การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2005
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อข้อ 1 นายจันทร์ขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 5 ล้านบาท นายอังคารตอบตกลงซื้อโดยมีข้อตกลงกันว่า นายจันทร์จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารในวันที่ 1 เดือนหน้า 
นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารพร้อมกับรับชำระราคา และทั้งคู่ได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ ถึงวันนัดโอน นายจันทร์ก็หาได้ไปจดทะเบียนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคาร นายอังคารอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาได้ 12 ปี 
ที่ดินแปลงนี้มีราคาท้องตลาดสูงขึ้นมาก นายจันทร์อยากได้ที่ดินคืนและมาขอให้นายอังคารคืนที่ดินแปลงนี้ นายอังคารไม่ยอมคืน นายจันทร์ยื่นฟ้องนายอังคาร ให้ศาลบังคับขับไล่นายอังคารให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้ 
นายอังคารได้รับสำเนาฟ้องแล้วมาถามท่านว่า นายอังคารจะมีทางต่อสู้คดีให้ชนะนายจันทร์ได้หรือไม่ และจะมีทางแก้อย่างไร ดังนี้ ท่านจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นใน การซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับ ผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้กับนายอังคาร โดยตกลงกันว่านายจันทร์จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายอังคารในวันที่ 1 เดือนหน้านั้น สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เพราะเป็นการซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์และคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่ จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่กันในขณะทำสัญญาซื้อขาย แต่มีเจตนาจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหน้า และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือ จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 456 วรรคสอง

และจากข้อ เท็จจริง การที่นายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารครอบครอง และนายอังคารได้อยู่ในที่ดินแปลงนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายนั้น จะถือว่านายอังคารเจตนาจะยึดถือที่ดินเพื่อตนไม่ได้ แต่ต้องถือว่าเป็นการยึดถือแทนนายจันทร์ และแม้นายอังคารจะอยู่ในที่ดินมาได้ 12 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ (ตามมาตรา 1382) ดังนั้น เมื่อนายจันทร์ผิดนัดไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญา และได้ยื่นฟ้องขับไล่นายอังคารให้ออกจากที่ดิน นายอังคารก็ชอบที่จะต่อสู้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้ศาลบังคับนายจันทร์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารฐานผิด สัญญาจะซื้อจะขายได้

แต่อย่างไรก็ตาม นายอังคารจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้นายจันทร์ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวภายใน อายุความ 10 ปี นับแต่วันที่นายจันทร์ผิดสัญญาตามมาตรา 193/30 หากนายอังคารเรียกร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของนายอังคารย่อมขาดอายุความ ซึ่งจะทำให้นายอังคารแพ้คดีและถูกขับไล่ออกไปจากที่ดินแปลงนี้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำตอบนายอังคารดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2 อาทิตย์กำลังสร้างโรงแรมที่จังหวัดแห่งหนึ่ง จึงตกลงซื้อผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนเป็นชุดขาวทั้งชุด จำนวน 100 ชุด จากโรงงานของเสาร์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดราคา 120,000 บาท 

และอาทิตย์ได้ให้เสาร์ส่งไปที่โรงแรมของอาทิตย์ เสาร์จึงได้จัดส่งของให้อาทิตย์ทางรถไฟ แต่เมื่อเสาร์ส่งไปให้อาทิตย์ ปรากฏว่าปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนที่ส่งมาไม่ครบชุด ขาดไป 20 ชุด และมีสีอื่นปะปนมา 10 ชุด บางผืนมีรอยด่างสกปรกบนผืนผ้าอีก 10 ผืน

ถ้าอาทิตย์มาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำแนะนำกับอาทิตย์อย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 465 ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น

(1) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับเอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

(2) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัด เสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้ ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน

(3) หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นอัน มิได้รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้

มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่า ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าอาทิตย์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำกับอาทิตย์ ดังนี้ คือ

จาก ข้อเท็จจริง การที่เสาร์ได้จัดส่งของให้อาทิตย์ และปรากฏว่าของที่ส่งมาคือปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนไม่ครบชุด ขาดไป 20 ชุด และมีสีอื่นปะปนมาอีก 10 ชุดนั้น ถือเป็นกรณีที่เสาร์ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญาซื้อขาย กล่าวคือ เป็นการส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ อีกทั้งยังเป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่าง อื่นอันมิได้รวมอยู่ในสัญญาซื้อขาย ดังนั้นอาทิตย์ผู้ซื้อจึงสามารถบอกปฏิเสธไม่รับมอบปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ทั้งหมดได้ หรือจะรับมอบเท่าที่เสาร์ส่งมอบถูกต้องตามสัญญาก็ได้ แต่อาทิตย์ต้องใช้ราคาในส่วนที่ตนรับมอบมาให้แก่เสาร์ และคืนในส่วนที่ไม่ตรงตามสัญญาให้แก่เสาร์ไปตามมาตรา 465(1) และ (3) อย่างไรก็ตามอาทิตย์ก็ยังสามารถเรียกให้เสาร์ส่งมอบปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ให้ครบตามสัญญา และเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากเสาร์ เนื่องจากการที่เสาร์ส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญาซื้อขายได้อีกด้วย

