การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแบน)

ข้อ 1. นายเมฆครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของนายหมอกจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มา ภายหลังต่อมานายหมอกได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายฟ้าโดยเสน่หา ครั้นนายฟ้าเข้าอยู่ในที่ดิน จึงพบว่านายเมฆได้อาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าว นายฟ้าจึงฟ้องขับไล่นายเมฆต่อศาล นายเมฆยกข้อต่อสู้ว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว นายหมอกย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป ดังนั้น การที่นายฟ้ารับโอนที่ดินจากนายหมอกซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ นายฟ้าย่อมไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วย ตามหลักผู้รับโอนไม่มิสิทธิดีกว่าผู้โอน

หากท่านเป็นผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของนายหมอกโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ถือว่านายเมฆเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่านายเมฆยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว นายเมฆจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น นายเมฆจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายหมอกได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายฟ้านั้นเป็นการโอนให้โดยเสน่หา จึงถือว่านายฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินมาโดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น ถึงแม้นายฟ้าจะได้รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม นายฟ้าก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นายเมฆจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายฟ้า นายฟ้าจะฟ้องขับไล่นายเมฆไม่ได้

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้นายเมฆเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่านายฟ้า

 

ข้อ 2. แก้วสร้างบ้านในที่ดินของตน หลังจากแก้วถึงแก่ความตายบ้านและที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่เก่งกับกล้าทายาทของแก้ว ต่อมาเก่งกับกล้าได้จดทะเบียนแบ่งที่ดินมรดกเป็นสองแปลงโดยเก่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินแปลงที่หนึ่ง ส่วนกล้าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่สองซึ่งบ้านของเก่งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแปลงที่สองประมาณ 30 เซนติเมตรตลอดแนวบ้าน ต่อมากล้าทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงที่สองให้ชัย หลังจากชัยรับโอนที่ดินแล้วพบว่าบ้านของเก่งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ชัยจึงเรียกให้เก่งรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำที่ดินของตนออกไป ดังนี้ เก่งจะต้องรื้อบ้านส่วนที่รุกล้ำที่ดินของชัยหรือไม่ และบุคคลทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อกันได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นตามมาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของโรงเรือนได้ปลูกสร้างโรงเรือนขึ้นทั้งหลัง แล้วส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือนนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แก้วสร้างบ้านในที่ดินของตน เมื่อแก้วถึงแก่ความตายบ้านและที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่เก่งและกล้าทายาทของแก้ว และเมื่อเก่งกับกล้าได้แบ่งที่ดินมรดกเป็นสองแปลงโดยเก่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินแปลงที่หนึ่ง ส่วนกล้าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่สอง และบ้านของเก่งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินแปลงที่สองประมาณ 30 เซนติเมตรตลอดแนวบ้านนั้น กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1312 เพราะการที่ส่วนของบ้านเก่งรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของกล้านั้น มิได้เกิดจากการที่เก่งเจ้าของโรงเรือนเป็นผู้สร้างโรงเรือน แล้วส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือนได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของกล้า แต่เป็นกรณีที่ตอนแรกมีโรงเรือนปลูกบนที่ดินแปลงเดียว แล้วต่อมาได้มีการแบ่งที่ดินแปลงนั้นเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย ทำให้โรงเรือนนั้นไปรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นที่รับการแบ่งไป

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับตามข้อเท็จจริงดังกล่าว (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง)

จึงถือว่าเป็นกรณีที่เก่งได้ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของกล้าโดยสุจริต เมื่อกล้าได้จดทะเบียนขายที่ดินให้ชัยไปแล้ว ชัยผู้รับโอนจึงไม่สามารถฟ้องให้เก่งรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำ แต่ชัยมีสิทธิเรียกให้เก่งใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินและดำเนินการจดทะเบียนเป็นภาระจำยอมให้บ้านของเก่ง และถ้าภายหลังบ้านของเก่งสลายไปทั้งหมด ชัยก็มีสิทธิที่จะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นได้ (เทียบฎีกาที่ 1511/2542 และฎีกาที่ 6593/2550)

สรุป

เก่งไม่ต้องรื้อบ้านส่วนที่รุกล้ำที่ดินของชัย แต่เก่งจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าใช้ที่ดินและเรียกให้ขัยไปจดทะเบียนเป็นภาระจำยอมได้ ส่วนชัยมีสิทธิได้รับเงินค่าใช้ที่ดินจากเก่งและมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเป็นภาระจำยอมให้เก่ง และถ้าภายหลังบ้านสลายไปทั้งหมด ชัยก็มีสิทธิเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นได้

 

