การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด มีหลักกฎหมายและข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง จงอธิบายและ
ยกตัวอย่างประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรก “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา”

อธิบาย
ตามบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ ซึ่งการกระทำ หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึก กล่าวคือ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับ ของจิตใจนั่นเอง และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึกด้วย ดังจะเห็นได้จาก มาตรา 59 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “การกระทําให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

และโดยหลักทั่วไป การกระทําซึ่งจะทําให้บุคคลผู้กระทําต้องรับผิดในทางอาญานั้น จะต้องเป็นการกระทําโดยเจตนา คือ เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น (มาตรา 59 วรรคสอง)

การกระทําโดยเจตนา แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1. การกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผล ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ

(1) เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา หมายถึง การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือ การไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง และ

(2) ในขณะกระทําผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น หมายถึง ในขณะ กระทํานอกจากจะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกแล้ว ผู้กระทํายังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ๆ ตามที่ ผู้กระทํามุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง แดงต้องการฆ่าดําจึงใช้ปืนยิงไปที่ดําและถูกดําตาย ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดําถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึก และความตายของดําถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

2. การกระทําโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ

(1) เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และ

(2) ในขณะกระทําผู้กระทําย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น หมายถึง เป็นการกระทําที่ผู้กระทํามิได้ประสงค์ต่อผล กล่าวคือ มิได้มุ่งหมายให้ผลเกิดขึ้น แต่ผู้กระทําย่อมเล็งเห็นได้ว่าผลนั้น จะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดํา และถูกดำตาย ดังนี้ การที่แดงใช้ปืนยิงดำ แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดําตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น แต่การกระทําของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า ถ้ากระสุนปืนถูกดำย่อมทําให้ดำตายได้ จึงถือว่าแดง มีเจตนาฆ่าดำโดยหลักย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี ตามมาตรา 59 วรรคแรก มีข้อยกเว้นว่า บุคคลอาจจะต้องรับผิด ในทางอาญา แม้จะมิได้กระทําโดยเจตนาก็ได้ ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทําโดยประมาท เช่น กระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น หรือ

(2) เป็นการกระทําที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้กระทําโดย ไม่มีเจตนา (ความผิดเด็ดขาด) เช่น การกระทําความผิดตามประมวลรัษฎากร เป็นต้น หรือ

(3) เป็นการกระทําความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้ แม้กระทําโดย ไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เว้นแต่ ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น (มาตรา 104)

 

ข้อ 2. นาย ก. และนาง ข. เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่มาวันหนึ่งนาย ก. สามีเห็นนาย ค. และนาง ข. กําลังทําชู้กัน นาย ก. โกรธจึงยิงนาย ค. และนาง ข. ตายคาที่ จงวินิจฉัยความรับผิดของนาย ก.

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

การกระทําที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะมีผลทําให้ผู้กระทําไม่มีความผิด และไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 68 ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ

(1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
(2) ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
(3) ผู้กระทําจําต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น
(4) ต้องได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. ยิงนาย ค. และนาง ข. ตายนั้น การกระทําของนาย ก. เป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น การกระทําของนาย ก. จึงเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้วนาย ก. จะต้องรับผิด ทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นาย ก. ยิงนาย ค. และนาง ข. ตายในขณะกําลังทําชู้กันนั้น ถือได้ว่า เป็นการกระทําที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่นาย ค. กับนาง ข. ทําชู้กันนั้น ถือว่า มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นและทําให้นาย ก. เสียหายต่อสิทธิในชื่อเสียง และเกียรติของนาย ก. ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนาง ข. และการที่นาย ค. กับนาง ข. กําลังทําชู้กันนั้น ถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง นาย ก. จึงต้องกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น และเมื่อ การกระทําของนาย ก. เป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ จึงครบองค์ประกอบของการกระทําที่ถือว่าเป็นการ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ดังนั้น นาย ก. จึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญาแต่อย่างใด

สรุป
นาย ก. ไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะเป็นการกระทําที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ร.ต.อ.เก่งกับ ส.ต.อ.กล้าเข้าเวรเดินตรวจตราท้องที่ในเวลากลางคืนเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน พบนายโก๋กับพวกอีกห้าคนยืนจับกลุ่มในที่มืดแต่ละคนมีท่อนเหล็กแป็บ ร.ต.อ.เก่ง กับ ส.ต.อ.กล้าจึงเข้าไปสอบถาม นายโก๋กับพวกไม่พอใจจึงรุมตี ร.ต.อ.เก่งกับ ส.ต.อ.กล้าจนล้มลง ขณะจะใช้ท่อนเหล็กตีซ้ำ ร.ต.อ.เก่งชักปืนยิงสวนไปหนึ่งนัดกระสุนถูกนายโก๋ถึงแก่ความตาย พวกนายโก๋ที่เหลือจึงพากันหันหลังวิ่งหนี ส.ต.อ.กล้าลุกขึ้นมาได้ชักปืนยิงพวกที่กําลังวิ่งหนี ถูกลูกกระสุนปืนตายไปอีก 1 คน ดังนี้ ร.ต.อ.เก่งกับ ส.ต.อ.กล้า จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคแรกและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทํา ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทําความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ร.ต.อ.เก่ง และ ส.ต.อ.กล้า จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของ ร.ต.อ.เก่ง
การที่ ร.ต.อ.เก่งได้ชักปืนออกมายิงนายโก๋กับพวกหนึ่งนัดและกระสุนถูกนายโก๋ถึงแก่ความตาย ถือว่า ร.ต.อ.เก่งได้กระทําต่อนายโกโดยเจตนาเพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทําและใน ขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งโดยหลักแล้ว ร.ต.อ.เก่งย่อม จะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ ร.ต.อ.เก่งได้ใช้ปืนยิงนายโก๋นั้น เป็นเพราะนายโก๋กับพวกรุมตี ร.ต.อ.เก่ง และเมื่อ ร.ต.อ.เก่งล้มลงนายโก๋กับพวกก็จะใช้ท่อนเหล็กตีซ้ำ การกระทำของนายโก่กับพวกจึงถือว่าเป็นภยันตรายที่ ละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ดังนั้นการที่ ร.ต.อ.เก่งชักปืนยิงสวนไปเพียงหนึ่งนัด จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น และเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ จึงถือว่าเป็นการ กระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 ร.ต.อ.เก่ง จึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดทางอาญา

