การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี  3  ข้อ

ข้อ  1.      จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยละเอียดและครบถ้วน

ธงคำตอบ
 “ช่องว่างของกฎหมาย”  เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั่นเองในกรณีที่มีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น  โดยหลักทั่วไปศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีนั้นไม่ได้  กล่าวคือ  ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นเสมอโดยศาลจะต้องใช้กฎหมายโดวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ซึ่งได้บัญญัติถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ว่า“เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น  ให้วินิจฉัยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นไม่มีด้วย  ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

อนึ่ง…สำหรับกฎหมายอาญานั้น  แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษ  ศาลก็ย่อมที่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้  แต่จะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายให้เป็นการลงโทษบุคคล  หรือจะอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไปในทางที่จะลงโทษบุคลให้หนักขึ้นไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  4  วรรคสอง  ได้บัญญัติถึงขั้นตอนในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายไว้เป็นลำดับดังต่อไปนี้  คือ

1.  ถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้  ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น

กรณีนี้หมายความว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล  ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี  แต่จารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ได้และจะมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายนั้น  ควรจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ

1.     เป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป

2.     เป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน

3.     เป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย  หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.     เป็นจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นที่ทราบกันทั่วไป

5.     เป็นจารีตประเพณีที่มีเหตุผลสมควรและเป็นธรรม

2.  ถ้าไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้พิจารณาโดยอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

กรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายอีกวิธีหนึ่ง  กล่าวคือ  เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้นแต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้  ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมาที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน  ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง  มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน

ขั้นตอนในการพิจารณาโดยอาศัย (เทียบ) บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

1       พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีว่ามีความคล้ายคลึงกับข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่

2       พิจารณาถึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองกรณีว่ามีเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งหรือไม่  ถ้ามีเหตุผลเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอย่างยิ่งก็อาจเทียบเคียงกันได้

3       พิจารณากฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงว่าเป็นบททั่วไปหรือเป็นบทยกเว้น  ถ้าเป็นบททั่วไปก็อาจนำมาเทียบเคียงกันได้  แต่ถ้าเป็นข้อยกเว้นก็ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

4       กฎหมายที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน  มิใช่กฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษเพื่อใช้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

3.  ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ก็ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป

กรณีนี้เป็นวิธีอุดช่องว่างของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประการสุดท้าย  กล่าวคือในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ไม่มีจารีตประเพณี  และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง  ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ  ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน  หรือสุภาษิตกฎหมาย  หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้

 

ข้อ  2.      นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือนายหนึ่ง วันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่และนางไข่ไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างทางการเดินทางกลับภูเก็ตเรือเจอพายุอับปาง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 5 มกราคม 2550 นายไก่โทรมาหานายหนึ่งว่าติดเกาะ เล็ก ๆ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นนายหนึ่งก็ไม่ได้รับข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่และนางไข่อีกเลย

1)  นายหนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

2)  ถ้าได้นายหนึ่งจะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใดจงอธิบาย 

ธงคำตอบ

มาตรา  61  ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

1  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

2  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

3  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์วันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่และนางไข่ไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างทางการเดินทางกลับภูเก็ตเรือเจอพายุอับปาง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ใน วันที่ 5 มกราคม 2550 นายไก่โทรมาหานายหนึ่งว่าติดเกาะ เล็ก ๆ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นนายหนึ่งก็ไม่ได้รับข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่และนางไข่อีก เลย  เห็นว่ากรณีของนางไข่เป็นการสาบสูญกรณีพิเศษ  ในกรณีนายไก่เป็นกรณีธรรมดาศาลจะสั่งให้นางไข่เป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษ  จะต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1       ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

2       ติดต่อกันเป็นเวลา  2  ปี  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป  โดยไม่มีใครพบเห็นตัว  หรือไม่มีใครได้รับข่าวคราว

3       ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล

4       ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ

1)  หนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เห็นว่า  ผู้มีสิทธิที่ร้องขอต่อศาลให้สั่งบุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงายอัยการ  ดังนั้นหนึ่งจึงสามารถร้องขอได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมคือ เป็นผู้สืบสันดาน

2) ในกรณีนายไก่เป็นกรณีธรรมดา จะครบกำหนด 5 ปี  ในวันที่  5 มกราคม 2555 ดังนั้น หนึ่งจึงไปร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2555

ส่วนนางไข่นั้นอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการตายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นกรณีพิเศษอันมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่นางไข่สูญหายไปกับยานพาหนะที่โดยสารไปมิใช่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียได้ทราบข่าวการสูญหาย  หนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นางไข่เป็นคนสาบสูญได้ในวันที่  ครบ 2 ปี  1 มกราคม 2552 ไปศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2552

 

ข้อ  3.      บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1)  นายไก่คนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนายห่านผู้อนุบาลให้สมรสกับนางไข่ซึ่งมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์เท่ากัน การสมรสมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2)  นายดินคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายน้ำในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายน้ำไม่ทราบว่านายดินวิกลจริต สัญญาซื้อขายโทรทัศน์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3)  นายลมคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง 2 เชือก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ การให้ยืมมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

4)  เด็กชายเพชรรับเงินจากเศรษฐีใจบุญนั่งแจกเงินคนจนกลางสนามหลวงมา 20,000 บาท การรับการแจกเงินมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา 22  ผู้เยาว์อาจทำการใดๆได้ทั้งสิ้น  หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง

มาตรา 29  “การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30  “การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34  คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น  ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงิน  ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

มาตรา 1449  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต  หรือเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

วินิจฉัย

1) โดยหลักกฎหมายแล้ว คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้นดังนั้นการสมรส ผลจึงตกเป็นเป็นโมฆะ (มาตรา 29, 1499)

2)  คนวิกลจริตซื้อโทรทัศน์ขณะกำลังวิกลจริต แต่ผู้ขายไม่ทราบว่าวิกลจริต ผลของสัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ (มาตรา 30)

3) คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ผลเป็นโมฆียะ (มาตรา 34(3))

4)  ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง ถ้าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไข เด็กชายเพชรสามารถรับเงินจากเศรษฐีใจบุญได้ และมีผลสมบูรณ์  (มาตรา 22)

Advertisement