การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1. นายชัยและนางสมศรีเป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน 3 คน นายชัยได้ไปราชการที่ชายแดน เมื่อกลับบ้านนางสมศรีภริยาได้เล่าให้นายชัยฟังว่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนายโก๋ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันได้บุกรุกขึ้นมา บนบ้านและข่มขืนกระทําชําเราตน นายชัยได้ฟังดังนั้นก็โกรธมากจึงพกปืนออกจากบ้านเพื่อจะไปฆ่า นายโก๋ เมื่อนายชัยพบนายโก๋จึงยกปืนขึ้นเล็งเพื่อจะยิงนายโก๋ แต่นายโก๋เหลือบเห็นเข้าพอดี จึงชักปืนยิงถูกนายชัยได้รับบาดเจ็บและกระสุนปืนยังเลยไปถูกนางสมศรีซึ่งตามนายชัยมาด้วยความเป็นห่วงถึงแก่ความตายอีกด้วย ดังนี้ นายชัยและนายโก๋จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
การกระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 80 วรรคแรก “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายชัยและนายโก๋จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของนายชัย
การที่นายชัยได้ยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายโก๋ ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายชัยจึงเป็นการกระทําโดยเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคสอง นายชัยจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก แต่เมื่อปรากฏว่านายโก๋เหลือบเห็นเข้าพอดี จึงชักปืนยิงถูกนายชัยได้รับบาดเจ็บก่อนที่นายชัยจะยิงนายโก๋ การกระทําของนายชัยจึงถือเป็นการลงมือกระทําความผิดแล้วแต่กระทําไปไม่ตลอด จึงเป็นการพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 30

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําดังกล่าวของนายชัยนั้น ได้เกิดขึ้นเนื่องจากนายชัยทราบจาก นางสมศรีภริยาของตนว่าถูกนายโก๋บุกรุกขึ้นมาบนบ้านและข่มขืนกระทําชําเรา ซึ่งถือเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อนายชัย และนายชัยได้กระทําความผิดต่ยนายโก๋ผู้ข่มเหงในขณะที่นายชัยยังโกรธอยู่ การกระทําของนายชัยดังกล่าว จึงเป็นการกระทําความผิดในขณะบันดาลโทสะ อันเป็นเหตุให้นายชัยได้รับการลงโทษให้น้อยลงตามมาตรา 72

ความรับผิดของนายโก๋
การที่นายโก๋ชักปืนยิงถูกนายชัยได้รับบาดเจ็บ ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทำของนายโก๋จึงเป็นการกระทําโดยเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคสอง นายโก๋จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

และเมื่อปรากฏว่ากระสุนปืนยังเลยไปถูกนางสมศรีซึ่งตามนายชัยมาด้วยความเป็นห่วงถึงแก่ความตายด้วย จึงเป็นกรณีที่นายโก๋เจตนากระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ซึ่งกฎหมายให้ถือว่านายโก๋เจตนากระทําต่อนางสมศรีโดยพลาดไปตามมาตรา 60 และทั้งสองกรณีนี้ นายโก๋จะอ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ไม่ได้ เพราะนายโก๋เป็น ผู้ก่อภัยขึ้นเองตั้งแต่แรก

สรุป นายชัยต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80 แต่ได้รับการลดโทษให้น้อยลงตามมาตรา 72 เพราะเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะ นายโก๋ต้องรับผิดทางอาญาต่อนายชัยตามมาตรา 59 วรรคแรก และรับผิดทางอาญาต่อ นางสมศรีฐานกระทําโดยพลาดตามมาตรา 60

 

ข้อ 2. นายเอกใช้ปืนขู่ว่าจะยิงนางดวงดาวและ ด.ญ.ตุ๊กตาให้ตาย ถ้านายเชิดสามีของนางดวงดาวและบิดาของ ด.ญ.ตุ๊กตาไม่ยิงนายศักดิ์ให้ตาย นายเชิดไม่รู้จักนายศักดิ์เห็นนายสีเข้าใจว่าเป็นนายศักดิ์ จึงใช้ปืนยิงไปถูกนายสีถึงแก่ความตาย ดังนี้ นายเอกและนายเชิดจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเป็นสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกและนายเชิดจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณา ได้ดังนี้

