การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. แสงขับรถยนต์มาตามถนน ป๋องขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์ของแสง ป๋องเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์แซงด้านซ้ายรถยนต์ของแสง รถจักรยานยนต์ของป๋องได้ชนกระจกมองข้างรถยนต์ ของแสงหักและป๋องได้ขับขี่รถจักรยานยนต์หนีไป แสงได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ล้อรถจักรยานยนต์ของป๋องเพื่อให้หยุดรถ กระสุนปืนถูกล้อรถจักรยานยนต์เสียหาย และกระสุนปืนถูกป๋องตายด้วย ดังนี้ แสง ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แสงอยู่บนรถยนต์ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ล้อรถจักรยานยนต์ของป๋องนั้น แม้ว่าแสงจะมีความประสงค์กระทําต่อทรัพย์คือมีเจตนายิงไปที่ล้อรถจักรยานยนต์เพื่อให้ป๋องหยุดรถ แต่การกระทําดังกล่าวนั้นแสงย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกป๋องได้และอาจทําให้ป๋องถึงแก่ความตายได้ เมื่อแสงได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา การกระทําของแสงจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น ตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อกระสุนปืนถูกล้อรถจักรยานยนต์เสียหาย และกระสุนปืนถูกป๋องตายด้วย แสงจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก

สรุป แสงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าป๋องตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก

 

ข้อ 2. หาญต้องการฆ่าแห้ว หาญเห็นจ้อยยืนหันหลังให้เข้าใจว่าเป็นแห้วคนที่หาญต้องการฆ่า หาญใช้อาวุธปืนยิงไปที่จ้อย กระสุนปืนถูกจ้อยบาดเจ็บ และกระสุนปืนยังเลยไปถูกเดชตาย ดังนี้ หาญต้อง รับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ ได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ ให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํากฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

มาตรา 80 วรรคแรก “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอด แล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ หาญต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของหาญต่อจ้อย
การที่หาญใช้อาวุธปืนยิงไปที่จ้อยนั้น ถือว่าหาญได้กระทําต่อจ้อยโดยเจตนา เพราะหาญได้ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันหาญได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง และหาญได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม

และแม้ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น หาญจะมีเจตนาฆ่าแห้วแต่ได้ลงมือกระทําต่อจ้อยเพราะ เข้าใจผิดคิดว่าจ้อยเป็นแห้วคนที่หาญต้องการฆ่า หาญก็จะยกเอาความสําคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทําต่อจ้อยไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าหาญมีเจตนาฆ่าจ้อยด้วยตามมาตรา 61 และเมื่อกระสุนปืนถูกจ้อยบาดเจ็บ ไม่ทําให้จ้อยถึงแก่ความตาย จึงถือว่าหาญได้ลงมือกระทําความผิดและได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้น ไม่บรรลุผล หาญจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าจ้อยโดยสําคัญผิดในตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคแรก ประกอบมาตรา 61 และมาตรา 80 วรรคแรก

ความรับผิดของหาญต่อเดช

การที่หาญใช้อาวุธปืนยิงไปที่จ้อย กระสุนปืนถูกจ้อยบาดเจ็บ และยังเลยไปถูกเดชตายนั้น ผลของการกระทําที่ไปเกิดกับเดชเป็นผลซึ่งเกิดขึ้นโดยพลาดไป จึงถือว่าหาญได้กระทําโดยเจตนาต่อเดชบุคคล ซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้นด้วยตามมาตรา 60 ดังนั้น เมื่อเดชถึงแก่ความตาย หาญจึงต้องรับผิดทางอาญา ฐานฆ่าเดชตายโดยเจตนาโดยพลาดตามมาตรา 59 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60

สรุป
หาญต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าจ้อยโดยสําคัญผิดในตัวบุคคลตามมาตรา 59 วรรคแรก ประกอบมาตรา 61 และมาตรา 80 วรรคแรก และต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าเดชตายโดยเจตนาโดยพลาด ตามมาตรา 59 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60

 

ข้อ 3. โชคชักปืนขู่บังคับให้ธงตีศีรษะแก้ว หากไม่มีจะยิงธงให้ตาย ธงกลัวโชคยิงตนจึงเงื้อไม้ขึ้นตีไปที่ศีรษะแก้ว แก้วเห็นเข้าพอดีจึงเบนศีรษะหนีพร้อมกับชักมีดแทงสวนถูกธงได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ โชค ธง และแก้ว ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ โชค ธง และ แก้ว จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณา ได้ดังนี้

ความรับผิดของโชค
การที่โชคใช้ปืนขู่บังคับธงให้ตีศีรษะแก้วนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดด้วย การบังคับขู่เข็ญแล้ว โชคจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทําลง คือ ธงได้ใช้ไม้ตีไปที่แก้ว โชคผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง

ความรับผิดของธง
การที่ธงใช้ไม้ตีไปที่แก้ว ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของธงจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ธงจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธงใช้ไม้ตีไปที่แก้วนั้น ธงได้กระทําไปเพราะอยู่ภายใต้อํานาจบังคับของโชค ซึ่งธงไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เมื่อธงได้กระทําไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทําของธงจึงเป็น การกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (1) ดังนั้นธงจึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของแก้ว
การที่แก้วใช้มีดแทงธง ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของแก้วจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง แก้วจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตามการที่แก้วใช้มีดแทงธงนั้น แก้วได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้น จากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของธง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อแก้วได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของแก้วจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ดังนั้น แก้วจึงไม่ต้องรับผิดต่อธง

สรุป
โชคต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 และรับโทษเสมือนตัวการ
ธงต้องรับผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 เพราะเป็นการกระทําความผิด ด้วยความจําเป็น
แก้วไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. กรต้องการฆ่าพล กรไปขอยืมอาวุธปืนจากดิเรกเพื่อใช้ยิงพล ดิเรกให้กรยืมอาวุธปืนโดยทราบดีว่ากรจะใช้ยิงพล กรได้อาวุธปืนจากดิเรกแล้วได้ไปดักยิงพล ก่อนกรลงมือยิงพล สมนึกมาพบกรและทราบจากกรว่ามาดักยิงพล สมนึกรับอาสาคอยดูต้นทางให้กรยิงพล พอพลเดินมาสมนึกให้สัญญาณกร กรยิงพลตาย ดังนี้ ดิเรกและสมนึกต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการ ที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

การวินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่กรใช้ปืนยิงพลตาย ถือว่ากรได้กระทําต่อพลโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น กรจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก ส่วนดิเรกและสมนึกซึ่ง ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดของกร จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของดิเรก
การที่ดิเรกให้กรยืมอาวุธปืนโดยทราบดีว่ากรจะใช้ยิงพล การกระทําของดิเรกถือเป็นการให้ ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด เมื่อกรยิงพลตาย ดิเรกจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

ความรับผิดของสมนึก
การที่สมนึกมาพบกรและทราบจากกรว่ามาดักยิงพล สมนึกจึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้กรยิงพล และพอพลเดินมาสมนึกได้ให้สัญญาณกร และกรยิงพลตายนั้น ถือว่าสมนึกมีเจตนาร่วมกันกระทําความผิดกับกร และการกระทําของสมนึกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้การฆ่าพลบรรลุผลสําเร็จ ดังนั้นเมื่อกรยิงพลตาย จึงถือว่า สมนึกร่วมกันกระทําความผิดกับกรฐานฆ่าพลตายโดยเจตนา และต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

สรุป
ดิเรกต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สมนึกต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

Advertisement