การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การปกครองในระบบรัฐสภามีสาระสำคัญอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 ถือว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบบรัฐสภาหรือไม่อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

การปกครองในระบบรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กรฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด และตามทัศนะของนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เช่น ศาสตราจารย์โมริส โฮริอู (Maurice Hauriou) การปกครองในระบบรัฐสภาจะมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. ประมุขของรัฐซึ่งไม่ต้องรับผิดทางการเมืองในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย 2 องค์กร คือ ประมุขของรัฐและคณะรัฐมนตรี

ประมุขของรัฐอาจมีฐานะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

  1. คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในทางบริหารประเทศแทนประมุข เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชางานประจำกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดต่อรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ และถ้ามีมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง
  2. เพื่อให้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติสมดุลกัน ระบบรัฐสภาได้ให้อำนาจคณะรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติได้

สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการปกครองในระบบรัฐสภา เนื่องจากตามมาตรา 265 ได้บัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงมีอำนาจและสามารถใช้อำนาจรัฐได้ต่อไป โดยองค์กรเดียวสามารถใช้อำนาจได้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการทำให้ไม่มีการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจกันตามระบบรัฐสภา จึงมีผลให้การปกครองของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นไม่ใช่การปกครองในระบบรัฐสภา

 

ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญและหลักความชอบด้วยกฎหมายมีความสำคัญแก่ตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่พึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อำนาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจำนวนเท่าใด และมีวิธิการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

  1. อำนาจบริหาร หมายถึง อำนาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนี้

ในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อำนาจในทางปกครองเพื่อการออกกฎ ออกคำสั่ง รวมทั้งการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน… คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

  1. อำนาจตุลาการ หมายถึง อำนาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจนี้คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กำหนดไว้ด้วย

ซึ่งในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการโดยองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นเป็นการใช้อำนาจต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน (รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย)ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ในการได้มาซึ่งอำนาจและการใช้อำนาจดังกล่าว จึงต้องเป็นการได้มาซึ่งอำนาจ รวมทั้งเป็นการใช้อำนาจที่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย โดยเฉพาะหลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือการได้มาซึ่งอำนาจต่าง ๆ เหล่านั้น จะต้องมีการดำเนินการโดยถูกต้องตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ และในการใช้อำนาจดังกล่าว ต้องสามารถตรวจสอบได้โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ หรือโดยหน่วยงานหรือองค์กรตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและหลักความชอบด้วยกฎหมายมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ข้อ 3. ให้อธิบายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม(Constitutionalism) และจากแนวความคิดดังกล่าวนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการใดบ้าง (อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจนในแต่ละหลักการ)

ธงคำตอบ

แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) เป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นถึงรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเจตนารมณ์ที่สำคัญคือให้เป็นเครื่องมือในการกำหนดรูปแบบการปกครองและกำหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรด้านบริหารรัฐกิจ หรือการจัดองค์กรบริหารของรัฐสมัยใหม่ซึ่งเป็นการใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะสัญญาประชาคม เพื่อจำกัดและควบคุมการใช้บังคับอำนาจรัฐของฝ่ายผู้ใช้อำนาจปกครองหรือรัฐบาล เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดแก่สังคม และเป็นการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้เกิดแก่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจปกครองหรือรัฐบาลในระบบการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นภายใต้กรอบแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยม จะต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

  1. หลักการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับรองความ

เสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้จะต้องมีการแก้ไขเยียวยา

  1. หลักการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจในการบริหารประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติที่ทำให้รัฐบาลสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ เช่น สร้างระบบให้มีการล้มรัฐบาลได้ยากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมาตรการเสริมเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย เช่น กำหนดมาตรการในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์

หรือถ้าจะไล่นายกรัฐมนตรีคนเก่าก็จะต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพื่อให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปได้เปรียบเทียบกัน เป็นต้น

  1. หลักการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการใช้อำนาจรัฐไว้ด้วย เช่น ควบคุมไม่ให้ใช้อำนาจเกินกว่าที่มี ควบคุมไม่ให้มีการใช้อำนาจที่เป็นการรุกรานสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น ซึ่งหลักการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก หลักการใช้อำนาจรัฐจะต้องขอบด้วยกฎหมาย คือ รัฐจะใช้อำนาจของรัฐก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อำนาจรัฐไว้รัฐจะทำมิได้

ประการที่สอง คนทุกคนที่อยู่ในรัฐจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง

  1. หลักการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
  2. หลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐและการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการถ่วงดุลของการใช้อำนาจดังกล่าว คือ อำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหารและอำนาจตุลาการไว้อย่างชัดเจน
  3. หลักนิติรัฐ กล่าวคือ ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยมนั้น ย่อมถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ดังนั้นในการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐทางด้านบริหารด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้เท่านั้น

 

ข้อ 4. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแจ้งแก่นายเอกตามที่ได้อุทธรณ์ว่า “การที่สำนักงานป.ป.ช.มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายโทผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ให้นายเอกทราบและเพื่อจะนำไปเป็นหลักฐานเอาผิดเนื่องจากร่ำรวยผิดปกตินั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดเผยแก่สาธารณชน หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฯสามารถใช้สิทธิต่อศาลปกครองได้ต่อไป” ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของนายเอกตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ในกรณีใดหรือไม่

เพราะเหตุใด และหากนายเอกจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 213 “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ” ท่านจะแนะนำนายเอกในกรณีนี้อย่างไรเพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

มาตรา 25 “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของฺประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

มาตรา 41 “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ”

มาตรา 213 “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ”

วินิจฉัย

กรณีอุทาหรณ์ การที่นายโทผู้ว่าการไฟฟ้าฯ ได้ยื่นข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. นั้น ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลและไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องเปิดเผยแก่สาธารณะแต่อย่างใด และการที่นายเอกได้ขอข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายโทที่ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. นั้นก็เพื่อรวบรวมและนำไปเป็นหลักฐานเอาผิดนายโทในทางคดีเท่านั้น นายเอกจึงไม่อาจเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นได้ เพราะการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในกรณีนี้ถือเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้น การที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแจ้งแก่นายเอกตามที่ได้อุทธรณ์ว่า การที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีคำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของนายโทนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น จึงไม่ได้เป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของนายเอกตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ให้การคุ้มครองไว้แต่อย่างใด (ตามมาตรา 4 มาตรา 25 และมาตรา 41) นายเอกจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยกรณีนี้ไม่ได้ เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560

สรุป

ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายเอกว่า นายเอกจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ไม่ได้

Advertisement