การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ดําขับรถยนต์กระบะไปตามถนนเพื่อจะไปรับผักมาขายที่ตลาด ระหว่างทางพบแดง เขียว แสด ซึ่งนัดกันขับรถมอเตอร์ไซค์ขนาด 100 ซีซี คนละคันขับซิ่งแข่งกันมาตลอดทาง ทั้ง 3 คน ขับรถมอเตอร์ไซค์แซงปาดหน้ารถกระบะของดําขึ้นไปข้างหน้า บีบแตรเยาะเย้ย ดำเร่งความเร็วรถยนต์กระบะอย่างรวดเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไล่ชนมอเตอร์ไซค์ของแดง เขียว แสด ไล่ชนที่ละคน เมื่อไล่ทัน รถมอเตอร์ไซค์ก็พุ่งชนอย่างแรง แดง เขียว แสด ได้รับบาดเจ็บ จงวินิจฉัยความรับผิดของดําที่มีต่อแดง เขียว และแสด ว่ามีอย่างไรบ้าง

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําขับรถยนต์กระบะไปตามถนน และถูกแดง เขียว แสด ขับรถ มอเตอร์ไซค์แซงปาดหน้าและบีบแตรเยาะเย้ย ทําให้ดําเร่งความเร็วรถยนต์กระบะอย่างรวดเร็ว และเมื่อไล่ทัน รถมอเตอร์ไซค์ของแดง เขียว แสดแล้ว ดําก็ขับรถยนต์กระบะพุ่งชนรถมอเตอร์ไซค์ของแดง เขียว แสด ที่ละคน อย่างแรงจนทําให้แดง เขียว แสด ได้รับบาดเจ็บนั้น พฤติการณ์ของดําแม้ว่าจะมิได้มีความประสงค์ให้แดง เขียว แสด ถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การที่ดําได้ขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงไล่ชนรถมอเตอร์ไซค์ของแดง เขียว แสด ที่ละคนนั้น ดําย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทําให้แดง เขียว แสด ถึงแก่ความตายได้ เมื่อดําได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา การกระทําของดําจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดําจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อการกระทําของดําดังกล่าวมิได้ทําให้แดง เขียว แสด ถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่ดํา ได้ลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ดังนั้น ดําจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่า แดง เขียว แสด ตามมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

สรุป
ดําต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าแดง เขียว แสด ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและ วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 2. ข้อยกเว้นของหลักกฎหมายที่ว่า “บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อได้กระทําโดยเจตนา” มีอย่างไรบ้าง จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา”

อธิบาย
ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทํา ซึ่งการกระทํา หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึก กล่าวคือ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง และการกระทํายังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกด้วย ดังจะเห็นได้จากมาตรา 59 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทําให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

และโดยหลักทั่วไป การกระทําซึ่งจะทําให้บุคคลผู้กระทําต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทําโดยเจตนา คือ เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น (มาตรา 59 วรรคสอง)

แต่อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง มีข้อยกเว้นว่า บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา แม้จะมิได้กระทําโดยเจตนาก็ได้ ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทําโดยประมาท เช่น กระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือ

(2) เป็นการกระทําที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้กระทําโดยไม่มีเจตนา (ความผิดเด็ดขาด) เช่น การกระทําความผิดตามประมวลรัษฎากร เป็นต้น หรือ

(3) เป็นการกระทําความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้ แม้กระทําโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เว้นแต่ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น (มาตรา 104)

 

ข้อ 3. นายเดชพบนายเอกคู่อริยืนอยู่คนเดียว จึงเดินเข้าไปหาด่าว่าด้วยถ้อยคําหยาบคายและต่อยเตะนายเอกจนล้มลง แล้วนายเดชก็เดินจากไป นายเอกโกรธลุกขึ้นมาได้คว้าไม้วิ่งไล่ตาม พอทันกัน ใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเดช นายเดชก้มหลบทัน ไม้เลยไปถูกนายเฮงซึ่งเดินสวนมาพอดี ศีรษะแตก ล้มลง นายเอกรีบเดินหนีไป นายเฮงลุกขึ้นมาได้ด้วยความโกรธที่ถูกนายเอกตี วิ่งเข้าไปในบ้านซึ่งอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร หยิบปืนออกมาวิ่งไล่ตามจนทันแล้วใช้ปืนยิงนายเอก แต่กระสุนปืนไม่ลั่น เพราะลืมบรรจุกระสุน ดังนี้ นายเอกและนายเฮง จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร และจะอ้างเหตุผลใด มายกเว้นความผิดหรือลดหย่อนโทษได้หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติ ให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทํากับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นํา กฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทําให้หนักขึ้น”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอด แล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
มาตรา 81 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดกระทําการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทํานั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทําหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทําต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทําความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกและนายเฮง จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร และจะอ้างเหตุใด มายกเว้นความรับผิดหรือลดหย่อนโทษได้หรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอก
การที่นายเอกใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะนายเดชนั้น ถือว่านายเอกมีเจตนาทําร้ายนายเดชแล้ว เพราะการกระทําของนายเอกเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายเอกจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง นายเอกจึงต้อง รับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และแม้การกระทําของนายเอกจะได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลเพราะนายเดชก้มหลบทัน นายเอกก็ต้องรับผิดฐานพยายามทําร้ายนายเดชตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเอกได้กระทําต่อนายเดชนั้น เนื่องมาจากนายเอกถูกนายเดชด่าว่าด้วยถ้อยคําหยาบคายและถูกนายเดชต่อยเตะจนนายเอกล้มลง จึงถือได้ว่าการที่นายเอกได้ใช้ไม้ตีนายเดชนั้น เป็นเพราะนายเอกบันดาลโทสะเนื่องจากถูกนายเดชข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้น นายเอก จึงอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ตามมาตรา 72

