การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวบวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ประเทศในโลกที่สามได้นำระบบการเมืองมาจากระบบการเมืองรูปแบบใดบ้าง และระบบการเมืองของประเทศในโลกที่สามมีลักษณะเด่นอย่างไร จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ประเทศในโลกที่สามได้นำระบบการเมืองมาจากระบบการเมืองรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  1. ระบบการเมืองที่นำมาจากรูปแบบตะวันตก จะเห็นได้จากตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่ในภาคปฏิบัติอาจแตกต่างไปจากระบบการเมืองของประเทศที่ไปลอกเลียนแบบมา เช่นในประเทศแถบลาตินอเมริกาได้นำระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามาใช้ แต่ในทางปฏิบัติมีการบิดเบือนรูปแบบออกไป เป็นรูปแบบการปกครองที่ทำลายอำนาจสภาอย่างมาก
  2. ระบบการเมืองที่นำมาจากรูปแบบสังคมนิยม มักจะลอกเลียนรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย และใช้ระบบการเมืองแบบสังคมนิยม เช่น ประเทศในแถบแอฟริกาได้ลอกเลียนแบบโซเวียต แต่ในทางปฏิบัติมักใช้ลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง โดยเคารพต่อชนเผ่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม
  3. ระบบการเมืองที่นำมาจากรูปแบบเผด็จการพลเรือนหรือเผด็จการทหาร เริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบตะวันตก ประเทศที่นำระบบเผด็จการมาใช้มาก ได้แก่ ประเทศในแถบลาตินอเมริกา และแอฟริกา รูปแบบเผด็จการมีการใช้ในลักษณะหลากหลาย เช่น ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ แต่รัฐบาลกลับมาจากพรรคการเมืองเดียว หรือประมุขของรัฐขึ้นสู่ต่ำแหน่งโดยวิธีรัฐประหารหรือการแทรกแซงของทหารหรือทหารครองอำนาจเอง แต่บางครั้งทหารก็มอบหมายให้นักการเมืองขึ้นครองอำนาจโดยทหารควบคุมอย่างใกล้ชิด

ระบบเผด็จการเป็นระบบที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก

  1. ระบบการเมืองที่ล้าสมัย ยังคงมีอยู่บ้างในลักษณะสังคมศักดินา แต่มีแนวโน้มจะหายไป
  2. ระบบการเมืองแบบเฉพาะ เป็นการผสมผสานของการเมืองหลายระบบ แต่มีเนื้อหาทางประเพณีอยู่มาก และมีจำนวนประเทศที่ใช้ระบบนี้ลดน้อยลงเป็นลำดับ

ส่วนลักษณะเด่นของระบบการเมืองของประเทศในโลกที่สาม คือ

  1. ลักษณะเด่นทางปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีอาจมีสถาบันแบบประชาธิปไตยหรือแบบเสรีนิยม แต่ในภาคปฏิบัติกลับเป็นสิ่งลวงตา การเลือกตั้งไม่เสรี ประชาชนได้รับข่าวสารทางการเมืองน้อยมาก
  2. แนวโน้มในทางเผด็จการ ทั้งแบบเผด็จการและแบบที่นำเอามาจากตะวันตกอำนาจบริหารมักจะเข้มแข็ง
  3. บทบาทของพรรคการเมือง บางประเทศห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง บางประเทศควบคุมพรรคการเมือง บางประเทศใช้ระบบพรรคเดียวหรือหลายพรรค โดยพรรคการเมืองจะทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาล
  4. การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ทหารมีบทบาทมากโดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกาและลาตินอเมริกา โดยมีการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง

5 ความไร้เสถียรภาพทางสถาบันและการเมือง ประเทศในโลกที่สามจะมีความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสถาบันต่าง ๆ

 

ข้อ 2. การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามีสาระสำคัญอย่างไร และขอให้ท่านอธิบายถึงการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยวิธีการเลือกตั้งมาโดยละเอียด พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่งที่ยึดหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐของมองเตสกิเออร์เช่นกัน แต่เป็นการแบ่งแยกอำนาจในลักษณะค่อนข้างเด็ดขาด คือ ต่างฝ่ายต่างมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ทำให้ต่างเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นต่อกัน ในระบบนี้รัฐธรรมนูญจะไม่มีการกำหนดมาตรการแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการที่จะล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่นในระบบรัฐสภา

การปกครองในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามีสาระสำคัญ พอสรุปได้ดังนี้

  1. มีการเลือกตั้งประมุขของรัฐโดยประชาชน และเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีแล้ว ประธานาธิบดีก็มีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีตามที่เห็นสมควรให้บริหารประเทศได้
  2. ฝ่ายบริหาร ทั้งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภา กล่าวคือ สภาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และรัฐมนตรี ให้พ้นตำแหน่งก่อนหมดวาระไม่ได้
  3. ประธานาธิบดี ไม่มีอำนาจยุบสภา

การจัดการปกครองระบบนี้ทำให้เห็นได้ว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงสามารถที่จะอยู่ครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การเลือกตั้งสถาบันประมุขแห่งรัฐหรือประธานาธิบดี

สถาบันประมุขแห่งรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือ ในสหรัฐอเมริกามีพรรคการเมืองใหญ่ ๆ อยู่เพียง 2 พรรค คือ พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตที่มีโอกาสสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่บริหารประเทศ ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกคณะบุคคลขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” (Big Elector) เพื่อมาทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ โดยมีขั้นตอนดังนี้คือ

ขั้นตอนที่ 1

พรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคดังกล่าว จะคัดเลือกตัวแทนของแต่ละพรรคในแต่ละมลรัฐ ซึ่งมีทั้งหมด 50 มลรัฐ เพื่อส่งเข้าประชุมร่วมกันในระดับชาติ หรือเรียกว่าเป็นการประชุมระดับ Convention เพื่อให้คนที่มาประชุมร่วมกันของแต่ละพรรคนั้นทำการคัดเลือกบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะส่งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อได้ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ผู้ที่ได้รับเลือกมีสิทธิเลือกบุคคลที่จะลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย

