การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2542

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2003 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1. นางแป้นเป็นมารดาของเด็กหญิงแดง ใช้ให้เด็กหญิงแดงไปขโมยลูกสุนัขของนางจ้อยซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เด็กหญิงแดงจึงแอบลอบเข้าไปในบ้านของนางจ้อยแล้วขโมยลูกสุนัขออกมาจากในกรงระหว่างที่กำลังมุดรั้วกลับนั้นเอง สุนัขตัวแม่เห็นเข้าพอดี จึงกระโดดเข้ากัดเด็กหญิงแดงที่ข้อเท้าจนเป็นแผลใหญ่เลือดไหลมาก ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)     นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อตนได้หรือไม่อย่างไร

(2)     หากว่าต่อมาหญิงแดงถึงแก่ความตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ได้ นางแป้นจะเรียกร้องให้นางจ้อยรับผิดในค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ อ้างหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 420, 432, 433 และ 443

วินิจฉัย

ข้อ (1) นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อตนได้ตามมาตรา 420 และ 432 ในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดกับเด็กหญิงแดง (ไม่ใช่กรณีที่รับผิดตามมาตรา 429 ในฐานะเป็นมารดาของเด็กหญิงแดง)

ข้อ (2) นางจ้อยจะเรียกร้องให้นางแป้นรับผิดเพื่อละเมิดต่อเด็กหญิงแดงได้ไม่ได้ เพราะนางแป้นมิได้กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงแดงตามมาตรา 420 ด้วยเหตุที่ไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายต่อเด็กหญิงแดงแต่อย่างใด และนางแป้นก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 433 แม้ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กหญิงแดงได้รับความเสียหายเพราะสัตว์ซึ่งนางแป้นเป็นเจ้าของ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดของเด็กหญิงแดงเองที่ลอบเข้ามาในบ้านของ นางแป้น ถือได้ว่านางแป้นได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสัตว์ตามวิสัยและพฤติการณ์ของสัตว์โดยเลี้ยงไว้ในบ้านของตนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กหญิงแดงได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรือต่อชีวิต ดังนั้นนางแป้นจึงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 ไม่ได้

 

 

ข้อ 2. นายแจ๋วขับรถด้วยความเร็วสูงไปยังถนนสายหนึ่ง ขณะนั้นเองมีสุนัขวิ่งตัดหน้า นายแจ๋วจึงเบรครถอย่างกระทันหัน และเกิดเบรคแตก ทำให้รถลื่นไถลไปชนประตูกำแพงบ้านของนางแหวว และยังไถลลื่นไปชนรถของ นางติ๋มที่จอดอยู่ในบ้านนั้นด้วย ทำให้รถนางติ๋มพังเสียหาย และปรากฏว่าใต้ท้องรถของนางติ๋มนั้น มีนายช่างกำลังซ่อมใต้ท้องรถอยู่ และได้รับบาดเจ็บสาหัสหมดสติไป ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1)     การที่รถเบรคแตกแล้วเกิดความเสียหายขึ้นนั้น นายแจ๋วจะต้องรับผิดเพื่อละเมิดต่อนางแหวว นางติ๋ม และนายช่างหรือไม่

(2)     หากนายแจ๋วตัดความรำคาญด้วยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มเป็นค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจโดยสุจริตว่านางติ๋มเป็นเจ้าของบ้านดังกล่าว และนางติ๋มได้รับเงินไปแล้ว นางแหววและ นายช่างจะมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากนายแจ๋วอีกได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

อ้างหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 437 และ 441

วินิจฉัย

ข้อ (1) นายแจ๋วมีความรับผิดต่อนางแหวว นางติ๋ม และนายช่าง ตามมาตรา 437 เพราะเหตุที่เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล และไม่สามารถอ้างการที่รถเบรคแตกเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะเหตุว่าเหตุสุดวิสัยคือเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้ แต่การที่อุปกรณ์ของรถเสื่อมสภาพนั้น ผู้ขับขี่รถอาจป้องกันได้ก่อนขับขี่ จึงไม่อาจเป็นเหตุสุดวิสัยได้

ข้อ (2) บทบัญญัติในมาตรา 441 ให้สิทธิแก่ผู้ทำละเมิดซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย ว่าให้เป็นอันหลุดพ้นในความรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้น ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นกรณีที่มีความเสียหายต่อ “สังหาริมทรัพย์” และเป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ “ผู้ครองทรัพย์” ในขณะนั้น รวมทั้งต้องเป็นการชดใช้ให้ไปโดย “ปราศจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงด้วย เท่านั้น ดังนั้นจากข้อเท็จจริงตามปัญหา