ส่วนการที่นายเอกมีเจตนาทําร้ายนายเดช แต่ผลของการกระทําไปเกิดกับนายเฮงโดยพลาดไป ตามกฎหมายให้ถือว่านายเอกได้เจตนากระทําต่อนายเฮงบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นด้วยตามมาตรา 60 แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของนายเอกเป็นการกระทําเพราะบันดาลโทสะ ดังนั้นนายเอกสามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ ศาลลดหย่อนโทษได้เช่นเดียวกันตามมาตรา 72 ประกอบมาตรา 60

กรณีของนายเฮง
การที่นายเฮงถูกนายเอกตี ด้วยความโกรธจึงวิ่งเข้าไปในบ้านซึ่งอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร แล้วหยิบปืนออกมายิงนายเอก แต่กระสุนไม่ลั่นเพราะลืมบรรจุกระสุนนั้น การกระทําของนายเฮงเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนายเฮง จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง นายเฮงจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทําของนายเฮง เป็นการกระทําที่ถือได้ว่าลงมือกระทําแล้ว แต่การกระทําไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทํา และนายเฮงได้กระทําไปเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้น นายเฮงจึงมีความผิดฐานพยายามกระทําความผิดตาม มาตรา 81 วรรคหนึ่ง และสามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ตามมาตรา 72

สรุป
นายเอกต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามทําร้ายนายเดชตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง และมีความผิดฐานทําร้ายนายเฮงโดยพลาดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งประกอบ มาตรา 60 แต่นายเอกสามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ตามมาตรา 72

นายเฮงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทําความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่าง แน่แท้ตามมาตรา 81 วรรคหนึ่ง แต่สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนโทษได้ตามมาตรา 72

 

ข้อ 4. หนึ่ง สอง และสาม ร่วมกันวางแผนจะขโมยเหล้าที่ร้านนายเจริญในเวลากลางคืน โดยหนึ่งเป็นคนจัดหารถยนต์มาให้ แต่ไม่ได้ไปร่วมขโมยด้วย เมื่อได้รถยนต์แล้วสองเป็นคนขับรถยนต์พาสามไปจอดที่หน้าร้านนายเจริญ สามแต่เพียงคนเดียวเป็นผู้ปีนและงัดประตูเข้าไปในร้าน และขโมยเหล้ามา ส่งให้สองที่ยืนดูต้นทางอยู่หน้าร้าน และรับเหล้าไปไว้ในรถยนต์ เมื่อขโมยได้เหล้าตามที่ต้องการแล้ว สองขับรถยนต์พาสามเอาเหล้าไปส่งให้หนึ่งที่บ้าน หนึ่งขับรถยนต์ไปหาสี่ สี่รู้ว่าเป็นเหล้าที่ขโมยมา ก็ยังช่วยพาหนึ่งไปขายเหล้าให้กับนายห้า ดังนี้ หนึ่ง สอง และสี่ จะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดที่สามขโมยเหล้าร้านนายเจริญในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ หนึ่ง สอง และสี่ จะต้องร่วมรับผิดทางอาญาในความผิดที่สามขโมยเหล้าร้านนายเจริญในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือไม่อย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของสอง
การที่สองได้ร่วมวางแผนกับสามเพื่อขโมยเหล้าที่ร้านนายเจริญ และในขณะที่สามได้ปีนและงัดประตูเข้าไปในร้าน สองก็ยืนดูต้นทางอยู่หน้าร้าน ถือได้ว่าสองและสามมีเจตนาร่วมกันกระทําความผิดและได้ร่วมกันถึงขั้นลงมือกระทําความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทําและอยู่ใกล้พร้อมที่จะช่วยเหลือกันได้ ความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าว (การขโมยเหล้า) จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป คือเกิดจากการกระทําของสองและสาม ดังนั้น สองจึงต้องร่วมรับผิดทางอาญากับสามในฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

กรณีของหนึ่ง
แม้หนึ่งจะได้ร่วมวางแผนกับสองและสามเพื่อขโมยเหล้าที่ร้านนายเจริญก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในขณะที่สองและสามขโมยเหล้านั้นหนึ่งไม่ได้อยู่ร่วมด้วย แต่หนึ่งได้ขออยู่ที่บ้าน ซึ่งหนึ่งไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย จึงถือไม่ได้ว่าหนึ่งเป็นตัวการร่วมในการขโมยเหล้า แต่อย่างไรก็ตาม การที่หนึ่งได้ร่วมวางแผนกับสองและสามและเป็นคนจัดหารถยนต์มาให้ ถือเป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด ดังนั้น หนึ่งจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

กรณีของสี่
สี่ไม่ได้ร่วมวางแผนกับหนึ่ง สอง และสาม เพื่อขโมยเหล้าที่ร้านนายเจริญ จึงมิใช่ตัวการ และการที่สี่ได้ช่วยหนึ่งขายเหล้าทั้งที่รู้ว่าเป็นเหล้าที่ขโมยมา สี่ก็ไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน เพราะการที่สี่ ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ก็เป็นการกระทําหลังจากที่ความผิดฐานลักทรัพย์ (ขโมยเหล้า) สําเร็จแล้ว ซึ่งกรณีที่จะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นจะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทําความผิดเท่านั้น การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกภายหลังการกระทําความผิด จึงเป็นผู้สนับสนุนไม่ได้ ดังนั้น สี่จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนแต่อย่างใด แต่สี่ต้องรับผิดทางอาญาฐานใหม่ คือฐานรับของโจร

สรุป
หนึ่งต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สองต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
สี่ไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน แต่ต้องรับผิดฐานรับของโจร

Advertisement