การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ก. คนบ้ารักษาตัวกับแพทย์แล้วคิดว่าตัวเองหายปกติดี พฤติกรรมบางครั้งไม่ยอมกินยาที่แพทย์สั่งบางครั้งก็กินยา วันเกิดเหตุ ก. เดินมาตลาดพบ ข. รอรถเมล์จะไปทํางาน ก. ไม่พอใจ ข. ที่มองหน้าตน ก. ชกเตะ ข. ล้มลงและจะกระทืบซ้ำ ข. ลุกขึ้นต่อยคาง ก. ก. สลบ ดังนี้ ก. และ ข. จะต้องรับผิด รับโทษในทางอาญาอย่างใด หรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 65 “ผู้ใดกระทําความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทําความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้น ต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุการกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ก. และ ข. จะต้องรับผิดรับโทษในทางอาญา อย่างใด หรือไม่ แยกพิจารณา ได้ดังนี้

กรณีของ ก.
การที่ ก. ชกเตะ ข. จนล้มลงและจะกระทืบซ้ำนั้น ถือว่า ก. ได้กระทําต่อ ข. โดยเจตนา เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้ว ก. จะต้องรับผิดและรับโทษตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม ปอ. มาตรา 65 วรรคแรก ได้กําหนดไว้ว่า หากผู้กระทําผิดได้กระทําในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ สําหรับความผิดนั้น ตามข้อเท็จจริงแม้ว่า ก. จะเป็นคนบ้า แต่พฤติกรรมของ ก. ดังกล่าว ถือเป็นการกระทําความผิด (ทําร้ายร่างกายผู้อื่น) ในขณะที่ ก. ยังสามารถรู้ผิดชอบ หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ดังนั้น ก. จึงต้องรับผิด และรับโทษฐานทําร้ายผู้อื่นตามมาตรา 65 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคแรก ศาลจะไม่ลงโทษ ก. เลยไม่ได้ แต่ศาลอาจจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ และอาจจะลงโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำก็ได้

กรณีของ ข.
การที่ ข. ลุกขึ้นต่อยคาง ก. จน ก. สลบนั้น ถือว่า ข. ได้กระทําต่อ ก. โดยเจตนาเพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้ว ข. จะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ข. ต่อยคาง ก. นั้น เป็นเพราะ ก. ชกเตะ ข. จนล้มลงและจะกระทืบซ้ำ การกระทําของ ก. จึงถือเป็นภยันตรายที่ละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ดังนั้น การที่ ข. ต่อยคาง ก. จึงเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น และเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ จึงถือว่าเป็นการกระทําที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ข. จึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป
ก. จะต้องรับผิดและรับโทษทางอาญาฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น แต่ศาลจะลงโทษน้อย เพียงใดก็ได้ ส่วน ข. ไม่ต้องรับผิดและรับโทษทางอาญา เพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พยายามกระทําความผิด มีหลักกฎหมายและโทษอย่างไรบ้าง จงอธิบาย และยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

อธิบาย
ตามมาตรา 80 กรณีที่จะถือว่าเป็นพยายามกระทําความผิดจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ที่สําคัญ 3 ประการ คือ

(1) ผู้กระทําจะต้องมีเจตนากระทําความผิด
(2) ผู้กระทําจะต้องลงมือกระทําความผิดแล้ว กล่าวคือ ได้ผ่านขั้นตระเตรียมการไปแล้ว จนถึงขั้นลงมือกระทําการเพื่อให้บรรลุผลตามที่เจตนา
(3) ผู้กระทํากระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล

ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ (3) นี้ จะเห็นได้ว่า การพยายามกระทําความผิดตามมาตรา 80 อาจแบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท คือ การ

1. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปไม่ตลอด ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

(1) ผู้กระทําจะต้องได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว หมายถึง ได้กระทําที่พ้นจากขั้น ตระเตรียมการไปแล้วจนถึงขั้นลงมือกระทํา

(2) กระทําไปไม่ตลอด หมายความว่า เมื่อผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว ได้มีเหตุมาขัดขวางเสียไม่ให้กระทําไปได้ตลอด

