การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์ทํางานบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด ซึ่งผลิตงานจักสานส่งออกไปยังต่างประเทศ นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์ทราบจากเพื่อนที่ทํางานบริษัทเดียวกันว่า ทางบริษัท ประสบปัญหาขาดทุนและคงไม่สามารถเปิดบริษัทได้ต่อไป มีโครงการจะปิดบริษัทเลิกจ้างพนักงาน ระหว่างที่นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์นั่งคุยกันด้วยความทุกข์ใจ เห็นนายเก่งกล้าซึ่งเป็น นักศึกษานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคําแหง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผ่านมาพอดีจึงขอปรึกษาหารือว่าถ้า บริษัทฯ เลิกจ้างจะเป็นอย่างไร โดยนายอุดมฤทธิ์ทํางานกับบริษัทฯ ดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปีส่วน นายนราทิพย์ทํางานมาเป็นเวลา 8 ปี นายเก่งกล้าจะให้คําแนะนํากับบุคคลทั้งสองในกรณีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและการที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด อย่างไร

ธงคําตอบ

นายเก่งกล้าจะต้องให้คําแนะนํากับบุคคลทั้งสอง ในกรณีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและ การไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัทไทยแลนด์ จํากัด ดังนี้ คือ

ค่าชดเชย เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้าง เป็นฝ่ายเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้กระทําความผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือเหตุอื่นใด และ หมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถที่จะดําเนินกิจการ ต่อไป ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกไปเอง ทิ้งงานไป หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย กรณีเช่นนี้ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย ไว้ดังนี้ คือ “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคํานวณเป็นหน่วย

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(4) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

กรณียกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไว้ว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันข้างานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคันหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอุดมฤทธิ์ทํางานกับบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด มาเป็นเวลา 15 ปี ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้างบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายอุดมฤทธิ์ลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 300 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดย คํานวณเป็นหน่วยตามาตรา 118 (5)

ส่วนนายนราทิพย์ เมื่อปรากฏว่านายนราทิพย์ทํางานกับบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด มาเป็นเวลา 8 ปี ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้าง บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายนราทิพย์ลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 240 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดย คํานวณเป็นหน่วยตามมาตรา 118 (4)

 

ข้อ 2. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายชาตรีและนายสมคิดเป็นลูกจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ได้ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท โดยเขียนข้อตกลงกันไว้ว่า “ถ้าทําการประเมินการทํางานไม่ผ่าน จะบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง 15 วันหรือจะเลิกจ้างทันทีโดยชําระเงินให้ 15 วันเท่านั้น” และ “ให้จ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างสองเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบหนึ่งปี และให้สามเท่าของ ค่าจ้างถ้าทํางานครบสองปี” ปรากฏว่าเมื่อนายชาตรีทํางานครบหนึ่งปีในวันที่ 31 มีนาคม นายจ้างทําการประเมินการทํางานไม่ผ่านจึงบอกเลิกสัญญาทันทีโดยจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคม ให้และอีก 7,500 บาทตามที่ได้ทําข้อตกลงกันไว้ และต่อมาเมื่อนายสมคิดทํางานครบสองปี นายจ้างมีปัญหาทางการเงินของบริษัทจึงจําเป็นต้องบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ทันทีในวันที่ 30 กันยายน และจ่ายค่าจ้างของเดือนกันยายนให้และอีก 7,500 บาท และ ค่าชดเชย 45,000 บาท ตามข้อตกลงที่ทําไว้เช่นนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้อง บอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดย บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน สามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่ง พระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่นายจ้างทําสัญญากับนายชาตรีกับนายสมคิด ลูกจ้างว่า “ถ้าทําการประเมินการทํางานไม่ผ่าน จะบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง 15 วัน หรือจะเลิกจ้างทันที โดยชําระเงินให้ 15 วันเท่านั้น” และ “ให้จ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างสองเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบหนึ่งปี และให้สามเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบสองปี” นั้น เป็นการทําข้อตกลงที่ขัดกับมาตรา 17 และมาตรา 118 ซึ่ง ถือว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น นายจ้างจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้