กรณีของ ส.ต.อ.กล้า
การที่ ส.ต.อ.กล้าได้ใช้ปืนยิงไปที่พวกของนายโก๋ที่กําลังวิ่งหนีและถูกลูกกระสุนปืนตายไป อีก 1 คนนั้น ถือว่า ส.ต.อ.กล้าได้กระทำโดยเจตนาเพราะเป็นการกระทําโดยรู้สำนึกในการกระทำ และใน ขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา 59 วรรคสอง ดังนั้น ส.ต.อ.กล้าจึงต้องรับผิดทาง อาญาตามมาตรา 59 วรรคแรก และการกระทำของ ส.ต.อ.กล้าจะอ้างว่าเป็นการกระเพื่อป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้ เพราะภยันตรายดังกล่าวนั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีภยันตรายใด ๆ แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของ ส.ต.อ.กล้า ถือว่าเป็นการกระทำไปโดยบันดาลโทสะ ตามมาตรา 72 เพราะการที่พวกของนายโก๋ได้รุมตี ส.ต.อ.กล้าโดยไม่มีอำนาจนั้น ถือเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และ ส.ต.อ.กล้าก็ได้กระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ดังนั้น ศาลจะลงโทษ ส.ต.อ.กล้า น้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้เพียงใดก็ได้

สรุป
ร.ต.อ.เก่งไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ส.ต.อ.กล้าต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยเจตนา แต่อ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

 

ข้อ 4. หนึ่ง สอง สาม ร่วมกันวางแผนขโมยวัวบ้านนายรวย โดยหนึ่งเข้าไปต้อนวัวที่อยู่ในคอก ส่วนสองดูต้นทางอยู่ใกล้ ๆ เมื่อหนึ่งต้อนวัวมาให้สองแล้ว สองแต่ผู้เดียวได้ต้อนวัวไปส่งให้สามที่รออยู่ที่ ชายทุ่งซึ่งห่างจากบ้านนายรวยประมาณ 1 กิโลเมตร สามได้วัวจากสองแล้วก็ต้อนวัวต่อเพื่อจะนําไปขาย พบสี่กลางทางโดยบังเอิญได้ขอให้สี่ช่วยต้อนวัว สี่ช่วยต้อนวัวให้ทั้งที่รู้ว่าเป็นวัวที่ขโมย ดังนี้ สอง สาม และสี่ จะต้องร่วมรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งขโมยวัวของนายรวยในฐาน เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

มาตรา 86 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการ ที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความ สะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กําหนดไว้ สําหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น”

วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สอง สาม และสี่ จะต้องร่วมรับผิดทางอาญาในความผิดที่หนึ่งขโมยวัว ของนายรวยในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือไม่อย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของสอง
การที่สองได้ร่วมวางแผนกับหนึ่งเพื่อขโมยวัวบ้านนายรวย และในขณะที่หนึ่งได้เข้าไปต้อนวัวที่อยู่ในคอกสองก็ดูต้นทางอยู่ใกล้ ๆ นั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้น ความผิดฐานลักทรัพย์ (ขโมยวัว) ดังกล่าวจึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปคือเกิดจากการกระทำของหนึ่งและสอง สองจึงต้องร่วมรับผิดทางอาญาในฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

กรณีของสาม
แม้สามจะได้ร่วมวางแผนกับหนึ่งและสองเพื่อขโมยวัวบ้านนายรวยก็ตาม แต่ในขณะที่หนึ่ง ขโมยวัวนั้นสามไม่ได้อยู่ร่วมด้วย แต่สามได้รออยู่ที่ชายทุ่งซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนายรวยประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย จึงถือไม่ได้ว่าสามเป็นตัวการร่วมในการขโมยวัว แต่อย่างไรก็ตาม การที่สาม ได้ร่วมวางแผนกับหนึ่งและสองและไปรออยู่เพื่อที่จะต้อนวัวไปขายนั้น ถือว่าเป็นการกระทําอันเป็นการ ช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ดังนั้น สามจึงต้องรับผิดทางอาญาในฐานเป็น ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86

กรณีของสี่
สี่ไม่ได้ร่วมวางแผนกับหนึ่ง สอง และสาม เพื่อขโมยวัวบ้านของนายรวยจึงมิใช่ตัวการ และการที่สี่ได้ช่วยสามต้อนวัวทั้งที่รู้ว่าเป็นวัวที่ขโมยมา สี่ก็ไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน เพราะการที่สี่ ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ความผิดฐานลักทรัพย์ (ขโมยวัว) สำเร็จแล้ว ซึ่งกรณีที่จะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนนั้นจะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกภายหลังการกระทำความผิด จึงเป็นผู้สนับสนุนไม่ได้ ดังนั้น สี่จึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนแต่อย่างใด แต่สี่ต้องรับผิดทางอาญาฐานใหม่ คือฐานรับของโจร

สรุป
สองต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83
สามต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86
สี่ไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน แต่ต้องรับผิดฐานรับของโจร

Advertisement