การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2561 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 นั้น อังคาร ไม่สามารถรับชําระหนี้ได้ เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคสอง “แต่ถ้าเจ้าหนี้ได้แสดงแก่ลูกหนี้ว่า จะไม่รับชําระหนี้ก็ดี หรือเพื่อที่จะ ชําระหนี้จําเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนก็ดี ลูกหนี้จะบอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ว่า ได้เตรียมการ ที่จะชําระหนี้ไว้พร้อมเสร็จแล้ว ให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้นั้น เท่านี้ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่า คําบอกกล่าวของลูกหนี้นั้นก็เสมอกับคําขอปฏิบัติการชําระหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์กู้เงินอังคารไปหนึ่งแสนบาท กําหนดชําระคืนให้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2561 อังคารได้แจ้งไปยังจันทร์ลูกหนี้ว่ากําหนดชําระหนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2561 นั้น อังคารไม่สามารถรับชําระหนี้ได้เพราะไม่อยู่จะไปต่างประเทศ กรณีเช่นนี้หากถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 จันทร์ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้แต่อังคารไม่รับชําระหนี้เพราะไปต่างประเทศ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารเจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 20 มกราคม 2561 อังคารไม่อยู่บ้านจริง ๆ เพราะไปต่างประเทศ แต่จันทร์เองก็ไม่ได้ไปขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้แก่อังคารแต่ประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย หลักเกณฑ์ตามมาตรา 207 ดังนั้น จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ได้

และเมื่อหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าว เป็นหนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และเมื่อ ถึงกําหนดคือวันที่ 20 มกราคม 2561 จันทร์ลูกหนี้มิได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ กรณีนี้จึงถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็น ผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคสอง

สรุป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่าจันทร์ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

 

ข้อ 2. พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ละเมิดจุดไฟเผาบ้านหลังดังกล่าว ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง บ้านหลังนี้มีราคาหนึ่งล้านบาท พุธจึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้าน ให้แก่พฤหัสไปเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ซึ่งพฤหัสก็รับไว้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายจํานวนหนึ่งล้านบาทนั้นให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่ เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้ คนใหม่โดยผลของกฎหมาย ทําให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิแทนเจ้าหนี้คนเดิม ซึ่งตามมาตรา 227 ได้วางหลักเกณฑ์ ของการรับช่วงสิทธิไว้ดังนี้

1 ผู้ที่จะเข้ารับช่วงสิทธิมีได้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

2 ต้องมีหนี้ที่มีลูกหนี้จะต้องชําระก่อน

3 ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้มีการชําระหนี้กัน ส่งผลให้มีการเข้ารับช่วงสิทธิกัน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธเช่าบ้านของพฤหัส ต่อมาปรากฏว่าศุกร์ได้ละเมิดจุดไฟเผาบ้าน หลังดังกล่าว ทําให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลังโดยบ้านหลังนี้มีราคา 1 ล้านบาทนั้น ถือว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ พฤหัสโดยการกระทําของศุกร์ และความเสียหายดังกล่าวพุธซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าธรรมดาไม่มีหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้อง รับผิดชอบในความเสียหายต่อพฤหัสผู้ให้เช่า ดังนั้น พุธจึงมิใช่ลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 227 การที่พุธได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายทั้งหมดคือราคาบ้านให้แก่พฤหัสไปเป็นเงิน 1 ล้านบาท จึงไม่ก่อให้เกิดการ รับช่วงสิทธิใด ๆ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติมาตรา 227 พุธจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนได้

สรุป พุธจะเรียกร้องให้ศุกร์ผู้ทําละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย จํานวน 1 ล้านบาทให้แก่ตนไม่ได้

 

 

