การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ทฤษฎีของรุสโซ (Jean Jacque Rousseau) ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หมายถึงอะไร และมีผลตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร การที่มีการเสนอแนวคิดให้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน มาใช้อำนาจนิติบัญญัติในรัฐสภาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักทฤษฎีดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน นั้นมาจากแนวคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เป็นทฤษฎีที่เสนอโดย รุสโซ (Rousseau)ในวรรณกรรมชื่อ “สัญญาประชาคม” (Social Contract) โดยรุสโซ เชื่อว่า “สังคมเกิดขึ้นเพราะราษฎรในสังคมสมัครใจสละสภาพธรรมชาติอันเสรีของตนเพื่อมาทำสัญญาประชาคมขึ้น สังคมจึงเกิดจากการสัญญามิใช่การข่มขู่บังคับ ดังนั้นราษฎรทุกคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของสังคมหรืออำนาจอธิปไตยมิใช่พระเจ้าหรือกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของดั่งที่อธิบายกันมาตลอด” ตัวอย่างที่รุสโซ อ้างก็คือ

“สังคมหนึ่งมีสมาชิก 10,000 คน สมาชิกแต่ละคนย่อมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยคนละ 1/10,000 ดังนั้น ราษฎรแต่ละคนจึงมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตน โดยไม่มีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าของอำนาจอธิบไตยทั้งหมดได้

จากทฤษฎีดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ

  1. ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ปกครอง เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งส่วนแห่งอำนาจตนอันนำมาสู่หลักการคือ “การเลือกตั้งอย่างทั่วถึง” เพราะถือว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิของทุกคน มิใช่หน้าที่จึงไม่อาจมีการจำกัดสิทธิได้ ดังที่รุสโซ กล่าวว่า “สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่ไม่มีอะไรที่จะมาพรากจากประชาชนได้”
  2. การมอบอำนาจของราษฎรให้ผู้แทนเป็นการมอบอำนาจในลักษณะที่ผู้แทนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของราษฎรผู้เลือกตั้ง

ดังนั้น กรณีที่มีการเสนอแนวคิดให้มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน มาใช้อำนาจนิติบัญญัติในรัฐสภาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ทั้งนี้เพราะถ้ามีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน วุฒิสมาชิกเหล่านั้นก็มิใช่ผู้แทนของราษฎร มิใช่บุคคลที่ราษฎรมอบอำนาจให้ไปทำหน้าที่นิติบัญญัติในรัฐสภา และบุคคลเหล่านั้นก็มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของราษฎร แต่จะไปอยู่ภายใต้อาณัติของผู้ที่แต่งตั้งตนให้เป็นวุฒิสมาชิกเท่านั้น

และถ้ามีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน ตามแนวคิดดังกล่าว ความชอบธรรมของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนั้นย่อมขึ้นอยู่กับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา กล่าวคือ ยิ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามีบทบาทและอำนาจหน้าที่มากขึ้นเท่าไร ความชอบธรรมของวุฒิสภาก็มีน้อยลงเท่านั้น

 

ข้อ 2. รูปแบบสำคัญของระบบรัฐสภามีอะไรบ้าง และการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองอาจแก้ไขปัญหาแท้จริงซึ่งเกิดจากปัญหาทางการเมืองในทางปฏิบัติได้หรือไม่ อย่างไร หากพิจารณาจากรูปแบบสำคัญของระบบรัฐสภา จงอธิบาย

ธงคำตอบ

รูปแบบสำคัญของระบบรัฐสภามี 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. ระบบรัฐสภาแบบคู่กับระบบรัฐลภาแบบเดี่ยว

ระบบรัฐสภาแบบคู่ คือ ระบบที่กษัตริย์มีอำนาจในการบริหารประเทศอยู่พอสมควร มิใช่เป็นเพียงประมุขของรัฐเท่านั้น และรัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อประมุขของรัฐด้วย ระบบรัฐสภาแบบคู่จะสามารถดำเนินไปด้วยดี เมื่อประมุขของรัฐกับเสียงข้างมากในสภาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่หากมีการปลดหัวหน้ารัฐบาลโดยประมุขของรัฐหรือเกิดการไม่ให้ความไว้วางใจของสภาต่อรัฐบาลและมีการยุบสภา ปรากฏว่าผู้เลือกตั้งยังคงเลือกฝ่ายข้างมากเข้าสภาอีก ประมุขของรัฐก็ไม่สามารถยุบสภาได้อีก ประมุขของรัฐจำต้องบริหารประเทศร่วมกับฝ่ายข้างมากในสภา กรณีนี้บทบาทของประมุขของรัฐจะลดลงอย่างมาก และทำให้เกิดความขัดแย้งกันไม่สิ้นสุด ระบบรัฐสภาแบบคู่จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะมีข้อเสีย ประการแรกคือ อาจก่อให้เกิดปัญหาโดยตรงต่อประมุขของรัฐและประการที่สอง คือ อาจนำไปสู่ความชะงักงันของสถาบันได้ ระบบนี้จึงถูกยกเลิกในประเทศที่นำไปใช้ไนเวลาต่อมา

ส่วนระบบรัฐสภาแบบเดี่ยว คือระบบที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประมุขของรัฐ

