การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายโมหะกลับบ้านตอนดึกได้ทราบข่าวจากนางโมรีที่เป็นภริยาว่า มอคค่าหมาที่เลี้ยงไว้กัดเด็กหญิงโมจิลูกสาวได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา นายโมหะโมโหมอคค่ามาก ตั้งใจว่าจะไม่อยู่ร่วมโลกกับมอคค่าอีกต่อไป จึงยืนดักรอมอคค่ากลับมาบ้าน ผ่านไปครู่ใหญ่มีหมาตัวหนึ่งลอดประตูรัวเข้าบ้าน มาคุ้ยเขี่ยเศษอาหารกินด้วยความหิวโหย นายโมหะจึงเดินไปที่รถหยิบไม้กอล์ฟในรถมาฟาดไปที่ ศีรษะหมาตัวนั้นจนตาย ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม แต่ในความเป็นจริงแล้วตัวที่ตายเป็นเอสเปรสโซ่ หมาของนายโทโสเพื่อนบ้าน จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโมหะ

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้

กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํารับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”

วินิจฉัย
โดยหลักแล้วบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา (มาตรา 59 วรรคหนึ่ง)

การกระทําโดยเจตนา ได้แก่การกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ คือจะถือว่าผู้กระทําได้กระทําโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง (มาตรา 59 วรรคสอง และมาตรา 62 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโมหะได้ใช้ไม้กอล์ฟทุบหมา คือ เอสเปรสโซ่ตายนั้นเป็น การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกจึงถือว่าเป็นการกระทําทางอาญาแล้ว แต่การกระทําดังกล่าวของนายโมหะ จะถือว่าเป็นการกระทําโดยเจตนาหาได้ไม่ เพราะนายโมหะได้กระทําโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม คือไม่รู้ว่าหมาที่ตนใช้ไม้กอล์ฟทุบจนตายนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่มอคค่า หมาของตนเอง ดังนั้นนายโมหะจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทําให้เสียทรัพย์ (องค์ประกอบของความผิด ฐานทําให้เสียทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 358 คือ

1. ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่า หรือทําให้ไร้ประโยชน์
2. ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3. โดยเจตนา)

และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายโมหะ เนื่องจากนายโมหะได้ทุบเอสเปรสโซ่ซึ่งเป็นหมาของนายโทโสตายนั้น ได้กระทําด้วยความรีบร้อน ไม่ทันดูให้ดีว่าไม่ใช่มอคค่าหมาของตน แต่นายโมหะก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททําให้เสียทรัพย์ทั้งนี้เพราะไม่มี กฎหมายบัญญัติให้การกระทําโดยประมาททําให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบกับมาตรา 62 วรรคสอง ดังนั้นนายโมหะจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป
นายโมหะไม่มีความรับผิดทางอาญา

 

ข้อ 2. นายสว่างต้องการฆ่านายมืด แต่เห็นนายมัวเป็นนายมืด นายสว่างจึงใช้ปืนเล็งไปที่ศีรษะนายมัว แต่นายมัวเป็นนักกีฬายิมนาสติกเมื่อเห็นปืนที่นายสว่างเล็งมา นายมัวตีลังกาหลบกระสุนได้ทันพอดี ทําให้ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด แต่ไกลออกไปมีนายหมองยืนอุ้มหมาของนายหม่นอยู่ นายหมอง ถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่ขวา และทําให้ลูกหมาของนายหม่นที่นายหมองอุ้มอยู่หล่น ไปที่พื้นหัวกระแทกพื้นตายอีกด้วย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายสว่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่ หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

การประกาศ มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสว่างต้องการฆ่านายมืด แต่เห็นนายมัวเป็นนายมืด นายสว่าง จึงใช้ปืนเล็งไปที่ศีรษะนายมัวโดยสําคัญผิดนั้น การกระทําของนายสว่างเป็นการกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผล ตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น แต่เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกนายมัว จึงเป็นกรณีที่นายสว่างได้ลงมือกระทําความผิดซึ่งได้กระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล คือนายมัวไม่ตายตามที่นายสว่างต้องการ นายสว่างจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายมัวโดยสําคัญผิดในตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 61 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง นายสว่างจะอ้างว่าได้กระทําเพราะเหตุสําคัญผิดว่านายมัวเป็นนายมืดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่