กรณีนายชาตรี เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา หากนายจ้าง ต้องการเลิกจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้าง ในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปตามมาตรา 17 วรรคสอง การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 31 มีนาคม โดยจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคมให้และอีก 7,500 บาท ตามที่ได้ทําข้อตกลงกันไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 มีนาคม นั้น ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลแห่งการเลิกสัญญาจะเป็นผล เมื่อถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวถัดไป คือวันที่ 30 เมษายน จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หรือนายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้นายชาตรีตามจํานวนที่ต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว คือ เดือนมีนาคม และเมษายน รวมเป็นเงิน 30,000 บาทและให้ นายชาตรีออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม

ส่วนของค่าชดเชย เมื่อปรากฏว่า นายชาตรีทํางานมาครบ 1 ปี แล้ว การที่นายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายชาตรีลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 45,000 บาท ตามาตรา 118 (2)

กรณีนายสมคิด เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา การที่ นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 30 กันยายน และจ่ายค่าจ้างของเดือนกันยายนให้และอีก 7,500 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างย่อมต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม เช่นกัน กล่าวคือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลแห่ง การบอกเลิกสัญญาจะเป็นผล เมื่อถึงกําหนดการจ่ายค่าล้างคราวถัดไป คือ วันที่ 31 ตุลาคม จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หรือนายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้นายสมคิดตามจํานวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว คือ เดือนกันยายน และตุลาคม รวมเป็นเงิน 30,000 บาท และให้นายสมคิดออกจากงานทันทีก็ได้

ส่วนของค่าชดเชย เมื่อปรากฏว่านายสมคิดทํางานมาครบ 2 ปีแล้ว การที่นายจ้างจ่าย ค่าชดเชยให้นายสมคิด 45,000 บาท จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและถูกต้องตามมาตรา 118 (2)

สรุป

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด เป็นไปตามที่ได้อธิบาย ไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. บุญทรงเป็นลูกจ้างบริษัท A.C.ก่อสร้าง จํากัด ตําแหน่งหัวหน้าคุมงานก่อสร้าง ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 22,000 บาท ขณะคุมงานก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น ได้มีอิฐบล็อกตกลงมาจากที่สูง ตกใส่ศีรษะของบุญทรง นายจ้างพาส่งโรงพยาบาล แพทย์แจ้งว่าบุญทรงได้รับความ กระทบกระเทือนทางสมองและเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ทําให้บุญทรงไม่สามารถทํางานได้ปีกว่า จึง ออกจากงานและรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพราะทุพพลภาพ บุญทรงมีชีวิตอยู่ได้ 3 ปีก็เสียชีวิต ดังนี้ บุญทรงและสมรคู่สมรสจะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไรให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 19 “ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (2) หรือ (3) และต่อมาลูกจ้าง ได้ถึงแก่ความตายในขณะที่ยังรับค่าทดแทนไม่ครบระยะเวลาตามสิทธิดังกล่าว ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ ตามมาตรา 20 ต่อไป จนครบกําหนดระยะเวลาตามสิทธิ์ แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนรวมกันต้องไม่เกินแปดปี”

มาตรา 20 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(2) สามีหรือภริยา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

บุญทรงและสมรคู่สมรสจะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของบุญทรง

การที่บุญทรงเป็นลูกจ้างของบริษัท A.Cก่อสร้าง จํากัด และขณะคุมงานก่อสร้างได้มีอิฐบล็อก ตกลงมาจากที่สูงใส่ศีรษะของบุญทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือว่าบุญทรงประสบอันตรายเนื่องจากการทํางาน ให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 บุญทรงจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทน ให้แก่บุญทรง ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลตามมาตรา 13 โดยนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตาม ความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง คือรวมแล้วไม่เกิน 110,000 บาท ในกรณีนี้ถือว่าบุญทรง ประสบอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 45,000 บาท และในกรณีรุนแรงอีกไม่เกิน 65,000 บาท

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานตามมาตรา 15 โดยนายจ้างต้องจ่ายตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงในกรณีนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการ ทํางานให้บุญทรงเป็นจํานวนไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูฯ อีกเป็น จํานวนไม่เกิน 20,000 บาท

