การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยตามแนวคิดของมองเตสกิเออ  นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส  พร้อมทั้งอธิบายถึงหลักการของระบบการปกครองทั้ง  3  ระบบ  ที่เกิดจากแนวคิดดังกล่าวมาตามที่เข้าใจ  พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มองเตสกิเออ  (Montesquieu)  เป็นนักปรัชญาทางกฎหมายชาวฝรั่งเศสที่ได้ให้ความเห็นในเรื่องของอำนาจอธิปไตยไว้ในตำราที่มีชื่อว่า  เจตนารมณ์ทางกฎหมาย  หรือ  De  l’Esprit  Lois  ซึ่งตำราเล่มนี้กล่าวว่า  อำนาจอธิปไตยที่รัฐได้รับจากประชาชนเพื่อทำการปกครองประเทศนั้นมีอยู่ด้วยกัน  3  อำนาจคือ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับแบประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  ซึ่งในที่นี่หมายถึงรัฐสภา

2       อำนาจบริหาร  เป็นอำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  ซึ่งได้แก่  ผู้บริหารหรือคณะรัฐบาล

3       อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจในการตัดสินใจและการพิพากษาอรรถคดี  ซึ่งองค์กรสำคัญที่ใช้อำนาจตุลาการ  ได้แก่  ศาล

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจทั้ง  3  อำนาจนี้ควรจะต้องแบ่งแยกออกจากกันเป็นอิสระ  เพราะถึงแม้ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐจะได้มาจากประชาชนโดยการเลือกตั้งก็ตาม  แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าคณะผู้ทำการปกครองประเทศจะไม่หลงในอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีการแยกอำนาจดังกล่าวออกจากกัน  ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ปกครองประเทศ  ซึ่งเป็นคณะบุคคลฝ่ายเดียวใช้อำนาจต่างๆ  โดยไม่มีขอบเขต

กล่าวคือ  ถ้าให้ฝ่ายบริหารออกกฎหมายได้เสียเองด้วย  กฎหมายที่ออกมาก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรม  แต่จะมีลักษณะที่จะทำให้การบริหารเป็นไปได้โดยสะดวก

และถ้าหากฝ่ายบริหารยังมีอำนาจในการพิพากษาคดีอีกด้วย  ก็จะทำให้อำนาจอธิปไตยของรัฐตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งการปกครองประเทศก็จะกลายเป็นการปกครองที่ผิดรูปไปจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะเป็นการรวมอำนาจต่างๆมาขึ้นอยู่กับคณะบุคคลกลุ่มเดียวเท่านั้น

มองเตสกิเออ  มีความเห็นว่า  อำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจได้  และมองเตสกิเออได้ถือหลักการนี้มาเป็นข้อแนะนำให้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอิสระจากกัน

จากแนวคิดของมองเตสกิเออนี้ทำให้เกิดระบบการปกครองขึ้น  3  ระบบ  คือ

1       ระบบรัฐสภา

2       ระบบประธานาธิบดี

3       ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ระบบรัฐสภา

ในระบบรัฐสภาก็ได้มีการคำนึงถึงการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันนี้  จึงได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรมีมาตรการที่จะล้มล้างฝ่ายบริหารได้  ล้มล้างในที่นี้คือ  ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร  แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารได้อย่างเดียวเท่านั้น  รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจฝ่ายบริหารในการที่จะโต้ตอบฝ่ายนิติบัญญัติโดยการยุบสภาตรงนี้ก็คือแนวความคิดในเรื่องอำนาจเท่านั้นที่จะหยุดยั้งอำนาจเดียวกันได้หรือการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน

ระบบประธานาธิบดี

ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  การจัดตั้งองค์กรทั้ง  3  องค์กรนั้นมีการจัดตั้งที่เป็นอิสระจากกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ส่งผลให้เขาบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า  เมื่อฝ่ายบริหารได้รับเลือกตั้งแล้วประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมจะต้องรอดพ้นจากการถูกขับไล่โดยการลงมติไม่ไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภา  กล่าวคือ  สภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐอเมริกาไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดี  และในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารหรือประธานาธิบดีก็จะประกาศยุบสภาไม่ได้เช่นกัน  จึงถือว่าการถ่วงดุลอำนาจในระบบประธานาธิบดีนี้มีการแบ่งแยกอำนาจกันค่อนข้างเด็ดขาด

ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี

ในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี  ประเทศฝรั่งเศสได้นำการปกครองทั้งสองระบบข้างต้นมาใช้ในการปกครองรูปแบบของตน  โดยได้นำเอาส่วนดีทั้งสองระบบมาผสมผสานกันจึงเกิดระบบการปกครองนี้ขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติจำแนกฝ่ายบริหารออกเป็นสองส่วนคือ

ส่วนแรก  คือ  ประธานาธิบดี  ซึ่งประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา  นั่นคือ  ไม่ต้องกลัวว่าสภาจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เหมือนกันกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่สอง  คือ  คณะรัฐบาล  ได้บัญญัติให้คณะรัฐบาลต้องรับผิดต่อสภาเหมือนกันกับการปกครองในระบบรัฐสภา

