การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

Advertisement

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิดได้ดังนี้

1. ผู้ใด
2. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
3. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
4. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
5. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
6. กระทําโดยเจตนา

“ให้” หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทําได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

“ขอให้” หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงว่าจะรับก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับว่าจะให้” หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทําก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสําเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น จะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสําคัญ

สิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน แหวน รถยนต์ เป็นต้น หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถโดยไม่เสียค่าเช่า หรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น

การกระทําตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทําต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้น และบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทําต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอํานาจหน้าที่หรือพ้นจากอํานาจหน้าที่ย่อมไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงาน หรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทําไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุ ชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ

(ก) ให้กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตํารวจจับคนที่ไม่ได้กระทําความผิด
(ข) ไม่กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตํารวจจะจับกุม ผู้กระทําผิด จึงให้เงินแก่ตํารวจนั้นเพื่อไม่ให้ทําการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทํา อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน
ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจไม่จับกุมผู้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยให้เงินตํารวจ เพื่อให้ทําการจับกุม กรณีนี้จําเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สิน มีมูลเหตุจูงใจให้กระทําการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกลูกสาวของตน ให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตกลงตามที่นายแดงเสนอ เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อันใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 อันเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจําเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยาน ตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวให้ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง ดังนี้นายแดง ไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อันใดเพื่อจูงใจให้กระทําการด้วยหน้าที่อันมิชอบ (คําพิพากษาฎีกาที่ 439/2469)

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องโทษ (มาตรา 189) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 189 “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พํานักแก่ผู้นั้นโดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
องค์ประกอบความผิดฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189 ประกอบด้วย

1. ผู้ใด
2. ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด
3. ความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดลหุโทษ
4. โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
5. เพื่อไม่ให้ต้องโทษ
6. กระทําโดยเจตนา

การกระทําความผิดตามมาตรานี้ คือ ช่วยผู้อื่น ซึ่งการช่วยนั้นจะต้องทําโดยให้ที่พํานักโดย ซ่อนเร้น หรือโดยช่วยด้วยประการใด

คําว่า “ให้พํานัก” หมายถึง ให้ที่พักอาศัยจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เช่น ให้อยู่ในบ้าน คําว่า “ซ่อนเร้น” หมายถึง ปกปิดมิให้เจ้าพนักงานทราบ เช่น พาไปหลบในที่ลับตา

คําว่า “ช่วยด้วยประการใด” หมายถึง ช่วยเหลือผู้กระทําความผิดหรือผู้ต้องหาในทุก ๆ วิธี เช่น การช่วยดูต้นทาง การให้สัญญาณให้ผู้นั้นหลบซ่อนจะได้ไม่ต้องถูกจับ เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับการช่วยตามมาตรานี้ต้องเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ช่วยตนเอง และผู้อื่นนี้จะต้องเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดในขณะที่ช่วยนั้นด้วย

คําว่า “ผู้กระทําความผิด” หมายถึง ผู้กระทําความผิดที่มีโทษทางอาญา โดยไม่จําเป็นที่จะต้องถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด เพียงแต่มีมูลเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นกระทําความผิดก็เพียงพอแล้ว

คําว่า “ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด” หมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล เช่น ผู้ที่ถูกศาลออกหมายจับ

ผู้ช่วยผู้กระทําความผิดจะมีความผิดตามมาตรา 189 นี้ ต้องเป็นการช่วยผู้กระทําความผิดหรือ ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดที่มิใช่ความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้ช่วยเหลือจะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ตนช่วยนั้นไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมด้วย กล่าวคือ จะต้องมีเจตนาพิเศษทั้งสองอย่าง

ผู้ช่วยเหลือจะต้องกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาในการช่วยเหลือ รวมทั้ง รู้ข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นเป็นผู้กระทําความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด

ตัวอย่าง แดงใช้อาวุธมีดแทงดําตาย แล้ววิ่งหนีตํารวจมาบ้านขาวซึ่งเป็นเพื่อนกัน แดงพูดกับขาวว่าเพิ่งแทงคนตายช่วยหน่อย ขาวจึงให้แดงเข้ามาหลบในบ้านไม่ให้ตํารวจจับ ดังนี้ขาวย่อมมีความผิดฐาน ช่วยผู้กระทําผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมโดยให้พํานักซ่อนเร้นตามมาตรา 139

 

