การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร (มาตรา 210 วรรคแรก) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูง ตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นซ่องโจร…”

จากหลักประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 วรรคแรก จะเห็นได้ว่า กรณีที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบของความผิด ดังต่อไปนี้ คือ

1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

1. สมคบกัน
การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้นั้นจะต้องมีการสมคบกัน ซึ่ง “การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(1) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(2) จะต้องมีการตกลงใจร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

ดังนั้นถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมไม่ถือว่าเป็นการสมคบกัน เช่น ร่วมปรึกษากัน 8 คน เพื่อจะไปปล้นทรัพย์ แต่มีผู้ตกลงใจที่จะร่วมปล้นทรัพย์เพียง 5 คน ดังนี้เฉพาะ 5 คนนี้เท่านั้นที่ถือว่ามีการสมคบกัน

2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
การสมคบกันที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่า 5 คนแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร

3. เพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้น มีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

บุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปสมคบกันเพื่อกระทําความผิดนั้น จะเป็นความผิดฐานเป็น ซ่องโจรได้ จะต้องมีเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้เท่านั้น คือตั้งแต่มาตรา 107 – มาตรา 366 (ภาคความผิด) เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดตามกฎหมายอื่น แม้ระวางโทษหนักเพียงใด ก็ไม่ถือเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร และนอกจากนี้ความผิดนั้นจะต้องมีโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปี ขึ้นไปด้วย

ตัวอย่าง นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือ และ ตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้า แต่ยังไม่ทันได้ขายบุคคลทั้งห้าก็ถูกตํารวจจับเสียก่อน ดังนี้ แม้จะมีการสมคบกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิด แต่ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดฯ ซึ่งมิใช่ความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แม้ความผิดนั้นจะกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปก็ตาม ดังนั้นบุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

4. โดยเจตนา
ผู้กระทําต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาที่จะสมคบกันเพื่อกระทําความผิด อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่กระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรนี้ถือเป็นความผิดสําเร็จทันทีตั้งแต่ มีการสมคบกัน แม้ผู้สมคบนั้นจะยังมิได้กระทําความผิดตามที่สมคบกันก็ตาม

ตัวอย่าง นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี และนายห้า ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า จะเข้าปล้นบ้านของนายดํา ซึ่งทั้ง 5 คนตกลงเห็นด้วย แต่ก่อนที่จะเข้าปล้นบ้านของนายดําทั้ง 5 คน ถูกตํารวจ จับได้เสียก่อน ดังนี้ถือว่าทั้ง 5 คน มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรกแล้ว

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต (มาตรา 157) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
มาตรานี้ กฎหมายบัญญัติการกระทําอันเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อย ให้รับสารภาพ เป็นต้น
“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การงดเว้นกระทําการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น

ดังนั้นถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่ หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จําเป็นว่า ต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอ ที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
3. โดยทุจริต
4. โดยเจตนา

“โดยทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเอง หรือผู้อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทําขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคํานึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทําโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

“ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจํานวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว มิได้นําเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดําเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ 3. มะม่วงขอยืมเงินมะนาวเพื่อไปใช้หนี้พนันฟุตบอล มะนาวไม่ให้ยืมเพราะเคยเตือนมะม่วงไม่ให้เล่นการพนันแล้วแต่ไม่เชื่อ มะม่วงโกรธจึงไปแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.มะพร้าว พนักงานสอบสวนที่ สถานีตํารวจว่าถูกมะนาวล้วงกระเป๋าเอาเงินไปหมดตัว ตอนเที่ยงวันวันที่ฟุตบอลไทยเตะกับเวียดนาม ที่สนามกีฬาราชมังคลาฯ ดังนี้ มะม่วงจะมีความผิดอาญาฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทําความผิด ต้องระวางโทษ”

มาตรา 174 “ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทําต้องระวางโทษ

ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรกเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทําต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้

1. รู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น
2. แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา 3. ว่าได้มีการกระทําความผิด
4. โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้ หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มะม่วงรู้ว่าไม่มีการกระทําความผิดอาญาเกิดขึ้น คือรู้ว่าไม่มีการลักทรัพย์ล้วงกระเป๋าเอาเงินของตนไป แต่ไปแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.มะพร้าวพนักงานสอบสวนว่าตัวเองถูกลักทรัพย์ล้วงกระเป๋า และเมื่อมะม่วงได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของมะม่วงจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ดังนั้น มะม่วงจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173

และเมื่อการที่มะม่วงได้แจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวได้ระบุด้วยว่ามะนาวเป็นผู้ล้วงกระเป๋าของตน จึงเป็นการแจ้งความอาญาเท็จเพื่อจะแกล้งให้มะนาวต้องรับโทษ การกระทําของมะม่วงจึงต้องด้วยเหตุ ฉกรรจ์ตามมาตรา 174 วรรคสอง ดังนั้น มะม่วงจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 174 วรรคสอง

สรุป
มะม่วงมีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173 และต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 174 วรรคสอง

 

ข้อ 4.แดงขับรถยนต์ฝ่าไฟแดงที่สี่แยกลําสาลี จ.ส.ต.เหลืองตํารวจจราจรเห็นเหตุการณ์จึงเรียกให้แดงหยุดรถขอดูใบขับขี่รถยนต์ พร้อมพูดว่าฝ่าไฟแดงไปโรงพักเสีย 400 บาท ถ้าให้จ่าฯ ตรงนี้เงียบ ๆ เอาแค่ 200 บาท ว่าไง แดงกลัวเสียเวลาทําธุระส่วนตัวจึงหันมายืมเงินเขียวซึ่งนั่งอาศัยรถของแดง มา 200 บาท แล้วยื่นเงินนี้ให้ จ.ส.ต.เหลือง จ.ส.ต.เหลืองรับเงินไป ดังนี้ จ.ส.ต.เหลือง และแดง มีความผิดอาญาอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 149 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิดได้ดังนี้

1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ 5. โดยเจตนา

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
2. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3. เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ จ.ส.ต.เหลือง และแดงจะมีความผิดอาญาอย่างไร หรือไม่แยกวินิจฉัย ได้ดังนี้

กรณีของ จ.ส.ต.เหลือง
การที่ จ.ส.ต.เหลืองตํารวจจราจรซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเรียกเงิน 200 บาท จากแดงเพื่อแลกกับการไม่จับแดงที่ขับรถยนต์ฝ่าไฟแดง ถือว่า จ.ส.ต.เหลืองเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับเอาทรัพย์สินเพื่อกระทําการในตําแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ และได้กระทําโดยเจตนาจึงครบองค์ประกอบของ ความผิดตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ ดังนั้น จ.ส.ต.เหลือง จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ตามมาตรา 119

กรณีของแดง
การที่แดงยื่นเงินให้ จ.ส.ต.เหลือง 200 บาทนั้น ถือเป็นการให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และได้กระทําโดยเจตนาจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ดังนั้นแดงจึงมีคามผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

สรุป
จ.ส.ต.เหลืองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149
แดงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

Advertisement