การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดี  คณะรัฐมนตรี  และสมาชิกรัฐสภาของประเทศดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ

ธงคำตอบ

ระบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  เป็นการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา  กึ่งประธานาธิบดี  เนื่องจากมีการนำเอาหลักการของระบบการปกครองทั้งระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ  และระบบประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกามาผสมผสานใช้ร่วมกัน  เช่น  หลักที่ประมุขของประเทศ  คือ  ประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร  แต่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร  ในขณะที่คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร  ดังเช่นในระบบรัฐสภา

วิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศสนั้น  ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง  (โดยมีวาระ  5  ปี)  ด้วยเกณฑ์ของการนับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  (คือเกินกึ่งหนึ่ง)  ถ้าไม่มีผู้ใดได้คะแนนตามเกณฑ์ดังกล่าว  ก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนในอันดับที่  1  และ  2  มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สอง  ด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา  เมื่อได้ตัวประธานาธิบดีแล้ว  ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี  จากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง  แล้วมอบให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี  และคณะรัฐมนตรีจะต้องไปแถลงนโยบายขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

สำหรับสมาชิกรัฐสภาของประเทศฝรั่งเศสนั้น  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวน  577  คน  มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยตรงด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ  ซึ่งมีทั้งหมด  577  เขต  (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบแบ่งเขต  เขตละหนึ่งคน)  ถ้าในเขตเลือกตั้งใดไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด  ก็จะต้องให้ผู้ที่ได้คะแนนเสียงอันดับที่  1  และที่  2  มาแข่งกันใหม่ในรอบที่สองด้วยเกณฑ์ของคะแนนเสียงข้างมากธรรมดา  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง  5  ปี

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นจะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  โดยคณะบุคคลที่ทำการเลือก  ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหลาย  โดยมีจำนวนทั้งสิ้น  321  คน  และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง  9  ปี  และทุกๆ  3  ปี  จะมีการจับสลากออก  1  ใน  3  เพื่อเลือกตั้งใหม่ 

 

ข้อ  2  ตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐของมองเตสกิเออร์  ได้กำหนดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลแห่งอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจฝ่ายบริหาร  (Check  and  Balance)  ไว้อย่างไร  และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลแห่งอำนาจทั้งสองไว้หรือไม่อย่างไร  ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นการใช้อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  รวมทั้งอำนาจในการควบคุมนโยบายทั้งภายนอกและภายใน  การควบคุมนโยบายภายนอก  เช่น  การที่กษัตริย์หรือข้าราชการทำสัญญาสันติภาพหรือประกาศสงคราม  การทูต  การควบคุมนโยบายภายใน  เช่น  การรักษาความสงบเรียบร้อย  หรือการป้องกันมิให้มีการรุกราน  เป็นต้น  ซึ่งผู้ใช้อำนาจดังกล่าว ได้แก่  คณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

ดังนั้น  มองเตสกิเออ  จึงมีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  คือต้องจัดให้อำนาจหนึ่งหยุดยั้งอำนาจอีกอำนาจหนึ่ง กล่าวคือจะต้องมีการกำหนดหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (Check  and  Balance)    ประชาชนจึงจะมีเสรีภาพได้

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550  ได้มีบทบัญญัติที่เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่างนิติบัญญัติกับอำนาจฝ่ายบริหารไว้  เช่น

ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร  ได้แก่

1       การที่สมาชิกสภามีสิทธิอภิปรายก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเข้ารับตำแหน่งหรือเริ่มปฏิบัติงาน  ซึ่งถือว่าเป็นการควบคุมนโยบายของฝ่ายบริหาร  ตามมาตรา  176

2       การตั้งกระทู้ถาม  ตามมาตรา  156157

3       การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ  ตามมาตรา  158

4       การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ  ตามมาตรา  161  เป็นต้น

ส่วนฝ่ายบริหารมีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยวิธีการยุบสภาตามมาตรา  108  เป็นต้น

 