การที่กระสุนปืนไม่ถูกนายมัวแต่เลยไปถูกนายหมองได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นกรณีที่นายสว่าง ได้กระทําโดยเจตนาต่อนายมัวแต่ผลของการกระทําเกิดแก่นายหมองโดยพลาดไป ให้ถือว่านายสว่างได้กระทําโดยเจตนาต่อนายหมองบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทําด้วยตามมาตรา 60 และเมื่อนายหมองไม่ตาย เพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นนายสว่างจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายหมองโดยพลาดไปตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 60 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

ส่วนการที่กระสุนปืนไปถูกนายหมองทําให้ลูกหมาของนายหม่นที่นายหมองอุ้มอยู่หล่นไปที่พื้นหัวกระแทกพื้นตายนั้น นายสว่างไม่ต้องรับผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ เพราะมิใช่การกระทําโดยพลาดตามมาตรา 60 ทั้งนี้เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลประเภทเดียวกับที่เจตนากระทํา กล่าวคือ เมื่อเป็นการกระทําโดยเจตนา ต่อบุคคล แต่ผลร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์จึงไม่อยู่ในความหมายของคําว่าพลาด แต่อย่างไรก็ดีการกระทําของนายสว่าง เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จึงถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาทตาม มาตรา 59 วรรคสี่ แต่แม้จะเป็นการกระทําโดยประมาท นายสว่างก็ไม่มีความผิด เพราะการทําให้เสียทรัพย์ โดยประมาทนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแต่อย่างใด

สรุป
นายสว่างต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายตัว
นายสว่างต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายหมองโดยพลาด
นายสว่างไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานทําให้เสียทรัพย์ของนายหม่น

 

ข้อ 3. นายธนบัตรต่อยนายชยากูรล้มลงแล้ววิ่งหนีไป นายชยากูรลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามไป 300 เมตรจึงทันนายธนบัตร นายชยากูรชักมีดแทงนายธนบัตร นายธนบัตรหลบทันเหลือบไปเห็นรถของนายอภิมุข จอดอยู่จึงเปิดประตูเพื่อจะเข้าไปหลบในรถยนต์ของนายอภิมุข นายอภิมุขไม่ยอมให้ขึ้นรถ นายธนบัตร จึงผลักศีรษะนายอภิมุขกระแทกพวงมาลัยได้รับบาดเจ็บ นายอภิมุขต่อยหน้านายธนบัตรสวนไปทันที จนปากแตก ดังนี้ นายธนบัตร นายชยากูร และนายอภิมุข ต้องรับผิดอย่างไรและอ้างเหตุที่เป็นคุณทางกฎหมายเหตุใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเป็นสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายธนบัตร นายชยากูร และนายอภิมุข ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของนายธนบัตร
การที่นายธนบัตรต่อยนายชยากูรล้มลง ถือเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายธนบัตรจึงเป็นการกระทําโดยเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคสอง นายธนบัตรจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อนายชยากูรตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

และการที่นายธนบัตรผลักศีรษะนายอภิมุขกระแทกพวงมาลัยได้รับบาดเจ็บ ก็ถือเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายธนบัตรจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง นายธนบัตรจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อนายอภิมุข ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และต้องรับโทษ นายธนบัตรจะอ้างว่ากระทําผิดด้วยความจําเป็นเพราะเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ เพื่อที่จะไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะภยันตรายที่เกิดขึ้น นายธนบัตรได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยการกระทําผิดของตนเอง

ความรับผิดของนายชยากูร
การที่นายชยากูรชักมีดแทงนายธนบัตร ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายชยากูรจึงเป็นการกระทําโดยเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคสอง นายชยากูรจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏว่านายธนบัตร หลบทันจึงไม่ถูกนายชยากูรแทง การกระทําของนายชยากูรจึงถือเป็นการลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นการพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายชยากูรถูกนายธนบัตรต่อยล้มลงนั้น การกระทําของนายธนบัตร ถือเป็นการข่มเหงนายชยากูรอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อปรากฏว่านายชยากูรได้กระทําความผิด ต่อนายธนบัตรในขณะที่นายชยากูรยังโกรธอยู่ การกระทําของนายชยากูรดังกล่าวจึงเป็นการกระทําความผิด ในขณะบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษนายชยากูรน้อยเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 72

