การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก มาดูผลสอบที่มหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่านักศึกษารุ่นน้องของตัวเองถูกนักศึกษามหาวิทยาลัยคู่อริทําร้ายหลายคน บางคนบาดเจ็บสาหัสยังไม่ฟื้น หกคนจึงปรึกษากันว่าจะ ทํายังไงดีที่จะกู้ศักดิ์ศรีคืนมา หนึ่งพูดว่าเจอมันที่ไหนฆ่าอย่างเดียวเอาไหม สอง สาม สี่ ห้า พูดพร้อมกัน ว่าเอาด้วย ส่วนหกพูดว่าไม่ดีไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แล้วทุกคนแยกย้ายกันไป สองขับรถยนต์ฝ่าไฟแดง หลังจากที่แยกจากกลุ่มเพื่อน จ.ส.ต.ขยันจราจรเห็นเหตุการณ์จับสองข้อหาขับรถฝ่าไฟแดง สองพูดกับ จ.ส.ต.ขยันว่าปล่อยผมเถอะ ผมจะรีบไปทําธุระทั้งตัวผมมีแค่ร้อยเดียวเอาไปเถอะครับ ผมไม่ถ่ายคลิปหรอก แล้วยืนเงิน 100 บาท ให้ จ.ส.ต.ขยัน จ.ส.ต.ขยันไม่รับเงิน ดังนี้ สองจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการหรือ ประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 210 วรรคแรก “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สองจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นแรก ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก มีองค์ประกอบ ดังนี้

1. สบคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

คําว่า “การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่ สําคัญ 2 ประการ คือ

(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

และการสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปด้วยจึงจะเป็นความผิดโดยอาจจะสมคบกันมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดีก็ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และหกได้ปรึกษากันโดยหนึ่งพูดว่าถ้าเจอคู่อริที่ไหน ก็ให้ฆ่ามันอย่างเดียวโดยมีสอง สาม สี่ และห้าตกลงเอาด้วย ดังนี้แม้หกจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อการสมคบกัน เพื่อที่จะฆ่าคู่อรินั้น เป็นการสมคบกันมีจํานวน 5 คนแล้ว และเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดฐานฆ่าคนตาย ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และเมื่อได้กระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก ดังนั้น สองจึง มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคแรก แม้ว่าความผิดตามที่ตกลงกันจะยังมิได้กระทําก็ตาม

ประเด็นที่สอง ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 มีองค์ประกอบ ดังนี้
1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

คําว่า “ขอให้” หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

ตามอุทาหรณ์ การที่ จ.ส.ต.ขยัน ได้จับสองข้อหาขับรถฝ่าไฟแดง และสองพูดกับ จ.ส.ต.ขยัน ว่าปล่อยผมเถอะ แล้วยื่นเงิน 100 บาทให้ จ.ส.ต.ขยันนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่สองขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้ไม่กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และเมื่อได้กระทําโดยเจตนาการกระทําของสองจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 แม้ว่า จ.ส.ต.ขยันจะไม่รับเงินก็ตาม ดังนั้น สองจึงมี ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 อีกกระทงหนึ่ง

สรุป
สองมีความผิดอาญาฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 และมีความผิดฐานให้สินบนแก่ เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษ…”

อธิบาย ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4. โดยเจตนา

“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือ ด่าแช่ง ต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอ หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยิน ไม่เห็น หรือว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตามก็เป็นความผิด ตามมาตรา 136 นี้ได้

อย่างไรก็ดีถ้อยคําบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคําไม่สุภาพ คําหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือ เป็นคําปรารภปรับทุกข์ หรือคําโต้แย้ง คํากล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทําให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงาน อยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน เช่น จําเลยกล่าวต่อ ร.ต.อ.แดงว่า “ตํารวจเฮงซวย” ซึ่งในขณะนั้น ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทําธุรกิจส่วนตัว ดังนี้ จําเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะในขณะที่ดูหมิ่นนั้น ร.ต.อ.แดงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน

อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 เรณี ต่อไปนี้คือ

(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่

“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่ ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือ เกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการ ตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วัน นายขาว พบเจ้าพนักงานตํารวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้นายขาวมีความผิดฐาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “โดยเจตนา” กล่าวคือ เป็นการกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมินเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตํารวจคนนั้นว่า “แกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นทําไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคําดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทําต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทําการ ตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อํานาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตํารวจกําลังนั่งรับประทานอาหารกับภริยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จําเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตํารวจแต่ไม่ได้ จําเลยจึงกล่าวว่า “กูจะ เอาให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคําดังกล่าวจะมีลักษณะ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นเวลานอกราชการ อันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

 

ข้อ 3. นายสิงห์และนายเสือร่วมกันลักน้ำมันที่ปั้มของนายแดงโดยใช้สายไฟต่อขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั้มดูดน้ำมันจากถังใต้ดินมาใส่ถังในรถยนต์ เมื่อดูดน้ำมันได้ 4 ถัง นายสิงห์ได้ดึงสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ ให้ปั้มติ๊กหยุดทํางานเพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ทําให้เกิดประกายไฟ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ปั้มน้ำมันของนายแดงได้รับความเสียหายไป ดังนี้ นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตราย ต่อประชาชนฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 225 “ผู้ใดกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทําโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225 ประกอบด้วย
1. กระทําให้เกิดเพลิงไหม้
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

“กระทําให้เกิดเพลิงไหม้” หมายถึง กระทําให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์หรือวัตถุใด ๆ อาจเป็นทรัพย์ของตนเอง หรือทรัพย์ของผู้อื่น หรือวัตถุที่ไม่มีเจ้าของ

“โดยประมาท” หมายถึง การกระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจาก ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวัง เช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

“เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น” คือ การทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้น ต้องเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและต้องเสียหายจริง ๆ ประการหนึ่ง หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่นอีกประการหนึ่งจึงจะมีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์และนายเสือได้ร่วมกันลักน้ำมันที่ปั้มของนายแดงโดยใช้ สายไฟต่อขั้วแบตเตอรี่กับเครื่องปั๊มดูดน้ำมันจากถังใต้ดินมาใส่ถังในรถยนต์ เมื่อดูดน้ำมันได้ 4 ถัง นายสิงห์ได้ดึงสายไฟจากขั้วแบตเตอรี่ให้ปั้มติ๊กหยุดทํางานเพื่อจะเปลี่ยนสายยางไปใส่ถังที่ 5 ทําให้เกิดประกายไฟ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ปั้มน้ำมันของนายแดงได้รับความเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวของนายสิงห์ถือได้ว่าเป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทําโดยประมาท เมื่อเกิดเพลิงไหม้ปั้มน้ำมันของนายแดงได้รับความเสียหาย นายสิงห์จึงมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดย ประมาทตามมาตรา 225 (ฎีกาที่ 1211/2530 (ประชุมใหญ่))

สรุป
นายสิงห์มีความผิดฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225

 

ข้อ 4. นายเอกแก้ตัวเลขในสลากกินแบ่ง 1 ตัว ให้เป็นหมายเลขที่ถูกรางวัล จากนั้นได้เอาสลากกินแบ่งดังกล่าวไปหลอกเพื่อนให้เลี้ยงอาหาร เพื่อนหลงเชื่อได้พานายเอกไปเลี้ยงอาหารที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง วันเกิดเหตุ นายเอกทิ้งสลากกินแบ่งฉบับที่นายเอกแก้ตัวเลขนั้นในถังขยะในบ้าน มีผู้เก็บสลากกินแบ่งนั้นได้ จึงได้นําสลากไปขอรับเงินที่กองสลาก เจ้าหน้าที่กองสลากได้ทําการตรวจแล้วพบว่าเป็นสลากปลอม จึงแจ้งให้ตํารวจทราบ ตํารวจจึงไปจับนายเอก ดังนี้ นายเอกมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย

1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้แก้ตัวเลขในสลากกินแบ่ง 1 ตัวให้เป็นหมายเลขที่ถูกรางวัล จากนั้นได้เอาสลากกินแบ่งดังกล่าวไปหลอกเพื่อนให้เลี้ยงอาหารจนเพื่อนหลงเชื่อและได้พานายเอกไปเลี้ยงอาหารนั้น การกระทําของนายเอกแม้จะถือว่าเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง และได้กระทําโดยเจตนาก็ตาม แต่การกระทําของนายเอกเพื่อหลอกให้เพื่อนเลี้ยงอาหารนั้น เป็นการล้อเล่นระหว่างเพื่อนฝูงซึ่งทํากันอยู่เป็นปกติ มิได้มีเจตนาเอาสลากกินแบ่งที่แก้ไขตัวเลขไปรับเงินรางวัล อีกทั้งการแก้ไขตัวเลขในสลากกินแบ่งนั้นไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนหรือเพื่อนของนายเอก ส่วนการที่ นายเอกได้ทิ้งสลากกินแบ่งดังกล่าวในถังขยะในบ้าน แล้วมีผู้เก็บสลากกินแบ่งนั้นได้และนําไปขอรับรางวัลนั้นเป็น กรณีที่อยู่นอกความรู้เห็นของนายเอก ดังนั้น นายเอกจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎีกาที่ 1568/2521)

สรุป
นายเอกไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

Advertisement