การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. การยุบสภาคืออะไร เหตุใดจึงมีการยุบสภา และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบสภาไว้อย่างไร ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

“ การยุบสภา ” หมายถึง การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งต้องพ้นจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งการยุบสภาที่ว่านี้จะใช้กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาเพราะไม่มีการยุบวุฒิสภา แต่การยุบสภานั้นจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันด้วย

การยุบสภามีความจำเป็นและสำคัญต่อการปกครองในระบบรัฐสภา เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศไทย ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เนื่องจากการปกครองในระบบนี้จะเพ่งเล็งถึงความสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารที่อาจแนะนำให้ประมุขของรัฐยุบสภาได้ ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการให้เครื่องมือแก่ฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ในการต่อสู้กับฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ต่อการที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเบิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร (คณะรัฐมนตรี) ได้นั่นเอง

การยุบสภานั้น อาจเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้ คือ

  1. ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงจำเป็นต้องยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูกต้อง
  2. ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า ในขณะที่จะยุบสภานั้น คะแนนนิยมของรัฐบาลกำลังดี และหากมีการเลือกตั้งใหม่ในขณะนั้น ฝ่ายรัฐบาลจะมีโอกาสได้รับชัยชนะ ได้ที่นั่งในสภามากมีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกจึงทำการยุบสภาเสีย
  3. ในกรณีที่มีการขัดแย้งกันระหว่างสภาสูง (วุฒิสภา) กับสภาล่าง (สภาผู้แทนราษฎร)ในการพิจารณาหรือจัดทำกฎหมาย
  4. ในกรณีที่ประมุขของรัฐยุบสภาเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การยุบสภาไว้ในมาตรา 108 ดังนี้

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน”

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในการยุบสภาจะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

  1. การยุบสภาเป็นพระราชอานาจของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐและทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วพระองค์จะทรงใช้พระราชอำนาจนั้นก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาตเท่านั้น
  2. การยุบสภาผู้แทนราษฎรต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
  3. การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวคือ หากจะมีการยุบสภาอีกครั้ง จะอ้างเหตุผลหรือเหตุการณ์ที่ใช้ในการยุบสภาครั้งก่อนไม่ได้
  4. ในกรณีที่มีการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 158)

 

ข้อ. 2 จงอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

  1. ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาของอำนาจบริหาร
  2. การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
  3. หลักที่นำมาใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจและการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจตาม 1 และ 2 ควรมีหลักอะไรบ้าง ยกตัวอย่างมา 5 หลัก

ธงคำตอบ

  1. ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1) อำนาจนิติบัญญัติ

อำนาจนิติบัญญัติมี “รัฐสภา” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา’’

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ

(ก) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน ซึ่งมาจากประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง โดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(1)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และ

(2)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิก

พรรคการเมือง

(ข) วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก

–        การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน

–        การสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา รวม 73 คน

2) อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย

(1)     นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

(2)     รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

  1. การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

1)      อำนาจนิติบัญญัติ อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เช่น การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้

2)      อำนาจบริหาร อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา การควบคุมตรวจสลบการทำงานของฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เป็นต้น

หรืออาจถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการคือโดยศาลปกครอง

3)      อำนาจตุลาการ การใช้อำนาจตุลาการนั้น อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

  1. หลักที่นำนาใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจและการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจ

หลักที่จะนำมาใช้เกี่ยวกับที่มาของอำนาจและการถวงดุลตรวจสอบอำนาจทั้งสามนั้น มีหลักการที่สำคัญ ๆ อยู่หลายประการ เช่น

(1)     หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจต่าง ๆ นั้นจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จะแตกต่างไปจากที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ไม่ได้

(2)     หลักความรู้ความสามารถ เช่น การกำหนดคุณวุฒิของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือคุณวุฒิของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกวาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เป็นต้น

(3)     หลักความซื่อสัตย์สุจริต เช่น การกำหนดให้รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน เป็นต้น

(4)     หลักความเหมาะสม เช่น การกำหนดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือความเป็นรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเป็นต้น

(5)     หลักความเป็นธรรมหรือหลักความยุติธรรม เช่น การพิจารณาพิพากษาคดี หรือการวินิจฉัยคคของศาลจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เป็นต้น

(6) หลักประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ การใช้อำนาจต่าง ๆ นั้น จะต้องเป็นการใช้อำนาจโดยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ชองประชาชนส่วนใหญ่ จะต้องไม่เป็นการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่มหรือบุคคลบางคนเท่านั้น

 

ข้อ 3. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติว่าการตรากฎหมายนั้นให้ตราในชื่อพระราชบัญญัติยกเว้นในมาตรา 138 ให้ตราในชื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้นักศึกษาอธิบายกระบวนการขั้นตอนการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง (สมมุติฐานว่าผ่านทุกขั้นตอน)