ตัวอย่าง ก. ตั้งใจจะยิง ข. จึงยกปืนขึ้นประทับบ่าและจ้องไปที่ ข. พร้อมกับขึ้นนก นี้ ในขณะที่กําลังจะลั่นไก ค. ได้มาจับมือ ก. เสียก่อน ทําให้ ก. กระทําไปไม่ตลอด คือไม่สามารถยิง ข. ได้

2. พยายามกระทําความผิดที่กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ซึ่งมี องค์ประกอบ ดังนี้

(1) ผู้กระทําได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว
(2) การกระทํานั้นได้กระทําไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล เหตุที่ ไม่บรรลุผลก็เพราะว่ามีเหตุมาขัดขวางไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลนั่นเอง

ตัวอย่าง ก. เจตนาฆ่า ข. และได้ยิงปืนไปที่ ข. แต่ลูกปืนไม่ถูก ข. หรือถูก ข. แต่ ข. ไม่ตาย ดังนี้ถือว่า ก. ได้ลงมือกระทําความผิด และได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล คือ ข. ไม่ตาย ตามที่ ก. ประสงค์

โทษของการพยายามกระทําความผิด
โดยปกติ การพยายามกระทําความผิดนั้น ผู้กระทําจะต้องรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่ กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น (มาตรา 80 วรรคสอง) เว้นแต่การพยายามกระทําความผิดบางกรณี ซึ่งถือเป็น ข้อยกเว้น ได้แก่

1. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําต้องรับโทษเท่าความผิดสําเร็จ เช่น การพยายาม กระทําความผิดตามมาตรา 107, มาตรา 108 เป็นต้น

2. การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทําไม่ต้องรับโทษ เช่น การพยายามกระทําความผิดที่ผู้กระทํายับยั้งเสียเองไม่กระทําการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผลตามมาตรา 82 หรือ การพยายามกระทําความผิดลหุโทษตามมาตรา 105 เป็นต้น

3. การพยายามกระทําความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 81 ที่ผู้กระทําต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

 

ข้อ 3. เฮงโชคดีถูกหวยได้เงินมาจึงชวนดํา เหลือง และเขียว มาร่วมดื่มสุราฉลองที่บ้าน เมื่อดื่มสุรากันจนเมาได้พูดคุยเรื่องการเมืองกัน เฮงกับดําความเห็นไม่ตรงกันทะเลาะกันเสียงดัง เฮงคว้าขวดสุรา ตีศีรษะดําแตก เหลืองกับเขียวได้เข้าห้ามและขอร้องให้เลิกทะเลาะกัน เฮงกับดํา เหลือง เขียว ได้ร่วมกันดื่มสุราต่อไป ต่อมาดําขอตัวกลับไปก่อน อีกสองชั่วโมงดําถือมีดโต้ย้อนกลับมาที่บ้านเฮง เห็นเฮง เหลือง เขียว เมาสุรานอนหลับกันหมดแล้ว ดําใช้มีดฟันที่แขนเฮงขาด ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ เฮงและดําจะต้องรับผิดทางอาญา โดยจะอ้างเหตุใดมายกเว้นความผิด หรือลดหย่อนผ่อนโทษ ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เฮงและดําจะต้องรับผิดทางอาญา โดยจะอ้างเหตุใดมายกเว้นความผิด หรือลดหย่อนผ่อนโทษได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ ดังนี้

กรณีของเฮง
การที่เฮงใช้ขวดสุราตีศีรษะดํา ถือว่าเฮงได้กระทําต่อดําโดยเจตนา เพราะเป็นการกระทํา โดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น เฮงจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อดําตามมาตรา 59 วรรคแรก โดยเฮงจะอ้างเหตุใดมายกเว้นความผิดหรือ ลดหย่อนผ่อนโทษไม่ได้

กรณีของดํา
การที่ดําใช้มีดโต้ฟันแขนเฮงจนขาดนั้น ถือว่าดําได้กระทําต่อเฮงโดยเจตนา เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น ดําจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเฮงตามมาตรา 59 วรรคแรก