ความรับผิดของนายเอก
การที่นายเอกใช้ปืนขู่ว่าจะยิงนางดวงดาวและ ด.ญ.ตุ๊กตาให้ตาย ถ้านายเชิดสามีของนางดวงดาว และบิดาของ ด.ญ.ตุ๊กตาไม่ยิงนายศักดิ์ให้ตายนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดด้วยการบังคับขู่เข็ญแล้ว นายเอกจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก และเมื่อผู้ถูกใช้คือ นายเชิด ได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว นายเอกผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง

ความรับผิดของนายเชิด
การที่นายเชิดใช้ปืนยิงถูกนายสีถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายเชิดจึงเป็นการกระทําโดย เจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง นายเชิดจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก และกรณีนี้นายเชิดจะ อ้างความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้เจตนากระทําต่อนายสีไม่ได้ตามมาตรา 61

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเชิดใช้ปืนยิงนายสีนั้น นายเชิดได้กระทําไปเพราะเพื่อให้ผู้อื่นพ้นจาก ภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งนายเชิดไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ เมื่อนายเชิดได้กระทําไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายเชิดจึงเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (2) ดังนั้น นายเชิดจึงมีความผิด แต่ไม่ต้องรับโทษ

สรุป
นายเอกต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 และรับโทษเสมือนตัวการ
นายเชิดต้องรับผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 เพราะเป็นการกระทํา ความผิดด้วยความจําเป็น

 

ข้อ 3. เชิงชายเตะและต่อยบุญชูจนล้มลงแล้วเชิงชายวิ่งหนี บุญชูลุกขึ้นได้วิ่งไล่ตามพอทันกัน บุญชูชักมีดออกแทงเชิงชาย เชิงชายหลบทันและวิ่งหนีจะเข้าไปในบ้านของสมหวัง สมหวังขัดขวางไม่ยอมให้เชิงชายเข้าไปในบ้านเชิงชายเห็นบุญชูตามเข้ามาอีกจึงผลักสมหวังล้มลงและเข้าไปในบ้าน สมหวังใช้ไม้ตีเชิงชายได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ บุญชู เชิงชาย และสมหวังต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 80 วรรคแรก “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ บุญชู เชิงชาย และสมหวัง ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของบุญชู
การที่บุญชูชักมีดออกแทงเชิงชาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยสํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของบุญชูจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง บุญชูจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก แต่เมื่อปรากฏว่าเชิงชายหลบทันจึงไม่ถูกบุญชูแทง การกระทําของบุญชูจึงถือเป็นการลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นการ พยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80

แต่อย่างไรก็ตาม การที่บุญชูถูกเชิงชายเตะและต่อยนั้น การกระทําของเชิงชายถือเป็นการข่มเหงบุญชูอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อปรากฏว่าบุญชูได้กระทําความผิดต่อเชิงชายในขณะที่บุญชูยังโกรธอยู่ การกระทําของบุญชุดังกล่าวจึงเป็นการกระทําความผิดในขณะบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษบุญชูน้อยเพียงใดก็ได้ตามมาตรา 72

ความรับผิดของเชิงชาย
การที่เชิงชายเตะและต่อยบุญชูนั้น ถือเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของเชิงชายจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตาม มาตรา 59 วรรคสอง เชิงชายจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อบุญชูตามมาตรา 59 วรรคแรก

