การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. เห็น ข. ถูกตํารวจจับตัวไปสถานีตํารวจข้อหาขายยาบ้าจึงมาพบ ค. แม่ของ ข. ที่บ้านบอกให้ทราบเรื่อง ค. ตกใจขอให้ช่วยลูก ก. บอกว่าพอจะช่วยได้ต้องวิ่งตํารวจขอสองหมื่นบาทจะเอาไปให้ร้อยเวรทําสํานวนอ่อนปล่อยลูก ค. พูดว่าขอคิดดูก่อนตอนนี้ไม่มีเงินเลย ก. บอกว่าไม่เป็นไร มีเงินเมื่อไหร่ค่อยมาให้ก็แล้วกัน ดังนี้ ก. จะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 143 “ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยวิธีอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทําการหรือไม่กระทําการ ในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้

1. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น
2. เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
3. โดยวิธีอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตน
4. ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
5. กระทําโดยเจตนา

“เรียก” หมายถึง การแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ แม้บุคคลนั้น จะยังไม่ได้ส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้รับ และผู้รับได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

“ยอมจะรับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ผู้กระทํา และ ผู้กระทําตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. บอกกับ ค. ว่า สามารถช่วย ข. จากข้อหาขายยาบ้าได้โดยการวิ่งตํารวจ และขอเงิน ค. จํานวน 2 หมื่นบาท เพื่อเอาไปให้ร้อยเวรทําสํานวนอ่อนปล่อย ข. นั้น พฤติกรรมของ ก. ดังกล่าว ถือเป็นการเรียกทรัพย์สิน (เงิน 2 หมื่นบาท) จาก ค. แม่ของ ข. แล้ว และการเรียกเงินนี้เป็นการตอบแทน ในการที่ ก. จะไปวิ่งเต้นร้อยเวร (ตํารวจ) ให้ทําสํานวนคดีอ่อนปล่อยตัว ข. ซึ่งเป็นวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายและได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของ ก. ครบองค์ประกอบความผิดทุกข้อตามหลักกฎหมายข้างต้น ดังนั้น ก. จึงมีความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143

สรุป
ก. จะมีความผิดอาญาฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143
ได้รับ

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานช่วยผู้อื่นเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษ (มาตรา 189) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 189 “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
องค์ประกอบความผิดฐานช่วยผู้กระทําความผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษตามมาตรา 189 ประกอบด้วย
1. ช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด
2. ความผิดนั้นไม่ใช่ความผิดลหุโทษ
3. โดยให้พํานักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม
4. เพื่อไม่ให้ต้องโทษ
5. กระทําโดยเจตนา

การกระทําความผิดตามมาตรานี้ คือ ช่วยผู้อื่น ซึ่งการช่วยนั้นจะต้องทําโดยให้ที่พํานักโดย ซ่อนเร้น หรือโดยช่วยด้วยประการใด

คําว่า “ให้พํานัก” หมายถึง ให้ที่พักอาศัยจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ เช่น ให้อยู่ในบ้าน คําว่า “ซ่อนเร้น” หมายถึง ปกปิดมิให้เจ้าพนักงานทราบ เช่น พาไปหลบในที่ลับตา

คําว่า “ช่วยด้วยประการใด” หมายถึง ช่วยเหลือผู้กระทําความผิดหรือผู้ต้องหาในทุก ๆ วิธี เช่น การช่วยดูต้นทาง การให้สัญญาณให้ผู้นั้นหลบซ่อนจะได้ไม่ต้องถูกจับ เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับการช่วยตามมาตรานี้ต้องเป็นผู้อื่น ไม่ใช่ช่วยตนเอง และผู้อื่นนี้จะต้องเป็นผู้กระทําความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดในขณะที่ช่วยนั้นด้วย

คําว่า “ผู้กระทําความผิด” หมายถึง ผู้กระทําความผิดที่มีโทษทางอาญา โดยไม่จําเป็นที่จะต้องถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด เพียงแต่มีมูลเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นกระทําความผิดก็เพียงพอแล้ว

คําว่า “ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด” หมายถึง ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดทางอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล เช่น ผู้ที่ถูกศาลออกหมายจับ

