การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิซา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เมื่อพิจารณาถึงสถานะของรัฐธรรมนูญที่มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายสูงสุดนั้น มีผลทำให้รัฐธรรมนูญมีสถานะเหนือกฎหมายทั้งปวงภายในรัฐ กฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้เพราะเหตุใด และวิธีการที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการใดบ้างอธิบายมาให้เข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

กฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายความถึง กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งกำหนดรูปแบบและหลักการปกครองตลอดจนวิธีการดำเนินการปกครองไว้อย่างเป็นระเบียบ ตลอดจนกำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจสูงสุดในรัฐ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำต่อรัฐกับรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐจะใช้อำนาจล่วงละเมิดมิได้

เหตุผลที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเหนือกฎหมายทั้งปวงภายในรัฐ กฎหมายอื่นใดจะมาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมิได้นั้น สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

  1. ในแง่ที่มา ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาคม ที่สมาชิกในสังคมทุกคนร่วมกันตกลงกันสร้างขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ในการปกครองสังคม รัฐธรรมนูญจึงอยู่เหนือทุกส่วนของสังคมการเมืองนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง ทุกฝ่ายจักต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย
  2. ในแง่เนื้อหา รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการจัดระเบียบโครงสร้างการเมืองการปกครองส่วนบนของรัฐ ผ่านทางการสร้างองค์กรทางการเมืองต่าง ๆ (รัฐสภา/คณะรัฐมนตรี/ศาล) ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญก็ได้มอบอำนาจไปให้ใช้ (อำนาจนิติบัญญัติ/อำนาจบริหาร/อำนาจตุลาการ) รวมทั้งบัญญัติรับรองถึงสิทธิเสรีภาพตลอดจนความเสมอภาคของประชาชนไว้ด้วย เพื่อจำกัดอำนาจแห่งรัฐมิให้มีมากจนเกินไป
  3. ในแง่รูปแบบ วิธีการจัดทำและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีข้อแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆอย่างชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกจัดทำขึ้นและแก้ไขได้ยากกว่ากฎหมายธรรมดาอื่นใด เพราะจำต้องอาศัยกระบวนการพิเศษ และมากหลักเกณฑ์ เช่น ต้องมีการระดมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เป็นต้น

ส่วนวิธีการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดสามารถกระทำได้โดยการเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการใช้ปกครองประเทศ โดยเขียนขึ้นมาตามรูปแบบ หลักการ และวิธีการภายใต้กฎกติกาของระบอบการปกครองนั้น ๆ เช่น ประเทศไทย จะต้องเขียนระบุลงไปว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อระบอบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เป็นต้น

 

ข้อ 2. ให้อธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) และจากแนวความคิดรากฐานของรัฐธรรมนูญนิยมดังกล่าว นำไปสู่แนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ที่ต้องประกอบไปด้วยหลักการสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยหลักการอะไรบ้าง อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคำตอบ

แนวคิดเกี่ยวกับธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) คือแนวคิดที่ต้องการสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเหมาะสมและสมบูรณ์แบบขึ้นมา เพื่อเป็นหลักกติกาสำคัญในการปกครอง รับรองหลักการที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลักที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ หลักที่ว่าด้วยการปกครองต้องใช้หลักนิติธรรมและหลักที่ว่าด้วยการปกครองต้องใช้เสียงข้างมาก ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

จากแนวความคิดรากฐานของรัฐธรรมนูญนิยมดังกล่าว นำไปสู่แนวความคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้นอย่างน้อยจะต้องมีหลักการที่สำคัญ 6 ประการ ดังนี้คือ

  1. หลักการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับรองความ

เสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้จะต้องมีการแก้ไขเยียวยา

  1. หลักการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจในการบริหารประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติที่ทำให้รัฐบาลสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ เช่น สร้างระบบให้มีการล้มรัฐบาลได้ยากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมาตรการเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย เช่น กำหนดมาตรการในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์

หรือถ้าจะไล่นายกรัฐมนตรีคนเก่าก็จะต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพื่อให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปได้เปรียบเทียบกัน เป็นต้น

  1. หลักการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐไว้ด้วย เช่น ควบคุมไม่ให้ใช้อำนาจเกินกว่าที่มี ควบคุมไม่ให้มีการใช้อำนาจที่เป็นการรุกรานสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น ซึ่งหลักการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก หลักการใช้อำนาจรัฐจะต้องขอบด้วยกฎหมาย คือ รัฐจะใช้อำนาจของรัฐก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจรัฐไว้รัฐจะทำมิได้

ประการที่สอง คนทุกคนที่อยู่ในรัฐจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง

  1. หลักการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
  2. หลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐและการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการถ่วงดุลของการใช้อำนาจดังกล่าว คือ อำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการไว้อย่างชัดเจน
  3. หลักนิติรัฐ กล่าวคือ ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยมนั้น ย่อมถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ดังนั้นในการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐทางด้านบริหารด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้เท่านั้น

 

ข้อ 3. นายเอกจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลแขวงฯ ว่า ข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมาตรา 11 ของพระราชกำหนดฯ ดังกล่าว ซึ่งสภาฯ ให้ความเห็บชอบฯ แล้ว และศาลแขวงฯ จะนำมาใช้กับคดีย่อมขัดหรือแข้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ศาลแขวงฯ เห็นว่า จากพยานหลักฐานเห็นได้ชัดแจ้งว่านายเอกได้ร่วมชุมนุมโดยปราศจากความสงบและได้นำอาวุธสงครามเข้าไปในที่ชุมนุมด้วย ทั้งนายเอกก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงเห็นว่าคำร้องฯ ไม่เป็นสาระในคดีที่จะรับไว้พิจารณา จึงไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและได้พิพากษาลงโทษนายเอกจำเลยตามฟ้อง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการที่ศาลแขวงฯ ไม่รับคำร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณาและไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายและเหตุผลประกอบคำตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 212 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 ซึ่งคำว่า “กฎหมาย” ในที่นี้ หมายถึง กฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญ คือเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด (เฉพาะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว)หรือกฎหมายอื่นที่เทียบเท่า เช่น ประกาศคณะปฏิวัติ เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลแขวงฯ ว่า ข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมาตรา 11 ของพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวซึ่งสภาฯ ให้ความเห็นชอบฯ แล้ว และศาลแขวงฯ จะนำมาใช้กับคดีย่อมขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ…” ทั้งยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ จึงขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 9 และมาตรา 11 ของพระราชกำหนดฯ ดังกล่าวนั้น เป็นเพียงกฎหรือคำสั่งที่ฝ่ายบริหารได้ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายแม่บท คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่กฎหมายที่ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย

และเมื่อข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ของนายกรัฐมนตรีที่นายเอกจำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งนั้นมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง นายเอกจึงไม่อาจโต้แย้งเพื่อให้ศาลแขวงฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ศาลแขวงฯ มีอำนาจวินิจฉัยได้เองและไม่ต้องรอการพิจารณาพีพากคดีไว้ชั่วคราวแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลแขวงฯ เห็นว่าจากพยานหลักฐานเห็นได้ชัดแจ้งว่านายเอกได้ร่วมชุมนุมโดยปราศจากความสงบและได้นำอาวุธสงครามเข้าไปในที่ชุมนุมด้วย ทั้งนายเอกก็ให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงเห็นว่าคำร้องฯ ไม่เป็นสาระในคดีที่จะรับไว้พิจารณา จึงไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญและได้พิพากษาลงโทษนายเอกจำเลยตามฟ้องนั้น ย่อมถือว่า การกระทำของศาลแขวงฯ ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560

สรุป

การที่ศาลแขวงฯ ไม่รับคำร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณา และไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ชอบด้วยกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560

 

ข้อ 4. นายทองประสงค์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากเห็นว่ามาตรา 12 (3) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (มาตรา 12 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพ… (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน) ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 หลักความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) มาตรา 12 (3) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 หลักความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญฯพ.ศ. 2560 ในกรณีใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ค) ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการส่งเรื่องกรณีนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปหรือไม่เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในคำตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

มาตรา 27 “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือ

ผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ไนกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองสมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”

มาตรา 231 “ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 230 ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้

(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า…”

มาตรา 252 “สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายทองประสงค์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากเห็นว่ามาตรา 12 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่ว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพ… (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 90 วัน” ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 หลักความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปนั้น เป็นกรณีที่นายทองประสงค์ได้ยื่นคำร้องว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (มาตรา 12 (3) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นด้วยตามคำร้องเรียนของนายทองประสงค์ ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 231 (1) ที่จะรับคำร้องของนายทองประสงค์ไว้พิจารณาได้

(ข) ตามมาตรา 12 (3) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ ที่บัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะสำหรับบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ เท่านั้น มิได้ใช้กับบุคคลทั่ว ๆ ไป อีกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติของกฎหมายท้องถิ่นที่ได้บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 252 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ดังนั้น จึงไม่ถือว่าบทบัญญัติตามมาตรา 12 (3) ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 หลักความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

(ค) เมื่อบทบัญญัติตามมาตรา 12 (3) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป เพราะกรณีนี้ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 231 (1)

สรุป

(ก) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจรับคำร้องของนายทองประสงค์ไว้พิจารณา

(ข) มาตรา 12 (3) พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 หลักความเสมอภาคของบุคคลและเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560

(ค) ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ส่งเรื่องกรณีนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป

Advertisement