การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ให้นักศึกษาทําคําตอบทั้งข้อ (ก) และข้อ (ข)

Advertisement

(ก) ไม่มีความผิด โดยไม่มีกฎหมายไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย โทษที่จะลงแก่ผู้กระทํา ต้องเป็นโทษที่กฎหมายกําหนดไว้

ท่านเข้าใจว่าอย่างไร จงอธิบาย ยกตัวอย่างและเหตุผลประกอบ และ

(ข) ดำนอนละเมอมลักขาวตกเตียง ขาวศีรษะแตกกรณีหนึ่ง
นางส้มแม่ของ ด.ญ.แตงกวาอายุ 15 ปี เด็กออทิสติกช่วยตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ ด.ญ.แตงกวา อดอาหารตาย เพราะสงสารลูกที่ทุกข์ทรมานอีกกรณีหนึ่ง

จงวินิจฉัยความรับผิดในทางอาญาของดําและนางส้ม

ธงคําตอบ
(ก) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา ต่อเมื่อได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญานั้น ก็ต่อเมื่อประกอบด้วย หลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า บุคคลนั้นได้กระทําการและการกระทํานั้นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทํานั้นได้บัญญัติว่าเป็นความผิด ถ้าหากในขณะกระทํานั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด การกระทํานั้นย่อมไม่เป็นความผิดตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิด หากไม่มีกฎหมาย”

2. กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําต้องกําหนดโทษไว้ด้วย เพราะถ้ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะกระทําได้บัญญัติว่าเป็นความผิดแต่ไม่ได้กําหนดโทษไว้ ผู้กระทําก็ไม่ต้องรับโทษ ตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษ หากไม่มีกฎหมาย” และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทําความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเท่านั้น ซึ่งโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายในปัจจุบันได้แก่ ประหารชีวิต จําคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน (ป.อาญา มาตรา 18)

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

การกระทํา ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทํา เพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีที่ 1 การที่ดํานอนละเมอผลักขาวตกเตียง ทําให้ขาวศีรษะแตกนั้น ไม่ถือว่าดํามีการกระทําในทางอาญา ดังนั้น ดําจึงไม่มีความรับผิดในทางอาญา ทั้งนี้เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นการกระทําในทางอาญา ซึ่งผู้กระทําอาจจะต้องรับผิดในทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายโดยรู้สํานึกหรือยู่ภายใต้สภาพบังคับของจิตใจด้วย แต่การที่ดําผลักขาวตกเตียงนั้น แม้จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวร่างกายของดํานั้นมิได้อยู่ภายใต้สภาพบังคับของจิตใจ แต่อย่างใด

กรณีที่ 2 การที่นางส้มแม่ของ ด.ญ.แตงกวาอายุ 15 ปี เด็กออทิสติกช่วยตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้ ด.ญ.แตงกวาอดอาหารตายนั้น ถือว่านางส้มได้มีการกระทําในทางอาญาแล้ว เพราะเป็นการไม่เคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายโดยรู้สํานึกคืออยู่ภายใต้สภาพบังคับของจิตใจ และถือว่าเป็นการกระทําโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทําหรือหน้าที่ตามกฎหมายที่กําหนดให้ตนต้องกระทํา (หน้าที่ที่มารดาจําต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร) เพื่อป้องกันผลอันจะเกิดขึ้นนั้น และเมื่อนางส้มได้กระทําโดยเจตนาโดยประสงค์ต่อผลที่เกิดขึ้นนั้น นางส้มจึงต้องรับผิดในทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสองและวรรคห้า

สรุป
นายดําไม่ต้องรับผิดในทางอาญา แต่นางส้มต้องรับผิดในทางอาญา

 

ข้อ 2. พยายามกระทําความผิด มีหลักกฎหมายและโทษอย่างไรบ้าง จงอธิบาย ยกตัวอย่างและเหตุผลประกอบ

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

อธิบาย
ตามมาตรา 80 กรณีที่จะถือว่าเป็นพยายามกระทําความผิดจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ที่สําคัญ 3 ประการ คือ

(1) ผู้กระทําจะต้องมีเจตนากระทําความผิด
(2) ผู้กระทําจะต้องลงมือกระทําความผิดแล้ว กล่าวคือ ได้ผ่านขั้นตระเตรียมการไปแล้ว จนถึงขั้นลงมือกระทําการเพื่อให้บรรลุผลตามที่เจตนา
(3) ผู้กระทํากระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล

ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ (3) นี้ จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80 อาจแบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปไม่ตลอด ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
(1) ผู้กระทําจะต้องได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว หมายถึง ได้กระทําที่พ้นจากขั้น ตระเตรียมการไปแล้วจนถึงขั้นลงมือกระทํา
(2) กระทําไปไม่ตลอด หมายความว่า เมื่อผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว ได้มีเหตุมาขัดขวางเสียไม่ให้กระทําไปได้ตลอด

ตัวอย่าง ก. ตั้งใจจะยิง ข. จึงยกปืนขึ้นประทับบ่าและจ้องไปที่ ข. พร้อมกับขึ้นนก ในขณะที่กําลังจะลั่นไก ค. ได้มาจับมือ ก. เสียก่อน ทําให้ ก. กระทําไปไม่ตลอด คือไม่สามารถยิง ข. ได้

2. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ซึ่งมี องค์ประกอบ ดังนี้

(1) ผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว
(2) การกระทํานั้นได้กระทําไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล เหตุที่ ไม่บรรลุผลก็เพราะว่ามีเหตุมาขัดขวางไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลนั่นเอง

ตัวอย่าง ก. เจตนาฆ่า ข. และได้ยิงปืนไปที่ ข. แต่ลูกปืนไม่ถูก ข. หรือถูก ข. แต่ ข. ไม่ตาย ดังนี้ถือว่า ก. ได้ลงมือกระทําความผิด และได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล คือ ข. ไม่ตาย ตามที่ ก. ประสงค์

โทษของการพยายามกระทําความผิด
โดยปกติ การพยายามกระทําความผิดนั้น ผู้กระทําจะต้องรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น (มาตรา 80 วรรคสอง) เว้นแต่ การพยายามกระทําความผิดบางกรณี ซึ่งถือเป็น ข้อยกเว้น ได้แก่

1. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําต้องรับโทษเท่าความผิดสําเร็จ เช่น การพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 107, มาตรา 108 เป็นต้น

2. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําไม่ต้องรับโทษ เช่น การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทํายับยั้งเสียเองไม่กระทําการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลตามมาตรา 82 หรือ การพยายามกระทําความผิดลหุโทษตามมาตรา 105 เป็นต้น

3. การพยายามกระทําความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81 ที่ ผู้กระทําต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

 

ข้อ 3. นายเสือต้องการฆ่านายช้างแต่ยังหาอาวุธไม่ได้ นายสิงห์รู้เจตนาของนายเสือจึงให้นายเสื้อยืมอาวุธปืน นายเสือพกปืนใส่กระเป๋ากางเกงไปที่บ้านของนายช้าง ขณะที่นายช้างกําลังเดินออกจากตัวบ้าน นายเสือจึงล้วงเอาปืนในกระเป๋ากางเกงเพื่อจะยิงแต่ด้วยความรีบเร่งปืนหลุดมือหล่นลงพื้น โดยนายเสือยังไม่ได้ยกขึ้นเล็ง ปืนกระทบพื้นกระสุนลั่นแต่ไม่มีใครได้รับอันตรายแต่อย่างใด ดังนี้ อยากทราบว่านายสิงห์จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาทหรือเว้นแต่ ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา”

มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษ ที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 59 วรรคหนึ่งที่ว่า บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําการ ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นความผิดนั้น คําว่าได้มีการกระทํานี้ จะต้องเลยขั้นตระเตรียมการมาจนถึงขั้นลงมือกระทําแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือพกปืนใส่กระเป๋ากางเกงไปที่บ้านของนายช้าง และเมื่อพบนายช้างกําลังเดินออกจากตัวบ้าน นายเสือจึงได้ล้วงเอาปืนในกระเป๋ากางเกงเพื่อจะยิงนายช้าง แต่ด้วยความรีบเร่ง ทําให้ปืนหลุดมือหล่นลงพื้นโดยนายเสือยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่นายช้างนั้น การกระทําของนายเสือจึงอยู่เพียงขั้นตระเตรียมการ ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทําความผิด เพราะยังไม่ถือว่าใกล้ชิดกับความผิดสําเร็จ อีกทั้งเมื่อปืนกระทบพื้น กระสุนลั่นแต่ไม่มีใครได้รับอันตรายแต่อย่างใด นายเสือจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