ข้อ 3 ดวงเข้าไปทำสวนทุเรียนในที่ดินมีโฉนดของแตนด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เป็นเวลา 6 ปี โดยแตนไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของดวง พอเริ่มปีที่ 7 ดวงถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ก่อนเข้ารับโทษจำคุกดวงมอบหมายให้ดินน้องชายของตนมาดูแลเผ้าสวนทุเรียนแทนต่อมาเมื่อพ้นโทษจำคุกแล้วดวงกลับไปครอบครองทำสวนทุเรียนของแตนอีกสามปี แตนจึงฟ้องขับไล่ดวงให้ออกจากที่ดินแปลงนี้

ให้ท่านวินิจฉัยว่าดวงจะอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้กับแตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดวงเข้าไปทำสวนทุเรียนในที่ดินมีโฉนดของแตนด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนั้น ดวงจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ก็ต่อเมื่อได้ครอบครองติดต่อกันจบครบกำหนด 10 ปี การที่ดวงได้ครอบครองได้ 6 ปี พอเริ่มปีที่ 7 ดวงถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนนั้น โดยหลักย่อมถือว่าเป็นการขาดการยึดถือทรัพย์สินคือที่ดินนั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นกรณีที่ดวงได้ขาดการครอบครองโดยไม่สมัครใจ อีกทั้งยังปรากฏว่าดวงได้มอบหมายให้ดินน้องชายของตนมาเฝ้าสวนทุเรียนไว้แทน จึงทำให้การครอบครองของดวงยังถือว่าเป็นการครอบครองต่อเนื่องอยู่ตามมาตรา 1368 ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่ดวงได้สิทธิครอบครองโดยให้ผู้อื่นยึดถือไว้แทน การครอบครองของดวงจึงสามารถนับติดต่อกันมาได้โดยตลอด

และจากข้อเท็จจริง เมื่อดวงได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวได้ 6 ปี และรวมกับที่ดินได้ครอบครองไว้แทนดวงอีก 1 ปี 6 เดือน และรวมกับเมื่อดวงได้เข้าครอบครองหลังพ้นโทษจำคุกแล้วอีก 3 ปี จึงเป็นการครอบครองที่ติดต่อกันรวม 10 ปี 6 เดือน โดยภายในระยะเวลาดังกล่าวนั้นแตนไม่เคยฟ้องขับไล่หรือขจัดให้ออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ดังนั้น จึงถือว่าดวงได้ครอบครองที่ดินของแตนโดยสงบ เปิดเผยและโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันครบ 10 ปี ดวงจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของแตนโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แตนจึงฟ้องขับไล่ดวงให้ออกจากที่ดินแปลงนี้ไม่ได้

สรุป

ดวงสามารถอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้กับแตนได้

 

ข้อ 4. นายกล้วยเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำแข็ง โดยทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินติดคลองลัดมะยม ซึ่งปัจจุบันยังคงใช้เป็นทางสัญจรไปมาทางเรือได้ตลอดเวลา ส่วนอีกสามด้านของที่ดินถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของนายใบตอง โดยทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินนายใบตองติดถนนซึ่งมีประชาชนใช้สัญจรไปมา แต่เนื่องจากการขนส่งน้ำแข็งให้กับลูกค้าของนายกล้วยทางเรือผ่านคลองลัดมะยมนั้นไม่สะดวก นายกล้วยจึงขอใช้ทางผ่านที่ดินของนายใบตองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกัน โดยเสียเงินค่าตอบแทนให้แก่นายใบตองเป็นรายปี ๆ ละ 1,000 บาท

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าการใช้ทางเพื่อขนส่งน้ำแข็งของนายกล้วยเป็นภาระจำยอมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

วินิจฉัย

“ภาระจำยอม” ตามมาตรา 1387 เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิ์ โดยทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่า “ภารยทรัพย์” ต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนถึงทรัพย์สินของตน หรือทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่น ที่เรียกว่า “สามยทรัพย์” คือจะทำให้ตัวสามยทรัพย์ได้รับประโยชน์หรือได้รับความสะดวกขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกล้วยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำแข็งได้ขอใช้ทางผ่านที่ดินของนายใบตองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกันเพี่อประโยชน์แก่การขนส่งน้ำแข็งให้กับลูกค้า โดยเสียเงินค่าตอบแทนให้แก่นายใบตองเป็นรายปี ๆ ละ 1,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายกล้วยเจ้าของสามยทรัพย์ได้ขอใช้ภารยทรัพย์ (ที่ดินของนายใบตอง) เพื่อประโยชน์ของตัวบุคคลที่อยู่บนสามยทรัพย์ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยลักษณะของภาระจำยอมตามมาตรา 1387 ดังนั้น การใช้ทางเพื่อขนส่งน้ำแข็งของนายกล้วยจึงไม่เป็นภาระจำยอม

สรุป

การใช้ทางเพื่อขนส่งน้ำแข็งของนายกล้วยไม่เป็นภาระจำยอม

Advertisement