  1. ระบบรัฐสภาแบบสองพรรคกับระบบรัฐสภาแบบหลายพรรค

ระบบรัฐสภาแบบสองพรรค คือ ระบบที่ให้โอกาสแก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในสองพรรคที่จะมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ทำให้พรรคนั้นสามารถดำเนินการบริหารประเทศตามนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างไม่ต้องวิตกกังวลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากนัก แต่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้หากว่าระบบสองพรรคไม่ค่อยสมบูรณ์ โดยมีพรรคการเมืองพรรคที่สามเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด และเป็นพรรคที่คอยฉวยโอกาสจะเข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านได้เสมอ

ส่วนระบบรัฐสภาแนบหลายพรรค คือ ระบบที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคและโดยทั่วไปจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้จึงเป็นรัฐบาลผสม ระบบนี้จะมีความเป็นเอกภาพน้อยและอาจเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลได้

  1. ระบบรัฐสภาแบบธรรมดากับระบบรัฐสภาแบบหที่ถูกกำหนดหรือควบคุมไว้

ระบบรัฐสภาแบบธรรมดา คือ ไม่ต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ระบบรัฐสภาจึงเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ส่วนระบบรัฐสภาแบบที่ถูกกำหนดหรือควบคุมไว้ คือ การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาความบเสถียรภาพของรัฐบาล และหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์การลาออกของรัฐมนตรี โดยกำหนดเงื่อนไขบางประการไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น บังคับให้สมาซิกสภาต้องคำนึงอย่างรอบคอบก่อนที่จะบังคับให้รัฐบาลลาออก ดังนั้น การที่จะให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองจะต้องมีเงื่อนไขที่ยุ่งยากพอสมควร เช่น มีการกำหนดระยะเวลาที่จะลงมติไม่ไว้วางใจ กำหนดเรื่องคะแนนเสียงข้างมาก หรือกำหนดว่าจะต้องหาทายาทในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เสียก่อน ระบบรัฐสภาแบบที่ถูกกำหนดหรือควบคุมไว้จึงมีวิธีการค่อนข้างละเอียดและสลับซับซ้อนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา

การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาแท้จริงซึ่งเกิดจากปัญหาทางการเมืองในทางปฏิบัติได้ หากพิจารณาจากรูปแบบสำคัญของระบบรัฐสภาในระบบรัฐสภาแบบที่ถูกกำหนดหรือควบคุมไว้ เพราะแม้จะมีการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่โดยทั่วไปแล้วในทางปฏิบัติผลที่ได้รับมักจะไม่สมหวังเท่าที่ควร

 

ข้อ 3. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร

ธงคำตอบ

รัฐธรรมนูญมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าดังนี้ คือ

“รัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตย และการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งอำนาจดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 อำนาจ ได้แก่

  1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน(รวมทั้งข้าพเจ้า)ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชน (รวมทั้งข้าพเจ้า) นั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

  1. อำนาจบริหาร หมายถึง อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคำสั่ง รวมทั้งการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ฯ ได้กำหนดไว้

  1. อำนาจตุลาการ หมายถึง อำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจนี้คือ ศาล ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งข้าพเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

และนอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญต่อข้าพเจ้าและประชาชนคนอื่น ๆ อีกตรงที่ว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น จะกำหนดเกี่ยวกับขอบเขตตลอดถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของชนชาวไทย

เช่น สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิเสรีภาพในการศึกษาหรือในการประกอบอาชีพ เป็นต้น รวมทั้งยังกำหนดให้ทราบว่าข้าพเจ้าและประชาชนคนไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในฐานะทีเป็นประชาชนคนไทยอย่างไรบ้าง

 

ข้อ 4. นายเอกได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ากรณีบทบัญญัติตามมาตรา 8 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำหนดให้ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (1) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนวันที่ได้รับการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลซึ่งจะกระทำมิได้ บทบัญญัติดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อหลักความเสมอภาคของบุคคลตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า หากท่านเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับคำร้องไว้พิจารณาและส่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

มาตรา 45 “ภายใต้บังคับมาตรา 5 และมาตรา 44 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อมีกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้…”

ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ฉบับที่ 27/2557 “เพื่อให้องค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไต้อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้ มีผลบังคับใช้ต่อไป

  1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552” และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552

มาตรา 14 “ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา”

วินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 45 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ประกอบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 27/2557 ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องไว้พิจารณาและจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมีกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ ซึ่งคำว่า “กฎหมาย” ตามความหมายดังกล่าวนี้ หมายความถึงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอนที่มีค่าเทียบเท่าพระราชบัญญัติ

กรณีตามอุทาหรณ์ การยื่นคำร้องของนายเอกต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เป็นการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติมาตรา 8 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับขัวคราว) พ.ค. 2557 หรือไม่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งว่า “บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”ขัดต่อ “บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” ด้วยกันหรือไม่ มิใช่เป็นการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 45 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ

ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2522 มาตรา 14 (1) ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องไว้พิจารณาและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไม่รับคำร้องของนายเอกไว้พิจารณาและจะไม่ล่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ข้าพเจ้าจะไม่รับคำร้องไว้พิจารณา และจะไม่ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

Advertisement