ข้อ  3  ประเทศไทยได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น  18  ฉบับ  ทั้งฉบับปัจจุบัน  แต่ประชาธิปไตยของไทยก็ดูเหมือนไปไม่ถึงจุดหมายของระบอบประชาธิปไตย  ประชาชนยังคงยากจนมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง  และการทุจริตคอร์รัปชั่นทวีความรุนแรงมากขึ้น  แสดงว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไม่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยก้าวหน้าไปมากนัก

จงอธิบายว่าตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475  มาจนถึงปัจจุบัน  ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และที่มาของอำนาจตุลาการ  มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี  พ.ศ.2475  มาจนถึงปัจจุบัน  ประเทศไทยได้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น  18  ฉบับ  (รวมทั้งฉบับปัจจุบัน)  ซึ่งมีผลทำให้ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และที่มาของอำนาจตุลาการ  มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย  โดยเฉพาะที่มาของอำนาจนิติบัญญัติซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด  โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับได้กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติคือรัฐสภามีเพียงสภาเดียว  และมีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด  รัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้มีสภาเดียวแต่มีสมาชิก  2  ประเภท  คือ  มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง  และรัฐธรรมนูญบางฉบับกำหนดให้รัฐสภามี  2  สภาคือ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  พอสรุปได้ดังนี้

1       อำนาจนิติบัญญัติ  ได้แก่  รัฐสภา

(1)  รัฐธรรมนูญ ฯ  (ชั่วคราว)  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร  มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด  70 คน  โดยวิธีการเลือกตั้งเป็นทางอ้อม  (แต่ในความเป็นจริงมาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎร์ฯ  ทั้งหมด)

(2)  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวเช่นเดิม  เพียงแต่สภาผู้แทนราษฎรนั้นให้มีสมาชิก  2  ประเภท  และมีจำนวนเท่ากัน  คือ  ประเภทที่  1  มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม  และประเภทที่  2  มาจากการแต่งตั้ง

(3) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2489  ได้เปลี่ยนรูปแบบของสภาเป็นระบบ  2  สภา  ได้แก่  สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งมีจำนวนสมาชิก  178 คน  มาจากการเลือกตั้งของราษฎร  และพฤฒสภา  (ซึ่งปัจจุบันคือวุฒิสภา)  มีสมาชิก  80  คน  ที่ราษฎรเลือกตั้ง  (แต่ในวาระเริ่มแรกให้ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวันสุดท้ายก่อนใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นผู้เลือกตั้ง)

(4) รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ  2  สภา  คือ  วุฒิสภากับสภาผู้แทนฯ  มีจำนวนสมาชิกเท่ากัน  คือ  100  คน

(5) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2492  ได้กำหนดให้รัฐสภา  มี  2  สภาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  คือ  วุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ  แต่ให้เพิ่มจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็น  120  คน  ส่วนสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่าเดิม  คือ  100  คน  แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงเลือกและแต่งตั้ง

(6) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2495  ได้นำรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้ทำให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาเดียว  คือ  สภาผู้แทนราษฎร

(7) ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ. 2502  ได้กำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียวเรียกว่า  “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”  โดยให้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่เป็นนิติบัญญัติด้วย  มีสมาชิกจำนวน  240  คน  ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

(8) รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2511  ได้กำหนดให้รัฐสภากลับมามี  2  สภาอีกครั้งคือ  วุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ  โดยวุฒิสภานั้นให้มีสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน  3  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ

(9) ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2515  กลับมากำหนดให้มีสภาเดียวอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  299  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

(10)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2517  ได้บัญญัติให้มีระบบ  2  สภา  ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร  โดยวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน  100  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  ส่วนสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า  240  คน  แต่ไม่เกิน  300  คน  และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนี้ให้ใช้แบบ  “แบ่งเขต เรียงเบอร์”   และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่พรรคเดียว

