การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2544

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

ข้อ 1  ก.  การตีความกฎหมายแพ่งมีความแตกต่างกับการตีความกฎหมายอาญาอย่างไร  จงอธิบาย

          ข  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

ธงคำตอบ

ก. การตีความกฎหมายแพ่งมีหลักเช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่งคือ  ต้องตีความตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมกันไป  โดยมีหลักในการตีความดังนี้

1  การตีความตามตัวอักษร  ต้องพิจารณาความหมายของตัวอักษรว่ามีความหมายอย่างไร  ถ้อยคำหรือคำศัพท์ของตัวอักษรนั้นเป็นศัพท์ธรรมดาหรือศัพท์ทางวิชาการ  เมื่อได้ความหมายของตัวอักษรแล้วจึงพิจารณาตีความตามเจตนารมณ์ประกอบต่อไป

 2 การตีความตามเจตนา  พิจารณาจาก

1       ที่มา  หรือประวัติความเป็นมาของกฎหมาย

2       ตำแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย

3       ถ้อยคำของกฎหมาย

4       สถานการณ์ในขณะที่บัญญัติกฎหมายนั้น  รวมทั้งรายงานการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ

ส่วนการตีความกฎหมายอาญานั้น  จะต้องตีความอย่างเคร่งครัด  คือจะต้องพิจารณาตามตัวอักษร  โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  2  บัญญัติว่า  บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญา  ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น  บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  ดังนั้น  การใช้กฎหมายอาญาจึงต้องพิจารณาจากตัวอักษรโดยไม่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด  ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  ก็จะเอาโทษทางอาญาและลงโทษบุคคลนั้นไม่ได้

ข  จงอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

ธงคำตอบ

ข้อแตกต่างระหว่างบุคคลสิทธิ์และทรัพย์สิทธิ์

1       ทรัพย์สิทธิ์มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน  ส่วนบุคคลสิทธิ์มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำการงดเว้นกระทำการหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้

2       ทรัพย์สิทธิ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย  ส่วนบุคคลสิทธิ์เกิดขึ้นโดยนิติกรรมและนิติเหตุ

3       ทรัพย์สิทธิ์ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อบุคคลทั่วไป  ส่วนบุคคลสิทธิ์ก่อให้เกิดหน้าที่ในการชำระหนี้เฉพาะลูกหนี้เท่านั้น

4       ทรัพย์สิทธิ์เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างถาวรไม่สิ้นสุดเพราะการไม่ใช้สิทธินั้น  ส่วนบุคคลสิทธิ์สิ้นไปเพราะไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาหรืออายุความ

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  15  ได้บัญญัติว่า  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก  และสิ้นสุดลงเมื่อตาย  จงอธิบายว่า  สิ้นสุดลงเมื่อตาย  ของบุคคลนั้นหมายความว่าอย่างไร  และมีได้ในกรณีใดบ้างมาโดยครบถ้วน

ธงคำตอบ

คำว่า  สิ้นสุดลงเมื่อตาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  15  ของ ป.พ.พ. นั้น  หมายความถึงการสิ้นสภาพของบุคคล  ซึ่งมีได้ 2 กรณีคือ

1       การตายโดยธรรมชาติ  (Death)

2       การสาบสูญ  (Disappearance)

การตายโดยธรรมชาติ  คือ  การสิ้นสภาพบุคคลเมื่อแกนสมองตาย  ในทางการแพทย์จะถือว่าบุคคลนั้นตายแล้ว

การสาบสูญ  คือ  การตายโดยผลของกฎหมาย  หรือการสิ้นสภาพบุคคลโดยผลของกฎหมายนั่นเอง  แม้ความจริงบุคคลนั้นอาจยังมีชีวิตอยู่  แต่ไม่มีใครพบเห็น  ไม่มีการส่งข่าวคราว  และเมื่อครบกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

กำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดมี  2  กรณีคือ  ในกรณีธรรมดา  5  ปี  และในกรณีพิเศษเวลาจะลดเหลือ  2  ปี  หากบุคคลนั้นหายไปในเหตุการณ์ดังนี้คือ

1       นับแต่เวลาที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง  ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงคราม

2       นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปางถูกทำลายหรือสูญหายไป  เช่น  เครื่องบินโดยสารตก

3       นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ในข้อ 1 และ 2 ผ่านพ้นไป  และบุคคลนั้นอยู่ในอันตรายดังกล่าว เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้  น้ำท่วม

เมื่อศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  บุคคลนั้นก็สิ้นสภาพบุคคลทันทีนับแต่วันที่ครบกำหนดข้างต้นนี้

 

ข้อ  3  มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะทำให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็น

1       ผู้เยาว์

2       คนเสมือนไร้ความสามารถ

3       คนไร้ความสามารถ

 ธงคำตอบ

1       ผู้เยาว์

ผู้เยาว์  คือ  บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ซึ่งผู้เยาว์อาจจะบรรลุนิติภาวะด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งคือ

ก.      การบรรลุนิติภาวะโดยอายุ  ซึ่ง ป.พ.พ.  มาตรา 19  บัญญัติว่า  บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งการนับอายุของบุคคลนั้นให้เริ่มนับแต่วันที่บุคคลนั้นเกิด  เช่น  ดำเกิดวันที่  10  มีนาคม  พ.ศ.2510  การนับอายุของดำให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่  10  มีนาคม  พ.ศ.2510 ดังนั้นดำจะมีอายุครบ  20  ปีบริบูรณ์  และจะบรรลุนิติภาวะในวันที่ 9  มีนาคม  พ.ศ. 2530  (เวลา 24.00น) เป็นต้น

ข.      การบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ตาม ป.พ.พ.มาตรา 20 ที่บัญญัติว่า  ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส  หากการสมรสได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 และในมาตรา  1448  บัญญัติว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  แต่ในกรณีที่มีเหตุสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้  ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรสได้นั้น  จะต้องเข้าเงื่อนไขอันใดอันหนึ่งต่อไปนี้  คือ–                    ชายและหญิงมีอายุครบ  17  ปีบริบูรณ์  ได้ทำการสมรสกันโดยจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย  และบิดามารดาหรือผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายให้ความยินยอมด้วยกับการสารสนั้น

–                    ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้น  อาจเป็นกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์  เช่น  ชายและหญิงมีอายุ  16 ปีเศษ ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากันจนหญิงตั้งครรภ์แล้ว  จะไม่ทำการสมรสกันไม่ได้  เพราะอายุไม่ครบเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด  ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งอนุญาตให้ทำการสมรสกันได้  เป็นต้น

2       คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ มาตรา 32

ก.      ต้องมีเหตุบกพร่อง  คือ  มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  หรือติดสุรายาเมา  หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น

ข.      บุคคลผู้นั้นไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้  หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เพราะเหตุบกพร่องนั้น

ค.      ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ  ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว  การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง  ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ง.       บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล  ได้แก่  บุพการี  (หมายถึง  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวด)  ผู้สืบสันดาน (หมายถึง  ลูก หลาน เหลน ลื่อ)  ผู้ปกครอง  ผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ

3       คนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ  มาตรา 28

ก.      เป็นคนวิกลจริต หมายถึง  เป็นบุคคลที่สมองพิการ  คือ  จิตไม่ปกติ  หรือบุคคลที่มีกิริยาอาการไม่ปกติเพราะสติวิปลาส  คือ ขาดความรำลึก  ขาดความรู้สึก  หรืออาจจะหมายความรวมถึงเจ็บป่วยที่มีกิริยาอาการผิดปกติจนถึงขนาดไม่มีความรู้สึกผิดชอบใดๆทั้งสิ้นด้วย  และกรณีที่จะถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้จะต้องเป็นอย่างมากและต้องเป็นประจำด้วย

ข.      ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  และเมื่อศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถผลของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มวันที่ศาลสั่ง  มิใช่เริ่มวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ค.      บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล  ได้แก่  บุพการี  (หมายถึง  บิดามารดา  ปู่ย่าตายาย  ทวด)  ผู้สืบสันดาน (หมายถึง  ลูก หลาน เหลน ลื่อ)  ผู้ปกครอง  ผู้พิทักษ์  ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่  หรือพนักงานอัยการ

Advertisement