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ตามมาตรา 18 (1) เมื่อบุญทรงไม่สามารถทํางาน ได้ปีกว่า ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่บุญทรงไม่สามารถทํางานได้ เมื่อบุญทรงได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาทร้อยละ 60 ของ 22,000 จึงเท่ากับ 13,200 บาท แต่มาตรา 18 วรรคสี่ กําหนดไว้ว่าค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) จะต้องไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนดซึ่งก็คือ 12,000 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายทดแทนให้บุญทรงเดือนละ 12,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น = 12,000 X 12 = 144,000 บาท (ไม่เกิน 1 ปี)

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพตามมาตรา 18 (3) เมื่อบุญทรงกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เมื่อบุญทรงได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 22,000 จึงเท่ากับ 13,200 บาท แต่มาตรา 18 วรรคสี่ กําหนดไว้ว่าค่าทดแทนตามมาตรา 18 (3) จะต้องไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด ซึ่งก็คือ 12,000 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในกรณีนี้เดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี

กรณีของสมร

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุญทรงมีชีวิตอยู่ได้ 3 ปี ก็เสียชีวิต โดยบุญทรงรับค่าทดแทนยังไม่ครบ ตามกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 18 (3) กรณีเช่นนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เหลืออยู่ให้แก่สมรภริยา ของบุญทรง โดยสมรจะได้รับค่าทดแทนเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาอีกเพียง 5 ปี ตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 20 (2) เพราะระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีนี้รวมกันต้องไม่เกิน 8 ปี

สรุป

บุญทรงจะได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังนี้

1 มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้นเป็นจํานวน 45,000 บาท และได้รับเพิ่มในกรณีบาดเจ็บรุนแรงอีกไม่เกิน 65,000 บาท

2 มีสิทธิได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานเป็นจํานวนไม่เกิน 40,000 บาท

3 มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เป็นจํานวน 144,000 บาท

4 มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี และหากว่าอีก 3 ปีต่อมาบุญทรงเสียชีวิต สมรภริยาของบุญทรง จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนต่อไปเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี

 

ข้อ 4. บริษัท C.D. ทอผ้าและไหมพรม จํากัด มีลูกจ้าง 300 คน ลูกจ้างของบริษัทฯ ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ จึงให้สหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอ ดําเนินการแจ้งข้อเรียกร้องให้ โดยดํารงซึ่งเป็นแกนนําในการเรียกร้องทราบว่ามีลูกจ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อยู่ 80 คน ดังนี้ให้อธิบายว่าสหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอจะแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ลูกจ้าง บริษัท C.D.สิ่งทอ จํากัด ได้หรือไม่ และหากมีการตรวจสอบภายหลังจากมีการแจ้งข้อเรียกร้อง แล้วทราบว่าจํานวนสมาชิกของลูกจ้างในสหภาพแรงงานไม่เป็นตามที่กฎหมายกําหนด จะมีผลต่อข้อเรียกร้องอย่างไร ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 13 วรรคแรก “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการ แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ”

มาตรา 15 “สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานอาจแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ต่ออีก ฝ่ายหนึ่งแทนนายจ้างหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ จํานวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจํานวนลูกจ้างทั้งหมด…”

วินิจฉัย

โดยหลักการที่ลูกจ้างบริษัท C.D.ทอผ้าและไหมพรม จํากัด ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับ ขึ้นค่าจ้าง และสวัสดิการจึงให้สภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอ ดําเนินการแจ้งข้อเรียกร้องให้นั้นตามมาตรา 15 ได้ กําหนดไว้ว่าสหภาพแรงงานสามารถแจ้งข้อเรียกร้องได้ตามมาตรา 13 แต่ต้องมีจํานวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของลูกจ้างทั้งหมด

ตามอุทาหรณ์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างของบริษัทฯ จํานวน 300 คน เป็นสมาชิกสภาพแรงงาน อยู่ถึง 80 คน ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด ดังนั้นสหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอจึงสามารถแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ลูกจ้างบริษัท C.D.สิ่งทอ จํากัด ได้

อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบภายหลังจากมีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้วทราบว่าจํานวนสมาชิก ของลูกจ้างในสหภาพแรงงานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด ย่อมมีผลทําให้ข้อเรียกร้องนั้นไม่สมบูรณ์

Advertisement