ผู้ช่วยผู้กระทําความผิดจะมีความผิดตามมาตรา 189 นี้ ต้องเป็นการช่วยผู้กระทําความผิดหรือ ผู้ต้องหาว่ากระทําความผิดที่มิใช่ความผิดลหุโทษ (ความผิดที่มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท)

การที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้ช่วยเหลือจะต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ตนช่วยนั้นไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมด้วย กล่าวคือ จะต้องมีเจตนาพิเศษทั้งสองอย่าง

ผู้ช่วยเหลือจะต้องกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 คือ มีเจตนาในการช่วยเหลือ รวมทั้ง รู้ข้อเท็จจริงด้วยว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นเป็นผู้กระทําความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทําความผิด

ตัวอย่าง แดงใช้อาวุธมีดแทงดําตาย แล้ววิ่งหนีตํารวจมาบ้านขาวซึ่งเป็นเพื่อนกัน แดงพูดกับขาวว่าเพิ่งแทงคนตายช่วยหน่อย ขาวจึงให้แดงเข้ามาหลบในบ้านไม่ให้ตํารวจจับ ดังนี้ขาวย่อมมีความผิดฐาน ช่วยผู้กระทําผิดเพื่อไม่ให้ต้องโทษและเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมโดยให้พํานักซ่อนเร้นตามมาตรา 189

 

ข้อ 3. นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า สมคบกันที่จะขายยาบ้า โดยตกลงกันว่าจะเริ่มขายวันที่ 1 มกราคม 2559 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตํารวจสืบทราบเสียก่อนจึงได้ทําการจับกุมทั้ง 5 คน โดยยังไม่ทันได้ขายแต่ประการใด ดังนี้ นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า มีความผิดฐานซ่องโจรหรือไม่ เพราะเหตุใด ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 210 วรรคแรก “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้น มีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ํากว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร

“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูง เป็นอัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทําความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า ได้สมคบกันที่จะขายยาบ้า ถือว่าเป็นการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีเจตนาที่จะกระทําความผิดแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการที่ ทั้ง 5 คน สมคบกันที่จะขายยาบ้านั้นถือเป็นการสมคบกัน เพื่อกระทําความผิดตามกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่ประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นทั้ง 5 คน จึงไม่มีความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 เพราะการจะเป็นความผิดฐานซ่องโจรได้นั้น จะต้องเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น

สรุป
ทั้ง 5 คน ไม่มีความผิดฐานซ่องโจรตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น

 

ข้อ 4. นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย ก. วันเกิดเหตุ นาย ก. นํากระดาษมาแผ่นหนึ่งเขียนข้อความว่า “นายแดงกู้เงินนาย ก. จํานวน 100,000 บาท กําหนดชําระภายใน 1 ปี” ต่อมานาย ก. ทําเอกสารฉบับนั้นหายไป จําเลยเป็นคนเก็บได้ จําเลยใช้ปากกาแก้ไขข้อความจากคําว่า “นาย ก.” เป็นคําว่า “จําเลย” ข้อความจึงกลายเป็นว่า “นายแดงกู้เงินจําเลย 100,000 บาท” ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

มาตรา 265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 268 วรรคแรก “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย 1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. นํากระดาษมาเขียนสัญญากู้ขึ้นเอง โดยที่นายแดงไม่เคยกู้เงิน จากนาย ก. เลยนั้น ถือเป็นการกระทําโดยไม่มีอํานาจ เอกสารการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

และการที่จําเลยเก็บเอกสารฉบับนั้นได้ และได้แก้ไขข้อความจากคําว่า “นาย ก.” เป็นคําว่า “จําเลย” นั้น ถึงแม้จําเลยจะไม่มีอํานาจที่จะกระทําก็ตาม แต่การแก้ไขของจําเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน ซึ่งกรณีจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้นั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น ดังนั้นการกระทําของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตาม มาตรา 264 วรรคแรก จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

เมื่อจําเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ถึงแม้จําเลยจะนําเอกสารดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง จําเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268

สรุป
จําเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Advertisement