และกรณีนี้ดําไม่สามารถอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ เพราะกรณีที่ผู้กระทําความผิดจะอ้างว่าได้กระทําความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษให้ตามมาตรา 72 นั้น จะต้องเป็นการกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือในขณะที่ถูกข่มเหงนั่นเอง แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่ดํากระทําต่อเฮงกับการที่ดําถูกเฮงตีศีรษะนั้นไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากปรากฏว่าหลังจากที่เฮงตีศีรษะ ดํา ทั้งสองคนยังคงร่วมดื่มสุรากันต่อไป และดําได้ขอตัวกลับบ้านไปก่อนแล้ว อีกสองชั่วโมงกว่าจึงกลับมาทําร้าย เฮง ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างว่าเป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ได้

สรุป
เฮงและดําจะต้องรับผิดทางอาญา โดยจะอ้างเหตุใดมายกเว้นความผิดหรือลดหย่อน ผ่อนโทษไม่ได้เลย

 

ข้อ 4. พล นิกร กิมหงวน ร่วมกันวางแผนจะฆ่าแห้ว โดยตกลงให้พลเป็นคนจัดหาปืนมาให้นิกรเป็นคนยิง ส่วนกิมหงวนจะเป็นคนดูต้นทางและส่งสัญญาณให้นิกร เมื่อพลจัดหาปืนมาให้นิกรแล้ว ทั้งสามคนก็ไปดักซุ่มอยู่ข้างทางที่ทราบว่าแห้วจะเดินผ่าน ระหว่างซุ่มรออยู่นั้น พลเกิดเปลี่ยนใจชวนให้ นิกรกับกิมหงวนเลิกล้มความตั้งใจที่จะฆ่าแห้ว แต่นิกรกับกิมหงวนไม่ยอม พลจึงขอตัวกลับบ้าน ไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อแห้วเดินผ่านมา กิมหงวนซึ่งเป็นคนคอยดูต้นทางให้สัญญาณ นิกรจึงใช้ปืนยิงแห้วถึงแก่ความตาย

ดังนี้ พล นิกร กิมหงวน จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิดก่อน หรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทําความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การกระทําของพล นิกร กิมหงวน จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของพล
แม้พลจะได้ร่วมวางแผนกับนิกรและกิมหงวนเพื่อจะฆ่าแห้ว แต่ในขณะที่นิกรใช้ปืนยิงแห้วถึงแก่ความตายนั้น พลไม่ได้อยู่ร่วมด้วย เนื่องจากพลเกิดเปลี่ยนใจและขอตัวกลับบ้านไปก่อน จึงถือว่าพลขาดเจตนา ที่จะร่วมกระทําความผิด ดังนั้น พลย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

แต่อย่างไรก็ตาม การที่พลได้วางแผนช่วยจัดหาปืนมาให้นิกรใช้ยิงแห้วนั้น ถือว่าเป็นการกระทําอันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด ดังนั้น พลจึงต้องรับผิดทางอาญา ในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

กรณีของนิกร
การที่นิกรใช้ปืนยิงแห้วถึงแก่ความตายนั้น ถือว่านิกรได้กระทําต่อแห้วโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น นิกรจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก

กรณีของกิมหงวน
การที่กิมหงวนร่วมกันวางแผนกับนิกรเพื่อฆ่าแห้ว และคอยดูต้นทางพร้อมทั้งส่งสัญญาณให้นิกรยิงแห้วจนถึงแก่ความตายนั้น ถือว่ากิมหงวนมีเจตนาร่วมกันกระทําความผิดกับนิกร และการกระทําของ กิมหงวนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้การฆ่าแห้วบรรลุผลสําเร็จ ดังนั้น เมื่อนิกรยิงแห้วตาย จึงถือว่ากิมหงวนร่วมกัน กระทําความผิดกับนิกรฐานฆ่าแห้วตายโดยเจตนา และต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

สรุป
พลต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
นิกรต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคแรก
กิมหงวนต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

Advertisement