ความรับผิดของนายอภิมุข
การที่นายอภิมุขต่อยหน้านายธนบัตรจนปากแตกนั้น ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายอภิมุขจึงเป็นการกระทํา โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง โดยหลักแล้วนายอภิมุขจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายอภิมุขต่อยหน้านายธนบัตรเพื่อไม่ให้นายธนบัตรขึ้นรถนั้น นายอภิมุข ได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ของนายธนบัตร และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อนายอภิมุขได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายอภิมุขจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ดังนั้นนายอภิมุขจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายธนบัตร

สรุป
นายธนบัตรจะต้องรับผิดทางอาญาต่อนายชยากูรและนายอภิมุข และจะอ้างว่าตนกระทําต่อนายชยากูรด้วยความจําเป็นเพื่อไม่ต้องรับโทษไม่ได้
นายชยากูรต้องรับผิดทางอาญาต่อนายธนบัตร แต่อ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้รับโทษน้อยลงได้
นายอภิมุขไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วย กฎหมาย

 

ข้อ 4. นายเจกจ้างนางสาวพลอยไปฆ่านายวันระพีด้วยค่าจ้าง 1 ล้านบาท นางสาวพลอยไปขอยืมรถจากนางสาวแป้ง โดยนางสาวแป้งทราบดีว่านางสาวพลอยจะยืมรถไปฆ่านายวันระพี นางสาวพลอย ขับรถนางสาวแป้งจะไปฆ่านายวันระพี แต่ด้วยความรีบร้อนและไม่ชํานาญรถของนางสาวแป้ง นางสาวพลอยจึงเหยียบคันเร่งและเข้าเกียร์ผิดทําให้รถพุ่งชนนายวันระพีที่เดินอยู่ได้รับบาดเจ็บ สาหัส ดังนี้ นายเจกและนางสาวแป้งต้องรับผิดฐานใดและอัตราโทษเท่าใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเจกและนางสาวแป้ง ต้องรับผิดทางอาญาฐานใดและอัตราโทษเท่าใดนั้น แยกวินิจฉัย ได้ดังนี้

กรณีของนายเจก
การที่นายเจกได้จ้างนางสาวพลอยให้ไปฆ่านายวันระพีนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดแล้วตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง นายเจกจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ แต่อย่างไรก็ตามการที่นางสาวพลอย ได้ขับรถที่ยืมมาจากนางสาวแป้งชนนายวันระพีได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้นเป็นเพราะความรีบร้อนและไม่ชํานาญรถ ของนางสาวแป้งจึงเหยียบคันเร่งและเข้าเกียร์ผิดทําให้รถพุ่งชนนายวันระพี การกระทําของนางสาวพลอยจึงเป็นการกระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดตามที่ถูกใช้ กล่าวคือ ความผิดที่มีการใช้นั้นยังมิได้กระทําลง ดังนั้น นายเจกผู้ใช้จึงต้องรับโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 84

กรณีของนางสาวแป้ง
การที่นางสาวแป้งให้นางสาวพลอยยืมรถไปฆ่านายวันระพีนั้น นางสาวแป้งจะมีความผิดฐานเป็น “ผู้สนับสนุน” ตามมาตรา 86 ก็ต่อเมื่อ การกระทําของนางสาวแป้งเป็นการกระทําเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิดด้วย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวพลอยยังไม่ได้ ลงมือกระทําความผิดตามที่ตนสนับสนุน (ความผิดฐานฆ่านายวันระพีโดยเจตนา) ดังนั้น แม้นางสาวแป้งจะให้นางสาวพลอยยืมรถไปเพื่อฆ่านายวันระพี นางสาวแป้งก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

สรุป
นายเจกต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ และต้องรับโทษในอัตรา 1 ใน 3 ของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่ได้ใช้นั้น
นางสาวแป้งไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement