การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิดได้ดังนี้
1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

“ให้” หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทําได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

“ขอให้” หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงิน แก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงว่าจะรับก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับว่าจะให้” หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทําก็รับปากกับเจ้าพนักงาน ว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นความผิดสําเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น จะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสําคัญ

สิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน แหวน รถยนต์ เป็นต้น หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถโดยไม่เสียค่าเช่า หรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น

การกระทําตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทําต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้น และบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทําต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอํานาจหน้าที่หรือพ้นจากอํานาจหน้าที่ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงาน หรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทําไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหฯ ชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ

(ก) ให้กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตํารวจจับคนที่ไม่ได้กระทําความผิด
(ข) ไม่กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตํารวจจะจับกุม ผู้กระทําผิด จึงให้เงินแก่
ตํารวจนั้นเพื่อไม่ให้ทําการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทํา อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจไม่จับกุมผู้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยให้เงินตํารวจ เพื่อให้ทําการจับกุม กรณีนี้จําเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สิน มีมูลเหตุจูงใจให้กระทําการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144
นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกลูกสาวของตน ให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตกลงตามที่นายแดงเสนอ เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อันใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 อันเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจําเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยาน ตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวให้ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง ดังนี้นายแดง ไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อันใดเพื่อจูงใจให้กระทําการด้วยหน้าที่อันมิชอบ (คําพิพากษาฎีกาที่ 439/2469)

 

ข้อ 2. จ.ส.ต.ขยัน ตรวจค้นตัวดําว่ามียาบ้าหรือไม่ ค้นตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่พบยาบ้าที่ตัวดํา จ.ส.ต.ขยัน เสียหน้าไม่ปล่อยตัวดํา กลับพาดําเดินข้ามคลองห่างไปอีกประมาณ 500 เมตร ดังนี้ จ.ส.ต.ขยันจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ

1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ หรือเจ้าพนักงานตํารวจตรวจค้นตัวผู้ต้องสงสัย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับกุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่ง เป็นต้น

ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุจูงใจพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหาย ก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําได้ปฏิบัติหน้าที่ นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ จ.ส.ต.ขยันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยการตรวจค้นตัวดํา ว่ามียาบ้าหรือไม่ และเป็นการค้นตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เมื่อไม่พบยาบ้าที่ตัวดํา จ.ส.ต.ขยันเสียหน้าจึงไม่ยอมปล่อยตัวดํา แต่กลับพาดําเดินข้ามคลองห่างไปอีกประมาณ 500 เมตรนั้น ย่อมถือว่าเป็นการกระทําที่ไม่มีสิทธิทําได้ตามกฎหมาย หรืออีกนัยหนึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้งดํา ดังนั้นจึงถือได้ว่า จ.ส.ต.ขยันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แต่เป็นการอันมิชอบ อันถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว โดยมีเหตุจูงใจพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ดํา และเมื่อ จ.ส.ต.ขยันได้กระทําไปโดยรู้สํานึกในการกระทําและในขณะเดียวกันได้ประสงค์ต่อผล ของการกระทํานั้น การกระทําของ จ.ส.ต.ขยันจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ดังนั้น จ.ส.ต.ขยันจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

สรุป จ.ส.ต.ขยันมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157

 

ข้อ 3. ชาย 15 คน ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัด กล่าวโจมตีและขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นได้เผาศาลากลางและขู่ว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ย้ายออกจากพื้นที่จะฆ่าให้ตาย ต่อมาความทราบถึงตํารวจ ตํารวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัวปรากฏว่าชาย 15 คน ไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ชาย 15 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 215 วรรคแรก “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ”

มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานส่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใด ไม่เลิก ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

1. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
2. ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
3. โดยเจตนา

ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป
2. ผู้ใดไม่เลิก
3. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชาย 15 คนได้ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดและได้เผาศาลากลาง อีกทั้งได้ขู่ว่าจะฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น การกระทําของชาย 15 คนดังกล่าว ถือว่าเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นใน บ้านเมือง และได้กระทําไปโดยเจตนา การกระทําของชาย 15 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรกทุกประการ ชาย 15 คนจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

การกระทําของชาย 15 คนไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคําสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญ ว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก

สรุป
ชาย 15 คนมีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216

 

ข้อ 4. จําเลยเป็นผู้จัดการร้านขายรถจักรยานยนต์ มีหน้าที่เขียนใบส่งของ วันเกิดเหตุ จําเลยได้เขียนใบส่งของว่า ได้มีการขายรถจักรยานยนต์ไปจํานวน 5 คัน และส่งให้แก่ลูกค้าแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า จําเลยไม่ได้ส่งของให้แก่ลูกค้า แต่จําเลยได้ยักยอกเอาไว้ ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคแรก “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย

1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยได้เขียนในใบส่งของว่าได้มีการขายรถจักรยานยนต์ไปจํานวน 5 คัน และส่งให้แก่ลูกค้าแล้วนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจําเลยเป็นผู้จัดการร้านขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าว และมีอํานาจในการเขียนใบส่งของ ขณะเดียวกันจําเลยเซ็นชื่อของจําเลยเองไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ใด ดังนี้ แม้ว่า ข้อความในใบส่งของจะเป็นเท็จ การกระทําของจําเลยก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก (เทียบฎีกาที่ 484/2503)

สรุป
จําเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

Advertisement