ข้อ 3. นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ จึงลอบเผาบ้านของนายดี ตํารวจดับเพลิงและชาวบ้านช่วยกันดับไฟและนํานายดีออกจากบ้านได้โดยปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย แต่นายดีนึกเสียดายเงินที่ซ่อนไว้ ได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินแล้วออกมาไม่ได้ ถูกไฟลวกถึงแก่ความตายในกองเพลิง ดังนี้ นายโหดมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ”

มาตรา 218 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 224 “ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 หรือ มาตรา 222 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทําต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 218 นั้นในเบื้องต้น การกระทําจะต้อง ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 อันเป็นหลักทั่วไปก่อน คือ
1. ผู้ใด
2. วางเพลิงเผา
3. ทรัพย์ของผู้อื่น
4. โดยเจตนา

เมื่อการกระทําครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 แล้ว จึงมาพิจารณาว่าทรัพย์ที่ วางเพลิงเผานั้นเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218 หรือไม่ ถ้าเป็นแล้ว ผู้กระทํามีความผิดตามมาตรา 218 อัน เป็นลักษณะฉกรรจ์ ต้องรับโทษสูงกว่าโทษที่ระบุไว้ในมาตรา 217

“วางเพลิงเผา” หมายถึง การกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทําด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม แม้จะไหม้เพียงบางส่วนก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว แต่ถ้าหากยังไม่เกิดไฟไหม้ขึ้น ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น

“ทรัพย์ของผู้อื่น” ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเอง หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทํามีความต้องการที่จะเผาทรัพย์นั้นและรู้ว่าทรัพย์ที่เผานั้น เป็นของผู้อื่นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ จึงลอบเผาบ้านของนายดีนั้น ถือได้ว่านายโหดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นโดยเจตนา และเป็นการวางเพลิงโรงเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัย นายโหด จึงมีความผิดตามมาตรา 217 ประกอบมาตรา 218 (1)

แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตํารวจดับเพลิงและชาวบ้านได้ช่วยกันดับไฟ และนํานายดีออกจากบ้านได้โดยปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย แต่นายดีนึกเสียดายเงินที่ซ่อนไว้ จึงได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินออกมา

จนถูกไฟลวกจนถึงแก่ความตายในกองเพลิงนั้น นายโหดหามีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้บุคคลอื่น ถึงแก่ความตายตามมาตรา 224 ไม่ เพราะนายดีถึงแก่ความตายเนื่องจากการวิ่งเข้าไปในบ้านที่เพลิงกําลังไหม้ หาใช่การวางเพลิงของนายโหดอันเป็นเหตุให้นายดีถึงแก่ความตายไม่

สรุป
นายโหดมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งเป็นโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตาม มาตรา 217 ประกอบมาตรา 218 (1)

 

ข้อ 4. จําเลยเป็นเจ้าของบ้านจัดสรร วันเกิดเหตุนาย ก. ไปดูบ้านจัดสรรของจําเลยเพื่อจะหาซื้อไว้สัก 1 หลัง ปรากฏว่านาย ก. เห็นแล้วเกิดชอบในแบบแปลนของบ้านและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง จําเลยบอก กับนาย ก. ว่าบ้านจัดสรรรุ่นนี้น้ำไม่ท่วม นาย ก. ได้ตกลงซื้อไว้ 1 หลัง หลังจากนาย ก. เข้าไปอยู่ ได้เพียง 6 เดือน น้ำเกิดท่วม ข้อเท็จจริงได้ความว่าพื้นที่บริเวณนั้นน้ำท่วมทุกปีซึ่งจําเลยก็ทราบดี

ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 271 “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกําเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามมาตรา 271 ประกอบด้วย
1. ผู้ใด
2. ขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ
3. ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกําเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ
4. ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
5. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยขายบ้านจัดสรรให้แก่นาย ก. โดยหลอกลวงว่าน้ำไม่ท่วม ซึ่งความจริงพื้นที่บริเวณนั้นน้ำท่วมทุกปีและจําเลยก็ทราบดีนั้น ถือเป็นกรณีที่จําเลยได้ขายของโดยหลอกลวงด้วย ประการใด ๆ ให้นาย ก. ผู้ซื้อหลงเชื่อในสภาพและคุณภาพแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ และจําเลยได้กระทําไปโดยเจตนา แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามมาตรา 271 กฎหมายกําหนดไว้ว่าจะต้องเป็นการขายสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบ้านจัดสรรเป็น อสังหาริมทรัพย์ จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามมาตรา 271

สรุป จําเลยไม่มีความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงตามมาตรา 271

Advertisement