ข้อสังเกต  รัฐธรรมนูญฯฉบับ  พ.ศ. 2517  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  เพราะแต่เดิมนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้  และต่อมารัฐธรรมนูญทุกฉบับก็จะบัญญัติไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517

(11)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519  กลับมากำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียว  เรียกว่า  “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า  300  คนแต่ไม่เกิน  400  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

(12)                    ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ. 2520  จะเหมือนกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2519  คือมีสภาเดียว  แต่เรียกชื่อใหม่ว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งมีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ  และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ

(13)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2521 ได้กลับมากำหนดให้รัฐสภามี  2  สภาอีกครั้งหนึ่ง  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะมีจำนวนสมาชิกไม่เกิน  3  ใน  4  ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ (เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2511)

(14)                    รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ. 2534  จะมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  (พ.ศ. 2520)  คือให้รัฐสภามีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  โดยมีสมาชิกจำนวน  200  ถึง  300  คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง  เพื่อทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ  พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ  และอนุมัติพระราชกำหนด

(15)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือ  วุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง  270  คน  และสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง  360  คน  และยังได้กำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า  120  คนด้วย

(16)                    รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  กำหนดให้มี  2  สภาคือ  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยสภาผู้แทนราษฎรจะมีจำนวนสมาชิก  500  คน  มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ  100  คน  และมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  400  คน  ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน  200  คน  และให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

(17)                    รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ. 2549  กำหนดให้มีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและให้ทำหน้าที่แทนรัฐสภา

(18)                    รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  (ฉบับปัจจุบัน)  ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2540  แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน  500  คนนั้น  ได้มีการแก้ไขใหม่ให้จำนวนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อนั้นมี  125  คน  และมาจากการเลือกตั้งแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน  ส่วนจำนวนสมาชิกวุฒิสภานั้นกำหนดให้มี  150  คน  โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1  คน  ส่วนที่เหลือให้มาจากการสรรหา

ข้อสังเกต  โดยปกติแล้วรัฐธรรมนูญมักจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกประเภทสองนั้นมาจากการแต่งตั้ง  แต่ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540  และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550  จะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  และมาจากการเลือกตั้งและสรรหาตามลำดับ

2       อำนาจบริหาร  คือ  คณะรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดไว้เหมือนกันคือ  คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี  1  คน  และรัฐมนตรีอีกจำนวนไม่เกินกี่คน  เพียงแต่จะแตกต่างกันก็ตรงจำนวนของรัฐมนตรีนั่นเองที่รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้น  เดิมอาจจะเป็นข้าราชการประจำได้  แต่ต่อมารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ 

การเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา  เพียงแต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  ดังนั้น  นายกรัฐมนตรีอาจเป็นบุคคลใดก็ได้  ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับที่  2  (พ.ศ. 2475)  ฉบับที่  10  (พ.ศ. 2517) ฉบับที่  15  (พ.ศ. 2534)  ฉบับที่  16  (พ.ศ. 2540)  และฉบับปัจจุบัน  พ.ศ. 2550  ที่จะกำหนดไว้ว่า  นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้นส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญจะไม่บังคับว่าจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  เพียงแต่ใน รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  จะกำหนดไว้เลยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี  สมาชิกผู้นั้นก็จะต้องหมดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน)  ไม่ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีจะต้องหมดสภาพจาการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด

3       อำนาจดุลาการ  ได้แก่  ศาล

สำหรับอำนาจตุลาการหรือศาลนั้น  เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ  อำนาจตุลาการหรือศาลนั้นมักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง  เพียงแต่ว่าเดิมนั้นรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่าศาลมีอยู่  2  ศาล  คือศาลยุติธรรมและศาลทหาร  แต่ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2540  เป็นต้นมา  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2540  และรัฐธรรมนูญฯ  ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550  จะกำหนดไว้ว่าศาลนั้นมีอยู่  4  ศาล  ได้แก่  ศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลยุติธรรม  ศาลปกครอง  และศาลทหาร

 