และการที่เชิงชายผลักสมหวังล้มลง ก็ถือเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และใน ขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของเชิงชายจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตาม มาตรา 59 วรรคสอง เชิงชายจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อสมหวังตามมาตรา 59 วรรคแรก และต้องรับโทษ เชิงชายจะอ้างว่ากระทําผิดด้วยความจําเป็นเพราะเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น โดยวิธีอื่นใดได้ เพื่อที่จะไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะภยันตรายที่เกิดขึ้น เชิงชายได้ก่อให้เกิดขึ้น ด้วยการกระทําผิดของตนเอง

ความรับผิดของสมหวัง

การที่สมหวังใช้ไม้ตีเชิงชาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของสมหวังจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง โดยหลักแล้วสมหวังจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่สมหวังได้ใช้ไม้ตีไปที่เชิงชายเพื่อไม่ให้เชิงชายเข้าไปในบ้านนั้น สมหวัง ได้กระทําไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของ เชิงชาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อสมหวังได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของสมหวังจึงเป็น การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 58 ดังนั้นสมหวังจึงไม่ต้องรับผิดต่อเชิงชาย

สรุป
บุญชูต้องรับผิดทางอาญา แต่รับโทษน้อยลงเพราะกระทําไปโดยบันดาลโทสะ
เชิงชายต้องรับผิดทางอาญาจะอ้างว่ากระทําความผิดด้วยความจําเป็นเพื่อไม่ต้องรับโทษไม่ได้ สมหวังไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. เนวินได้บอกกับบรรจงลูกน้องว่า สุเทพกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว บรรจงได้ยินเช่นนั้นทราบทันทีว่าเนวินต้องการให้ฆ่าสุเทพ บรรจงได้ร่วมกับสุขุมเพื่อนกันวางแผนฆ่าสุเทพ โดยบรรจงไปขอยืมอาวุธปืนจากสุขสม โดยบอกกับสุขสมว่าจะนําอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวเพราะมีคนปองร้าย สุขสมทราบดีว่าบรรจงจะนําอาวุธปืนไปยิงสุเทพ แต่ไม่กล้าบอกความจริง สุขสมเองอยากให้สุเทพตายอยู่แล้ว จึงให้บรรจงยืมอาวุธปืน บรรจงได้อาวุธปืนจากสุขสมแล้วได้นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์ที่สุขุมเป็นผู้ขับขี่ บรรจงใช้อาวุธปืนยิงสุเทพตาย ดังนี้ เนวิน สุขุม และสุขสมต้องรับผิดในการกระทําของบรรจงอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บรรจงใช้อาวุธปืนยิงสุเทพตาย ถือว่าเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของบรรจงจึงเป็นการกระทํา โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง บรรจงจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า เนวิน สุขุม และสุขสม ต้องรับผิดในการกระทําของบรรจงอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของเนวิน

การที่เนวินได้บอกกับบรรจงลูกน้องว่า สุเทพกําแหงมากสมควรตายได้แล้ว เมื่อบรรจงได้ยิน เช่นนั้นจึงทราบทันทีว่าเนวินต้องการให้ฆ่าสุเทพนั้น ถือเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดแล้ว เนวินจึงต้อง รับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 วรรคแรก และเมื่อผู้ถูกใช้คือ บรรจง ได้ลงมือกระทําความผิดตามที่ก่อ เนวิน ผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง

ความรับผิดของสุขุม
การที่สุขุมได้ร่วมวางแผนกับบรรจงเพื่อฆ่าสุเทพ และได้ขี่รถจักรยานยนต์ให้บรรจงซ้อนท้ายไปยังสุเทพนั้น การกระทําของสุขุมถือเป็นการร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันกับบรรจง สุขุมจึงต้องรับผิดฐานเป็น ตัวการร่วมกับบรรจงตามมาตรา 83

ความรับผิดของสุขสม
การที่สุขสมให้บรรจงยืมอาวุธโดยรู้อยู่แล้วว่าบรรจงจะไปยิงสุเทพนั้น การกระทําของสุขสม ถือเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด สุขสมจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86

สรุป
เนวินต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษเสมือนตัวการ
สุขุมต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ สุขสมต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

Advertisement