การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

Advertisement

ข้อ 1 นายจันทร์อยากได้บ้านและที่ดินมีโฉนดของนายอังคาร นายจันทร์ได้ติดต่อขอซื้อบ้านและที่ดินแปลงนี้จากนายอังคารในราคา 10 ล้านบาท นายอังคารขอให้นายจันทร์ไปพบที่สำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนสิทธินิติกรรม ซื้อขายบ้านและที่ดินแปลงนี้

ทั้งคู่ได้มาที่สำนักงานที่ดินและได้ทำหนังสือสัญญาซ้อขายบ้านและที่ดินใน ราคา 10 ล้านบาท พร้อมกับยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าโฉนดฉบับสำนักงานที่ดินสูญหายขอทั้งคู่มาจด ทะเบียนกันใหม่หลังจากนี้อีก 15 วัน ต่อมาอีก 1 เดือน

นายจันทร์ได้ขอให้นายอังคารไปจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินแปลงนี้ นายอังคารกลับปฏิเสธและไม่ขาย เพราะเห็นว่าบ้านและที่ดินมีราคาท้องตลาดสูงขึ้นมาก นายจันทร์มาถามท่านว่า นายจันทร์จะมีสิทธิเรียกร้องบ้านและที่ดินแปลงนี้จากนายอังคารได้หรือไม่
ดังนี้ ตามข้อเท็จจริงนี้ ท่านจะให้คำตอบแก่นายจันทร์อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัยกรณี ตามอุทาหรณ์ สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และคู่สัญญาได้ตกลงซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะไปโอน หรือไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลังแต่อย่างใดและ สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายบัญญัติให้คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้า หน้าที่ตามมาตรา 456 วรรคแรก แต่เมื่อได้ความว่านายจันทร์กับนายอังคารทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อบ้านและ ที่ดินเพียงอย่างเดียว โดยยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินยังไม่ถือว่าทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมาย บังคับไว้ตามมาตรา456 วรรคแรก สัญญานี้ย่อมตกเป็นโมฆะ ถือว่าไม่มีสัญญาซื้อขายที่ดินต่อกัน นายจันทร์จะเรียกร้องบ้านและที่ดินแปลงนี้จากนายอังคารไม่ได้สรุป นายจันทร์จะเรียกร้องบ้านและที่ดินแปลงนี้จากนายอังคารไม่ได้

ข้อ 2 นายสดไปซื้อของใช้สำนักงานจากการขายทอดตลาดของนายใส ได้เครื่องคอมพิวเตอร์มา 5 เครื่อง เครื่องถ่ายเอกสารรุ่นสามารถมหัศจรรย์มา 2 เครื่อง หลังจากนั้นปรากฏว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ 3 ใน 5 เครื่อง ทำงานเชื่องช้าขาดตกบกพร่องไม่เป็นไปตามความสามารถของคอมฯรุ่นนี้พึงจะทำได้ และ 1 ใน 2 ของเครื่องถ่ายเอกสาร นายแสงมาขอคืน โดยมีเอกสารยืนยันว่าเป้นของตนซึ่งถูกขโมยมา นายสดก็คืนให้ไปนายสดจะฟ้องนายใสให้รับผิดในความชำรุดบกพร่อง และการรอนสิทธิที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใดธงคำตอบหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดย ปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อ ขายก็ดี เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้เครื่องคอมพิวเตอร์ 3 ใน 5 เครื่องที่นายสดซื้อมาจะชำรุดบกพร่อง แต่นายสดจะฟ้องร้องให้นายใสผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้ เพราะเป็นการซื้อจากการขายทอดตลาดตามมาตรา 473(3) ประกอบมาตรา 472 ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้ตรวจดูทรัพย์สินก่อนซื้อขาย

ส่วน กรณีการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 475 วางหลักไว้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดในการรอนสิทธิ ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อมาได้โดยปกติสุข เพราะมีบุคคลอื่นที่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อ ขายมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อ ซึ่งความรับผิดในการรอนสิทธิของผู้ขายนี้เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่โดยสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายใสได้ขายเครื่องถ่ายเอกสาร 2 เครื่องให้นายสดไปแล้ว แต่นายสดไม่สามารถครอบครองเครื่องถ่ายเอกสารโดยปกติสุข เพราะนายแสงเจ้าของที่แท้จริงมาขอคืนเครื่องถ่ายเอกสาร 1 ใน 2 เครื่องคืน กรณีจึงเป็นการรบกวนขัดสิทธิของนายสดที่จะครอบครองเครื่องถ่ายเอกสารนี้โดย ปกติสุข จึงถือว่านายสดถูกรอนสิทธิ ดังนั้น นายสดจึงฟ้องให้นายใสรับผิดกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิได้

สรุป นายสดจะฟ้องนายใสให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้ แต่ฟ้องเพราะเหตุที่ถูกรอนสิทธิได้

 

 

ข้อ 3 นายไก่นำลูกช้าง 4 เชือก ไปขายฝากไว้กับนายไข่โดยทำสัญญากันเองในราคาเชือกละ 1 แสนบาท ไถ่คืนภายในกำหนด 3 ปี ในราคาเชือกละ 2 แสนบาท เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี นายไก่ไปขอใช้สิทธิไถ่คืนพร้อมเงิน 5 แสน 8 หมื่นบาทถ้วน นายไข่ปฏิเสธโดยอ้างว่า สัญญาขายฝากเป็นโมฆะ ตนมีสิทธิครอบครองถึงจะไถ่ก็ไถ่ไม่ได้เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลา สินไถ่ไม่ครบ คำปฏิเสธของนายไข่รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคแรก การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

 

มาตรา 499 สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้า ปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้ จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ลูกช้างเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดา การขายฝากจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นคู่กรณีสามารถทำสัญญากันเองได้และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคแรก

ส่วนการที่นายไก่ไปขอสิทธิไถ่นั้น นายไข่จะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุว่านายไก่ได้ขอใช้สิทธิในการไถ่ภายในกำหนดระยะเวลา 3 ปีตามมาตรา 494(2) และในส่วนเงินสินไถ่นั้นตามมาตรา 499 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่ แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี ดังนั้นเมื่อนายไก่นำเงิน 5 แสน 8 หมื่นบาท เป็นสินไถ่นั้นจึงเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้อง กล่าวคือ ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี เท่ากับ 5 แสน 8 หมื่นบาทตามมาตรา 499

ดังนั้น เมื่อนายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิภายในกำหนดเวลา และเงินสินไถ่ก็ครบตามที่กฎหมายกำหนด คำปฏิเสธของนายไข่จึงรับฟังไม่ได้

สรุป คำปฏิเสธของนายไข่รับฟังไม่ได้

Advertisement