ข้อ 3. เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่หนึ่งแสนบาท แต่โทไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย โทมีอาชีพค้าขายมีรายได้เพียงวันละหนึ่งร้อยบาท ต่อมาปรากฏว่าโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน ซึ่งเป็นผลทําให้ โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นคือค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรี ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ทําให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก ดังนี้ เอกสมควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของ โทได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงนั้น ไม่ได้ทําให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด กล่าวคือ แม้ลูกหนี้จะได้ทํานิติกรรมนั้นลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ ยังสามารถที่จะบังคับชําระหนี้ได้ หรือนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทํานั้นเป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ตามมาตรา 237 วรรคสอง ดังนี้ เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่ 1 แสนบาท แต่โทไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เลย โดยโทมีอาชีพค้าขายมีรายได้เพียงวันละ 100 บาท และต่อมาโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน ซึ่งมีผลทําให้โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นคือค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรี บุตรบุญธรรม ทําให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีกนั้น เมื่อการที่โทจดทะเบียนรับตรี เป็นบุตรบุญธรรมนั้น เป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินตามมาตรา 237 วรรคสอง ดังนั้น เอกจะ ใช้มาตรการในทางกฎหมายเพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของโทโดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของโทไม่ได้

สรุป เอกจะใช้มาตรการในทางกฎหมายโดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียน รับบุตรบุญธรรมของโทไม่ได้

 

 

ข้อ 4. ศุกร์และเสาร์เป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง ต่อมาศุกร์และเสาร์ได้ร่วมกันทําสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่อาทิตย์ในราคาห้าแสนบาท อาทิตย์ได้นําเงินห้าแสนบาทไปขอปฏิบัติการชําระราคา โดยชอบตามสัญญาซื้อขายต่อศุกร์ แต่ปรากฏว่าศุกร์บอกปัดไม่ยอมรับชําระราคาโดยปราศจาก มูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อาทิตย์จึงนําเงินจํานวนดังกล่าวไปวางที่สํานักงานวางทรัพย์เพื่อ ประโยชน์แก่ศุกร์ (เจ้าหนี้) หลังจากนั้นปรากฏว่าเสาร์ได้เรียกร้องให้อาทิตย์ชําระหนี้ราคารถยนต์ จํานวนห้าแสนบาทอีก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าอาทิตย์ต้องชําระหนี้ให้แก่เสาร์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจาก มูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชําระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย”

มาตรา 299 วรรคสาม “นอกจากนี้ ท่านให้นําบทบัญญัติแห่งมาตรา 292, 293 และ 295 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่น ๆ ด้วยไม่”

มาตรา 331 “ถ้าเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชําระหนี้ก็ดีหรือไม่สามารถจะรับชําระหนี้ได้ก็ดี หากบุคคลผู้ชําระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว ก็ย่อมจะเป็นอันหลุดพ้นจาก หนี้ได้ ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่บุคคลผู้ชําระหนี้ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิ หรือไม่รู้ตัวเจ้าหนี้ได้แน่นอน โดยมิใช่ความผิดของตน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศุกร์และเสาร์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันหนึ่ง ได้ร่วมกันทําสัญญา ขายรถยนต์คันนั้นให้กับอาทิตย์ ศุกร์และเสาร์จึงถือเป็นเจ้าหนี้ร่วมในค่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าว

ตามข้อเท็จจริง การที่อาทิตย์ไปขอชําระหนี้ต่อศุกร์โดยชอบ แต่กร์บอกปัดไม่ยอมรับชําระหนี้ โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น ศุกร์เจ้าหนี้ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 และย่อมเป็นโทษ แก่เสาร์เจ้าหนี้ร่วมด้วย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาทิตย์ได้นําเงินค่าซื้อรถยนต์ 5 แสนบาทไปวางที่สํานักงาน วางทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จึงถือเป็นการวางทรัพย์สินแทนการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 331 และ การวางทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงมีผลต่อเสาร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันด้วยตามมาตรา 299 วรรคสาม ประกอบมาตรา 292 วรรคหนึ่ง มาตรา 207 และมาตรา 331 ดังนั้น เมื่อเสาร์ได้เรียกร้องให้อาทิตย์ชําระหนี้ราคารถยนต์จํานวน 5 แสนบาท อาทิตย์จึงไม่ต้องชําระให้แก่เสาร์

สรุป อาทิตย์ไม่ต้องชําระหนี้จํานวน 5 แสนบาทให้แก่เสาร์

 

Advertisement