ส่วน กรณีที่ปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนที่เสาร์ส่งมานั้น บางผืนมีรอยด่างสกปรกบนผืนผ้าอีก 10 ผืนนั้น ถือเป็นกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อขายกันมีความชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ดังนั้นหากอาทิตย์รับมอบปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนในส่วนที่เสาร์ส่งมอบถูกต้องตาม สัญญาไว้ อาทิตย์ผู้ซื้อย่อมสามารถเรียกร้องให้เสาร์ผู้ขายรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายเนื่องมาจากความชำรุดบกพร่องนั้นได้ตามมาตรา 472

สรุป ถ้าอาทิตย์มาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำกับอาทิตย์ดังที่ได้อธิบายข้างต้น

 

 

ข้อ 3 นายไก่นำแหวนพลอยล้อมเพชรมูลค่า 2 ล้านบาทไปขายฝากนายไข่ในราคา 5 แสนบาท ไถ่คืนภายในกำหนด 1 ปี ในราคา 5 แสนบาทบวกประโยชน์ 15% หลังจากรับซื้อฝากนายไข่นำแหวนไปขายให้นายเป็ดในราคา 1 ล้านบาท 

เมื่อนายเป็ดซื้อไปแล้ววันรุ่งขึ้นจึงทราบว่าแหวนซึ่งตนซื้อมานั้นเป็นแหวน ซึ่งนายไก่นำมาขายฝากนายไข่ไว้ในราคาเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น เวลาผ่านไป 10 เดือนนายไก่มาขอไถ่แหวนคืนจากนายเป็ด 

นายเป็ดปฏิเสธโดยอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่รับไถ่เพราะไม่ใช่คนรับซื้อฝาก และเสนอว่าอยากไถ่คืนก็ได้ในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาท 

คำปฏิเสธและคำเสนอของนายเป็ดรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้ คือ
(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ใน เวลาโอน ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

มาตรา 499 สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้า ปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้ จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่นำแหวนพลอยล้อมเพชรไปขายฝากไว้กับนายไข่นั้น กรรมสิทธิ์ในแหวนดังกล่าวย่อมตกไปยังนายไข่เพียงแต่นายไก่อาจจะไถ่แหวนคืนได้เท่านั้น (ตามมาตรา 491) ดังนั้น นายไข่ผู้รับซื้อฝากจึงสามารถนำแหวนไปขายให้นายเป็ดได้

และตามข้อ เท็จจริง การที่นายเป็ดเป็นผู้รับโอนแหวนดังกล่าวมาจากนายไข่ผู้รับซื้อฝาก นายเป็ดย่อมมีหน้าที่รับไถ่แหวนดังกล่าวด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าในขณะซื้อขายแหวน นายเป็ดไม่รู้ว่าแหวนซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน ดังนั้น เมื่อนายไก่มาขอไถ่แหวนคืนจากนายเป็ด นายเป็ดย่อมสามารถปฏิเสธไม่รับไถ่ได้โดยอ้างว่าตนไม่รู้ในเวลาซื้อขายว่า แหวนที่ซื้อมานั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืนตามสัญญาขายฝาก ตามมาตรา 498(2) ดังนั้น การที่นายเป็ดปฏิเสธโดยอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่รับไถ่เพราะไม่ใช่คนรับซื้อฝาก คำปฏิเสธของนายเป็ดดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้

ส่วนคำเสนอของนายเป็ด ที่ว่า ถ้านายไก่อยากได้แหวนคืนก็ต้องไถ่คืนในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาท รับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเป็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในแหวนดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิใดๆในทรัพย์ของตน การที่นายเป็ดเสนอให้นายไก่ไถ่คืนในราคา 1 ล้าน 5 แสนบาทนั้น ถือเป็นการเสนอขายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ มิใช่กรณีของการไถ่คืนตามสัญญาขายฝาก ผู้ขายจึงสามารถเสนอราคาขายเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องกำหนดราคาหรือสินไถ่ในราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผล ประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา499 แต่อย่างใด ดังนั้น คำเสนอของนายเป็ดดังกล่าวจึงรับฟังได้

สรุป คำปฏิเสธของนายเป็ดรับฟังไม่ได้ ส่วนคำเสนอของนายเป็ดรับฟังได้

Advertisement