การให้สัญญาณให้ผู้นั้นหลบซ่อนจะได้ไม่ต้องถูกจับ เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับการช่วยตามมาตรานี้ต้องเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ช่วยตนเอง และผู้อื่นนี้จะต้องเป็นผู้กระทํา ความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดในขณะที่ช่วยนั้นด้วย

คําว่า “ผู้กระทําความผิด” หมายถึง ผู้กระทําความผิดที่มีโทษทางอาญา โดยไม่จําเป็นที่จะต้องถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด เพียงแต่มีมูลเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นกระทําความผิดก็เพียงพอแล้ว

คําว่า “ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด” หมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล เช่น ผู้ที่ถูกศาลออกหมายจับ

ผู้ช่วยผู้กระทําความผิดจะมีความผิดตามมาตรา 189 นี้ ต้องเป็นการช่วยผู้กระทําความผิดหรือ ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดที่มิใช่ความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้ช่วยเหลือจะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ตนช่วยนั้นไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมด้วย กล่าวคือ จะต้องมีเจตนาพิเศษทั้งสองอย่าง

ผู้ช่วยเหลือจะต้องกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาในการช่วยเหลือ รวมทั้ง รู้ข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นเป็นผู้กระทําความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด

ตัวอย่าง แดงใช้อาวุธมีดแทงดําตาย แล้ววิ่งหนีตํารวจมาบ้านขาวซึ่งเป็นเพื่อนกัน แดงพูด กับขาวว่าเพิ่งแทงคนตายช่วยหน่อย ขาวจึงให้แดงเข้ามาหลบในบ้านไม่ให้ตํารวจจับ ดังนี้ขาวย่อมมีความผิดฐาน ช่วยผู้กระทําผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมโดยให้พํานักซ่อนเร้นตามมาตรา 189

 

ข้อ 3. ร.ต.อ.ส้มตรวจท้องที่กับ ส.ต.อ.มะม่วงผู้ใต้บังคับบัญชา พบ ก. ข. ค. ง. และ จ. เล่นพนันฟุตบอลผิดกฎหมายจึงเข้าจับกุมทุกคน ระหว่างทางจะนําตัวนักพนันส่งให้ร้อยเวรฯ สอบสวน ร.ต.อ.ส้ม จําได้ว่า ก. เป็นเพื่อนของลูกชายตัวเองจึงพูดกับ ส.ต.อ.มะม่วงว่า หมู่ ปล่อยตัว ก. คนนี้เพื่อนลูกผมคนอื่นเอาตัวส่งร้อยเวรสอบสวน ดังนี้ ร.ต.อ.ส้มจะมีความผิดอาญาอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ หรือเจ้าพนักงานตํารวจตรวจค้นตัวผู้ต้องสงสัย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับคุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่ง เป็นต้น

ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุจูงใจพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหาย ก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําได้ปฏิบัติหน้าที่ นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.ส้มพูดกับ ส.ต.อ.มะม่วงผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปล่อยตัว ก. ส่วนคนอื่นเอาตัวส่งร้อยเวรสอบสวนนั้น เป็นการสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชา เมื่อ ร.ต.อ.ส้มเป็นเจ้าพนักงานตํารวจมีหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทําความผิด และทราบดีว่า ก. เป็นผู้กระทําความผิด ซึ่ง ร.ต.อ.ส้มไม่มีอํานาจสั่งปล่อยได้ แต่ ร.ต.อ.ส้มกลับสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปล่อยตัวผู้กระทําความผิด การกระทํา ของ ร.ต.อ.ส้มจึงถือว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว และเมื่อเป็นการกระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบตามมาตรา 157 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ร.ต.อ.ส้มจึงม ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 (เทียบฎีกาที่ 13312/2557)

สรุป ร.ต.อ.ส้มมีความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

 

ข้อ 4. นายดําขับรถยนต์จะมาสอบวิชากฎหมายอาญา 2 ภาคฤดูร้อน ที่มหาวิทยาลัยรามคําแหง รถติดมากจึงขับรถฝ่าไฟแดงที่สี่แยกลําสาลี จ.ส.ต.ขยันตํารวจจราจรที่ปล่อยรถแยกลําสาลี่เห็นเหตุการณ์ เรียกให้หยุดรถ ขอดูใบขับขี่ แจ้งให้ทราบว่าขับรถผิดกฎจราจร ควักใบสั่งออกมาจะเขียนให้นายดํา นายดํายื่นเงินให้ จ.ส.ต.ขยัน 100 บาท แล้วพูดว่า จ่าฯ ผมมีแค่นี้ เอาไปเถอะแล้วปล่อยผม ผมจะ รีบไปสอบ จ.ส.ต.ขยัน ส่ายหน้าไม่รับเงิน นายดําโกรธพูดว่าไอ้จ่าฯ ไอ้หน้าโง่ ดังนี้ นายดําจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4. โดยเจตนา

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําได้ยื่นเงินให้ จ.ส.ต.ขยันเพื่อให้ปล่อยตัวนายดําเนื่องจากขับรถ ผิดกฎจราจรนั้น แม้ว่า จ.ส.ต.ขยันจะไม่รับเงิน แต่การกระทําของนายดําถือว่าเป็นการเสนอจะให้ซึ่งเป็นการ “ขอให้” ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่แล้ว และเมื่อนายดําได้กระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผล การกระทําของนายดําจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 ดังนั้น ในส่วนนี้นายดําจึงมีความผิดอาญาฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

ส่วนการที่นายดําพูดกับ จ.ส.ต.ขยันว่า “ไอ้จ่า ไอ้หน้าโง่” นั้น ถือว่าเป็นคําพูดที่เป็นการดูถูก เหยียดหยาม จ.ส.ต.ขยัน จึงเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกําลังกระทําการตามหน้าที่ และเมื่อเป็นการกระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 ดังนั้น ในส่วนนี้นายดําจึงมี ความผิดอาญาฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

สรุป
นายดํามีความผิดอาญาฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 และมีความผิด ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

Advertisement