ส่วนนายสิงห์ซึ่งได้ให้นายเสื้อยืมอาวุธปืนนั้น จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีความผิดฐานเป็นผู้ใช้
ความผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 นั้น จะต้องเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่า ด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้นเป็นกรณีที่ นายเสือต้องการฆ่านายช้างอยู่ก่อนแล้วเพียงแต่ยังหาอาวุธไม่ได้ ดังนั้น แม้นายสิงห์จะรู้ถึงเจตนาของนายเสือและให้นายเสื้อยืมอาวุธปืน นายสิงห์ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 เพราะการกระทําของนายสิงห์ ดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการ “ก่อ” ให้นายเสือกระทําความผิดตามนัยของมาตรา 84 แต่อย่างใด

กรณีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน
ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 นั้น จะต้องเป็นการกระทําด้วยประการใดๆ อันเป็น การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านายเสือยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิด ดังนั้น แม้นายสิงห์จะให้นายเสื้อยืมอาวุธปืน นายสิงห์ก็ไม่มี ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

สรุป นายสิงห์ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน

 

ข้อ 4.นางเดือนขับรถจอดไว้ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งโดยติดเครื่องยนต์และเปิดเครื่องปรับอากาศในรถไว้เพราะ ด.ญ.นิดบุตรสาวอายุ 2 ขวบเศษกําลังนอนหลับในรถ นางเดือนล็อคประตูรถแล้วเข้าไปใน ห้างฯ โดยตั้งใจจะซื้อของไม่นานก็กลับ ขณะเดินซื้อของในห้างฯ มีสินค้าลดราคาหลายอย่าง นางเดือน จึงเดินดูเพลินจนลืมว่าติดเครื่องรถไว้ เวลาผ่านไป 45 นาที เครื่องยนต์ดับและเครื่องปรับอากาศในรถ ไม่ทํางาน ด.ญ.นิดตื่นและเดินจะออกจากรถเพราะกําลังจะขาดอากาศหายใจ นายทองดี รปภ. ของห้างฯ เห็นเหตุการณ์แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถของใครจึงตัดสินใจทุบกระจกรถด้านคนขับเพื่อช่วย ด.ญ.นิด ไม่ให้ได้รับอันตราย ดังนี้อยากทราบว่านายทองดีจะอ้างเหตุยกเว้นความผิดหรือเหตุยกเว้นโทษ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสี่และวรรคห้า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทํา โดยประมาทหรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่า นั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทํา ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทํา เพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อาฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย
การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิด และไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

(1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
(2) ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
(3) ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจาก
ภยันตรายนั้น
(4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางเดือนได้ล็อคประตูรถโดยติดเครื่องยนต์และเปิดเครื่องปรับอากาศในรถไว้ เมื่อต่อมาเครื่องยนต์ดับและเครื่องปรับอากาศในรถไม่ทํางาน ทําให้ ด.ญ.นิดบุตรสาวอายุ 2 ขวบเศษ ตื่นและดิ้นจะออกจากรถเพราะกําลังจะขาดอากาศหายใจนั้น ถือว่าได้มีภยันตรายเกิดขึ้นกับ ด.ญ.นิดแล้ว โดยเป็นภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการกระทําโดยประมาทของนางเดือนตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสี่และวรรคห้า ซึ่งเป็นเหตุให้ ด.ญ.นิดได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และอาจทําให้ ด.ญ.นิดถึงแก่ความตายได้ถ้าหากนายทองดี รปภ. ของห้างฯ มิได้ให้การช่วยเหลือได้ทัน

การที่นายทองดีได้ตัดสินใจทุบกระจกรถเพื่อช่วย ด.ญ.นิดไม่ให้ได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น แม้นายทองดีจะได้กระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง และโดยหลักต้องรับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อการกระทําของนายทองดีนั้นเป็นกรณีที่นายทองดีจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เมื่อนายทองดีได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายทองดีจึงเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายทองดีจึงอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 68 เพื่อไม่ต้องรับผิดทางอาญาได้

สรุป นายทองดีสามารถอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 68 ได้

Advertisement