เพราะฉะนั้น  ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  แต่เปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตัวประธานาธิบดีไม่ได้  ตรงนี้ก็คือการเอาการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองระบบมารวมเข้าด้วยกัน

 

ข้อ  2  ท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ  หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ  (La  Separtion  des  pouvoirs)  ของมองเตสกิเอออย่างไร  และการที่ปัจจุบันมีการกระทำรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.)  และจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาบริหารแทนรัฐบาลชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งนั้น  เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวหรือไม่  อย่างไร  ขอให้อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ  ของมองเตสกิเออนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่ามนุษย์ทุกคนที่มีอำนาจมักลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ  และมักจะใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด  ดังนั้นหากปล่อยให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอย่างอำเภอใจแล้ว  สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองก็จะไม่มีหลักประกัน  จึงจำต้องแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐออกใช้โดยหลายองค์กร  ขึ้นอยู่กับว่าหน้าที่หลักของรัฐมีกี่องค์กรก็แยกใช้เท่านั้น  และมองเตสกิเออก็สรุปว่า  หน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะปกครองในรูปแบบใดก็ตาม  มีหน้าที่หลักอยู่เพียง  3  ประการ  กล่าวคือ  หน้าที่ในทางนิติบัญญัติ  บริหาร  และตุลาการ  ดังนั้นจึงควรแยกใช้โดย  3  องค์กร  และให้แต่ละฝ่ายไม่มาก้าวก่ายหน้าที่ซึ่งกันและกัน  อีกทั้งต้องคอยตรวจและถ่วงดุล  (Check  and  Balance)  ซึ่งกันและกันด้วย  จึงจะเป็นกลไกหรือมาตรการในการป้องกันมิให้องค์กรที่ใช้อำนาจแต่ละฝ่ายใช้อำนาจอย่างสุดขั้วหรือสุดโต่ง  โดยหวั่นเกรงว่าจะถูกตรวจสอบหรือถ่วงดุลโดยฝ่ายอื่น  ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองมิให้ถูกใช้อำนาจบังคับเอาอย่างเผด็จการ  แต่เมื่อมีการรัฐประหารโดย  คปค.  จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน  แม้จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนมาบริหารต่อมาก็ตาม  แต่รัฐบาลดังกล่าวก็มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ประการใด

 

ข้อ  3  ก  ท่านเข้าใจรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างไร  จงอธิบายโดยละเอียด

ข  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศ  แต่รัฐธรรมนูญไทยฉบับปี  พ.ศ.  2540  ได้ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วนั้น  อยากทราบว่าระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้  จะใช้กฎหมายใดเป็นกฎหมายสูงสุด

ธงคำตอบ

ก  รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเกิดจากปัญหาทางปกครองที่อำนาจทางปกครองอยู่ที่คนๆเดียว  ประชาชนไม่มีส่วนร่วมการใช้อำนาจทางปกครอง  ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบได้

–                    จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสามอำนาจคือ  อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  อำนาจตุลาการ

–                    จากหลักการแบ่งแยกอำนาจได้พัฒนาเป็นระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญว่า

(1) ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน  เสมอภาคกัน

(2) ผู้ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจทางปกครองจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญจึงเกิดกระบวนการเลือกตั้ง

(3) การใช้อำนาจทางปกครองจะต้องใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชน

(4) การใช้อำนาจทางปกครองจะต้องตรวจสอบได้

–                    จากหลักการของระบอบประชาธิปไตยทำให้เกิดกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศเรียกว่า  รัฐธรรมนูญ  บัญญัติที่มาของอำนาจ  การใช้อำนาจ  และการควบคุมตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติ  บริหาร  ตุลาการ  เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ของประชาชนจากการใช้อำนาจทางปกครอง

ข  ใช้ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เป็นกฎหมายสูงสุดเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ

 

ข้อ  4  พ.ร.บ.  ชื่อสกุล  พ.ศ.  2505  มาตรา  12  บัญญัติว่า  หญิงมีสามีให้ใช้ชื่อสกุลของสามี” ภายใต้บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนี้ขัดต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

ภายใต้หลักความเสมอภาคของบุคคล  บุคคลย่อมมีความเสมอภาคกันในกฎหมาย  ซึ่งถือเป็นหลักความเสมอภาค  โดยเฉพาะสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย

ซึ่งหลักความเสมอภาค  มีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามธรรมชาติ  สิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวนี้เป็นสิทธิที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน  ซึ่งเป็นสิทธิที่มีมาตั้งแต่กำเนิด

ดังนั้น  บทบัญญัติมาตรา  12  พ.ร.บ.  ชื่อสกุล  พ.ศ. 2505  มีลักษณะบังคับให้หญิงมีสามีต้องใช้ชื่อสกุลของสามีเท่านั้น  ถือเป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้สกุลของหญิงมีสามี  ทำให้ชายและหญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน  เกิดความไม่เสมอภาคกันทางกฎหมาย  เพราะความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคล

Advertisement