ท นายแจ๋วทำให้ประตูกำแพงบ้านเสียหาย ประตูกำแพงบ้านไม่ใช่เป็น “สังหาริมทรัพย์” จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ทำให้นายแจ๋วหลุดพ้นจากการชำระหนี้ละเมิดต่อผู้เสียหายที่แท้จริงคือนางแหวว

ท นายแจ๋วทำให้รถ (สังหาริมทรัพย์) ของนางติ๋มเสียหาย และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มซึ่งเป็นผู้ครอง “สังหาริมทรัพย์” อยู่ในขณะนั้นแล้ว นายแจ๋วจึงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดต่อนางติ๋มแล้ว ตามมาตรา 441

ท กรณีที่นายช่างได้รับความเสียหายแก่ร่างกายนั้น นายแจ๋วจะอ้างความหลุดพ้นเพราะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางติ๋มไปแล้วนั้นไม่ได้ เพราะมาตรา 441 มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณีที่ “สังหาริมทรัพย์” ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่รวมถึงความเสียหายกรณีที่มีคนเจ็บหรือตาย

 

 

ข้อ 3. นายสิงห์กับนายสาไม่ถูกกันมาก่อน วันเกิดเหตุขณะที่นายสิงห์ยืนอยู่ริมหน้าต่างชั้นสองบ้านของนายสิงห์เอง เห็นนายสาเดินมานายสิงห์ใช้มือผลักบานหน้าต่างตกลงมาถูกศีรษะนายสาได้รับบาดเจ็บ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายสิงห์ต้องรับผิดในทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 434 บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรียนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุด บกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหาย ฉะนั้นแล้วท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

กรณีตามปัญหา การที่นายสิงห์ใช้มือผลักบานหน้าต่างตกลงมาถูกศีรษะนายสาได้รับบาดเจ็บ การกระทำของนายสิงห์เป็นการกระทำโดยรู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจึงถือว่าเป็นการจงใจ การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

กรณีนี้มิใช่ความรับผิดตามมาตรา 434 เพราะการที่จะเป็นความรับผิดตามมาตรา 434 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องไม่มีการจงใจหรือไม่มีการประมาทเลินเล่อ ถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการจงใจหรือมีการประมาทเลินเล่อเข้ามาเกี่ยวข้องจะต้องใช้มาตรา 420 จะนำมาตรา 434 มาใช้ไม่ได้

สรุป นายสิงห์ต้องรับผิดทางละเมิด ตามมาตรา 420

 

 

ข้อ 4. (ก) นายแดงประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่นายขาวเช่าจากนายฟ้า แดงเข้าใจโดยสุจริตว่านายขาวเป็นเจ้าของบ้านจึงใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายขาวไป 200,000 บาท ต่อมานายฟ้าเจ้าของบ้านที่แท้จริงมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข)     นายเอกลักรถยนต์ของนายโทไปแล้ว 5 วัน และกำลังจะนำรถเดินทางไปต่างประเทศ นายตรีซึ่งเป็นเพื่อนกับนายโทรู้ข่าวจะขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือก็ไม่ทันการณ์ นายตรีจึงใช้กำลังติดตามเอารถกลับคืนมาให้นายโทเป็นเหตุให้นายเอกได้รับความเสียหาย ดังนี้ นายตรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือทรัพย์นั้น เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตน หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน”

กรณีตามปัญหา การที่แดงใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายขาวไป แดงย่อมไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 441 เนื่องจาก บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 441 ดังนั้นเมื่อนายฟ้าเจ้าของบ้านที่แท้จริงมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายแดง นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้า

สรุป นายแดงต้องรับผิดต่อนายฟ้า

(ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 451 บัญญัติว่า “บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดังสิทธินั้นจะต้องประวิงไปมาก หรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”

กรณีตามปัญหา การที่นายตรีใช้กำลังติดตามเอารถกลับคืนมาเป็นเหตุให้นายเอกได้รับความเสียหาย นายตรีจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเอก เพราะการกระทำของนายตรีไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 451 การที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 451 จะต้องเป็นการใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองเท่านั้น ไม่รวมถึงการป้องกันสิทธิของผู้อื่น

สรุป นายตรีต้องรับผิดต่อนายเอก

Advertisement