ขั้นตอนที่ 2

กำหนดให้ประชาชนชาวอเมริกันในแต่ละมลรัฐไปทำการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ ซึ่งบัญชีรายชื่อของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่นี้ในแต่ละมลรัฐจะแตกต่างกันในเรื่องของจำนวน ทั้งนี้จำนวนสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ที่จะมีได้ในแต่ละมลรัฐนั้นจะมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 30 คน และสมาชิกวุฒิสภาอีก 2 คน รวมแล้วได้ 32 คน ดังนั้นทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในมลรัฐแคลิฟอร์เนียจะทำบัญชีรายชื่อคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของตนในมลรัฐนี้ขึ้นพรรคละ 32 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประชาชนในมลรัฐให้เลือกเข้ามา ฉะนั้นหากประชาชนนิยมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใดก็จะลงคะแนนให้แก่บุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น และจะต้องเลือกทั้ง 32 คนของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น เมื่อลงคะแนนเสร็จก็จะสรุปได้ว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คณะผู้เลือกตั้งใหญ่

สำหรับ “คณะผู้เลือกตั้งใหญ่” นั้นมีทั้งหมด 538 คน ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก (438 + 100) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ข้างมากและเด็ดขาด คือ จะต้องได้คะแนนเสียงตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป

ดังนั้นจะเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งใหญ่เสร็จลงแล้วรวมคะแนนจาก 50 มลรัฐของแต่ละพรรค ถ้าปรากฏว่าพรรคใดได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ถึง 270 เสียง คือเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (กึ่งหนึ่ง = 269) ก็จะทำให้ทราบทันทีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคดังกล่าวย่อมได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

ขั้นตอนที่ 3

ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งใหญ่ทั้งหมดจำนวน 538 คน ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งก็แน่นอนว่าคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ของแต่ละพรรค

ก็จะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครของพรรคตน ดังนั้นสมมุติว่าพรรคเดโมแครตได้จำนวนคณะผู้เลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป ก็หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตย่อมจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

แต่ล้าหากเกิดกรณีไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคใดได้คะแนนเสียงดังกล่าว รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีเช่นนี้ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เลือกตั้งรองประธานาธิบดี และให้สภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกตั้งประธานาธิบดีจากผู้สมัครดังกล่าว

 

ข้อ 3. จงเปรียบเทียบที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ธงคำตอบ

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นั้น สามารถเปรียบเทียบที่มาของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ได้ดังนี้ คือ

1)      อำนาจนิติบัญญัติ

อำนาจนิติบัญญัติมี “รัฐสภา” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”

และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ

(ก) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน ซึ่งมาจากประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้ง โดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(1)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 375 คน และ

(2)     เป็นสมาชิกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 125 คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(ข) วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ซึ่งมาจาก

–        การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน

–        การสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา รวม 73 คน

ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติเพียงสภาเดียว โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี

ตามที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา (มาตรา 6)

2)      อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้แก่ คณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย

(1)     นายกรัฐมนตรี จำนวน 1 คน เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

(2)     รัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย เช่น รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีนั้นนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะเป็น ส.ว. ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร โดยคณะรัฐมนตรีนั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คน ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิบ (มาตรา 19)

3)      อำนาจตุลาการ

อำนาจตุลาการซึ่งมีศาลเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนั้น ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะเหมือนกัน เนื่องจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นได้ให้อำนาจตุลาการยังคงเป็นไปตามเดิมนั่นเอง

 

ข้อ 4. เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้ให้ความเห็นชอบให้มีการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2557 เพื่อใช้บังคับการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2558 ทำให้มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในมาตรา 57 ตรีและมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากรฯ เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้ที่เป็นสามีและภริยาขึ้นใหม่ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำร่างพระราชกำหนดฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และได้มีการประกาศใช้บังคับ หลังจากนั้นนายแดงสามีและบางดำภริยาเห็นว่า พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2557 มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ เป็นการตราที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากมิใช่กรณีฉุกเฉินแต่อย่างใด จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการตราพระราชกำหนดฯ ในกรณีนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 หรือไม่ เพราะเหตุใด และผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

มาตรา 21 “เมื่อมีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติ…”

มาตรา 45 “ภายใต้บังคับมาตรา 5 และมาตรา 44 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะเมื่อมกรณีที่เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้..”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยออกได้ 2 ประเด็น ดังนี้ คือ

ประเด็นที่ 1 การตราพระราชกำหนดฯ ในกรณีนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 หรือไม่

ในการตราพระราชกำหนดตามมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. พระราชกำหนดทั่วไป ออกได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
  2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ออกได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ตามอุทาหรณ์ ในการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2557 มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ นั้น ถือได้ว่าเป็นการตราพระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจให้ความเห็นชอบให้มีการร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ ดังกล่าว แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชกำหนดฯ นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ

ถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับได้โดยไม่ต้องมีกรณีฉุกเฉินเหมือนกับการตราพระราชกำหนดทั่วไปแต่อย่างใด

ดังนั้น การตราพระราชกำหนดฯ ในกรณีนี้จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

ประเด็นที่ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่แม้ตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 45 จะบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งตอรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นจะมีอำนาจเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ก็แต่เฉพาะเมื่อมีกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฯ ดังกล่าว ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” เพราะมิใช่กฎหมายที่ออกหรือตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

สรุป

การตราพระราชกำหนดฯ ในกรณีนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไม่ได้

Advertisement