ข้อ  4  นายเอกและนายโทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา  ต่อมาอัยการได้ฟ้องนายเอกเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ในระหว่างสมัยประชุมสภา  ศาลฯได้นัดพิจารณาคดีนี้  ซึ่งนายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาได้  และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ฉบับที่  30  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีขัดหรือแย้งต่อ  มาตรา  2  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2550  และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีของตนเช่นเดียวกันก็มีกระบวรการตราที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  เนื่องจากการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติไม่ครบองค์ประชุม  ต่อมาซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาได้มีการขอออกหมายค้นบ้านนายโทต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ  เพื่อหาพยานหลักฐาน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำร้องโต้แย้งของนายเอกสามารถรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และศาลฯจะออกหมายค้นบ้านนายโทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.255

 มาตรา  6  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎ  หรือข้อบังคับ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา  131  วรรคแรกและวรรคสาม  ในระหว่างสมัยประชุม  ห้ามมิให้จับ  คุมขัง  หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา  ไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา  เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก  หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด

ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา  ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม  ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกหรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  แต่การพิจารณาคดีต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา

มาตรา  211   “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด  ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  6  และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น  ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย  ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้  แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว  จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว

มาตรา  277  วรรคสาม  บทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา  131  มิให้นำมาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยออกได้เป็น  2  ประเด็น  ดังนี้คือ

ประเด็นที่  1  กรณีคำร้องโต้แย้งของนายเอก

1       ตามมาตรา  131  วรรคสาม  ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคดีอาญา  ศาลจะพิจารณาคดีอาญานั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้  เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  131  วรรคสามได้บัญญัติไว้

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เนื่องจากในคดีนี้ที่ศาลได้นัดพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภานั้น  เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  และตามมาตรา  277  วรรคสามก็ได้บัญญัติไว้ว่า  มิให้นำบทบัญญัติมาตรา  131  มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ดังนั้น  การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในสมัยประชุมรัฐสภาได้  คำร้องโต้แย้งในกรณีนี้ของนายเอกจึงรับฟังไม่ได้

2       การที่นายเอกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ฉบับที่  30  พ.ศ.2549  ซึ่งศาลจะนำมาตัดสินกับคดีนี้ขัดหรือแย้งต่อมาตรา  2  แห่งรัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ. 2550  นั้น  เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  มีสถานะเป็น  “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย”  ตามความในมาตรา  211  ดังนั้น  นายเอกจึงสามารถยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลฯ  เพื่อให้ศาลฯ  ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา  211  ได้  คำร้องโต้แย้งของนายเอกกรณีนี้จึงรับฟังได้

 3       การที่นายเอกยื่นคำร้องโต้แย้งว่า  พ.ร.บ.  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯซึ่งมีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น  ได้ตราขึ้นโดยมีกระบวนการตราที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่มิได้โต้แย้งว่า  พ.ร.บ.  ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  211  ดังนั้น  คำร้องโต้แย้งของนายเอกกรณีนี้จึงรับฟังไม่ได้

ประเด็นที่  2  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  จะออกหมายค้นได้หรือไม่ 

ตามบทบัญญัติมาตรา  131  วรรคแรก  ในระหว่างสมัยประชุม  ห้ามมิให้จับ  คุมขัง  หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่มิได้ห้ามในกรณีการค้นบ้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด  และตามบทบัญญัติมาตรา  277  วรรคสาม  ก็มิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความคุ้มกันตามมาตรา  131  มาใช้บังคับกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ดังนั้น  การที่ได้มีการขอออกหมายค้นบ้านนายโทในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงสามารถออกหมายค้นบ้านนายโทได้

สรุป

1       คำร้องโต้แย้งของนายเอกที่ว่า  ศาลฯไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภาและ  พ.ร.บ.  แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  มีกระบวนการตราที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญรับฟังไม่ได้แต่คำโต้แย้งว่า  ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ  ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นรับฟังได้

2        ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ  ออกหมายค้นบ้านนายโทได้

Advertisement