ธงคำตอบ

กระบวนการขั้นตอนในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (โดยสมมุติฐานว่าผ่านทุกขั้นตอน) ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 142 – 153 มีดังนี้ คือ

การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะต้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” โดยผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว อาจจะเป็นคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คนก็ได้ และต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว และได้ให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยสภาผู้แทนราษฎร จะแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ

วาระที่ 1 เรียกว่า “วาระรับหลักการ” เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้แล้ว ก็จะลงมติว่ารับหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ แล้วจะส่งร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป

วาระที่ 2 เรียกว่า “วาระพิจารณา” โดยสภาผู้แทนราษฎรจะตั้งคณะกรรมาธิการขั้นมาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้เรียงลำดับมาตรา ซึ่งในวาระนี้อาจมีการอภิปรายได้ แต่จะไม่มีการลงมติ และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งเข้าสู่วาระที่ 3

วาระที่ 3 เรียกว่า “วาระให้ความเห็นชอบ” กล่าวคือ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จแล้ว ก็จะลงมติให้ความเห็นชอบ แล้วให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวของวุฒิสภา ก็จะพิจารณาเป็น 3 วาระเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ถือว่าร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ได้รับความเห็บชอบจากรัฐสภาแล้ว ก็ให้วุฒิสภาส่งต่อให้แก่นายกรัฐมนตรี

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะนำร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้โดยจะเรียกชื่อกฎหมายนี้ว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…’’

 

ข้อ 4. นายแดงฟ้องการประปาส่วนภูมิภาคเป็นคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ใช้ค่าเสียหายที่ได้วางท่อน้ำรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน การประปาฯ ยื่นคำให้การว่า พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯ เป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรา 30 วรรคสอง ที่ศาลจะใช้ตัดสินกับคดีได้กำหนดให้การประปาฯมีอำนาจวางท่อน้ำผ่านที่ดินของบุคคลใด ๆ ที่มิใช่ที่ตั้งสำหรับที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดิน กรณีท่อน้ำมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 80 เซนติเมตร ซึ่งท่อน้ำที่ได้วางในที่ดินของนายแดงมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 40 เซนติเมตร ดังนั้นจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนแม้กรณีนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าวนี้ แต่กรณีเคยมีข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับคดีนี้มาแล้วโดยศาลจังหวัดนนทบุรีได้พิพากษาว่าการประปาสวนภูมิภาคมีสิทธิกระทำได้ไม่ถือเป็นการละเมิดและคดีถึงที่สุด หากระหว่างการพิจารณาคดีนายแดงได้มาปรึกษาท่านและกล่าวอ้างว่าแม้การใช้ที่ดินของตนในกรณีนี้ของการประปาฯ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็ทำให้สิทธิในทรัพย์สินของตนเสื่อมเสียจึงประสงค์จะให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนี้ ข้อกล่าวอ้างของนายแดงสามารถรับฟังได้หรือไม่ และท่านจะแนะนำนายแดงในกรณีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 6 “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 41 “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 211 วรรคแรก “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นด้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และ

ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211 วรรคแรก กรณีที่ศาลจะส่งความเห็นหรือข้อโต้แย้งเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 6

กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงจะสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และข้อกล่าวอ้างของนายแดงรับฟังได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อกล่าวอ้างของนายแดงรับฟังได้หรือไม่

กรณีนี้เห็นว่า แม้ตาม พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯ จะเป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะและตามมาตรา 30 วรรคสอง ซึ่งศาลจะใช้ตัดสินกับคดีได้กำหนดให้การประปาฯ มีอำนาจวางท่อน้ำผ่านที่ดินของบุคคลใด ๆ ที่มิใช่ที่ตั้งสำหรับที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินก็ตาม แต่เมื่อการประปาได้วางท่อน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายแดง แม้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ก็ทำให้สิทธิในทรัพย์สินของนายแดงเสื่อมเสีย เมื่อตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 41 ได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของนายแดง ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของนายแดงจึงสามารถรับฟังได้

สรุป

ข้อกล่าวอ้างของนายแดงรับพังได้

ประเด็นที่ 2 นายแดงสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าวได้หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 211 วรรคแรก ได้บัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในการโต้แย้งว่า บทบัญญัติที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ ตามมาตรา 6 หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้บทบัญญัติที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คือ มาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯ และเป็นบทบัญญัติที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน ดังนั้นนายแดงย่อมสามารถที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 211 วรรคแรกได้ โดยการยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่ามาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.บ. การประปาส่วนภูมิภาคฯขัดหรือแย้งต่อมาตรา 41 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 หรือไม่

สรุป

นายแดงสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 211 ได้

Advertisement