การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3016 กฎหมายปกครอง 

(สำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก.      ข้อใดต่อไปนี้มิใช่  กฎ  (ตอบผิดจะไม่ได้คะแนนเลยเพราะเป็นสาระสำคัญ)

1       พระราชกฤษฎีกาการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

2       ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539

3       พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539

4       ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด

5       เทศบัญญัติเทศบาลเมืองวารินชำราบ

6       ประมวลกฎหมายอาญา

7       ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง

8       คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติงานในวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่

9       กฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตสร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำ

10  คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

11  ข้อบัญญัติตำบลนายืน

12  ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

ธงคำตอบ

คำว่า  กฎ  หมายความว่า  พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง  ประกาศกระทรวง  ข้อบัญญัติท้องถิ่น  ระเบียบ  ข้อบังคับ  หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป  โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ

ดังนั้นจากคำถามเมื่อพิจารณาประกอบกับความหมายของคำว่า  กฎ  ดังกล่าว  ข้อที่มิใช่กฎ  ได้แก่

3       พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  พ.ศ. 2539  

6       ประมวลกฎหมายอาญา

7       ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง

8       คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติงานในวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่

10  คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

ข  จงอธิบายว่ามีใครบ้างเป็นผู้ใช้กฎหมายปกครอง

1       ผู้ใช้กฎหมายปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

1)    หน่วยงานทางปกครอง  เช่น

(1) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนกลาง  ได้แก่  กระทรวง  ทบวง  กรม

(2) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนภูมิภาค  ได้แก่  จังหวัด  อำเภอ

(3) หน่วยงานการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ได้แก่  องค์การบริหารส่วนตำบล  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  กรุงเทพมหานคร  และเมืองพัทยา

(4) รัฐวิสาหกิจ  ได้แก่  การไฟฟ้านครหลวง  การประปานครหลวง  ธนาคารออมสิน  การท่าเรือแห่งประเทศไทย  การรถไฟแห่งประเทศไทย

(5) หน่วยงานอื่นๆ  ของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง

(6) หน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับให้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย  ได้แก่  สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ  แพทยสภา  เป็นต้น

2)    เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  รวมถึงคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย  เช่น  ข้าราชการพนักงาน  เจ้าหน้าที่  รวมถึงคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย

 

ข้อ  2  องค์การบริหารส่วนตำบลได้สร้างถนนเข้าหมู่บ้านระยะทาง  800  เมตร  ต่อมานายสมชายฯ  ได้แจ้งกับองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  2550  ว่าส่วนหนึ่งของถนนได้รุกล้ำเข้าไปในที่ของตนเป็นเนื้อที่  25  ตารางวา

และการสร้างถนนดังกล่าวทำให้ตัวบ้านของตนทรุดและแตกร้าวคิดค่าเสียหาย  300,000  บาท  องค์การบริหารส่วนตำบลได้ตอบนายสมชายฯ  ไปเมื่อวันที่  15  มีนาคม  2550  ว่าที่ดินที่ทำถนนทั้งหมดนั้นเป็นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล  ส่วนบ้านที่ชำรุดเสียหายนั้นได้ให้วิศวกรไปตรวจสอบค่าเสียหายแล้ว  องค์การ

บริหารส่วนตำบลชดใช้ค่าบ้านชำรุดและเสียหายได้เพียง  100,000  บาท  วันที่  21  กุมภาพันธ์  2551  นายสมชายฯ  มาหาท่าน  ท่านจะแนะนำในกรณีดังกล่าวอย่างไร  จงอธิบายและยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน 

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  9  วรรคแรก  (1)  (2)  และ  (3)  บัญญัติว่า  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน  หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริต  หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น  หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

(2) คดี พิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า เกินสมควร

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  หรือจากกฎคำสั่งทางปกครอง  หรือคำสั่งอื่น  หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

และมาตรา  42  วรรค  2  บัญญัติว่า 

ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ   การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

วินิจฉัย

ข้อพิพาทระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล  กับนายสมชาย  มีอยู่  2  ประเด็น  ได้แก่

ประเด็นที่  1  นายสมชายอ้างว่าที่ดินที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้สร้างถนนเข้าหมู่บ้านนั้นมีที่ดินจำนวนเนื้อที่  25  ตารางวาเป้นของตน  แต่องค์การบริหารส่วนตำบลก็อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบล  ประเด็นพิพาทที่เกิดขึ้น  จึงเป็นเรื่องของการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่  25  ตารางวานั้นว่าเป็นของใคร  คดีพิพาทดังกล่าว

จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องของกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่ใช่คดีพิพาทตามมาตรา  9  (1)  (2)  และ  (3)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  ดังนั้นคดีพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษา  จึงต้องนำคดีดังกล่าวไปฟ้องศาลยุติธรรมคือศาลแพ่ง  จะฟ้องศาลปกครองไม่ได้

ประเด็นที่  2  การที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้สร้างถนนเข้าหมู่บ้าน  และการสร้างถนนดังกล่าวทำให้ตัวบ้านของนายสมชายทรุดและแตกร้าวนั้น  การกระทำดังกล่าวขอองค์การบริหารส่วนตำบล  ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายขององค์การบริหารส่วนตำบลตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นตามมาตรา  9  (3)  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ  จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง  ดังนั้นจึงต้องนำคดีพิพาทดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองภายในอายุความ  1  ปี

แต่เนื่องจากนายสมชายได้เรียกร้องให้องค์การบริหารส่วนตำบลชดใช้ค่าเสียหาย  300,000  บาท  แต่องค์การบริหารส่วนตำบลตอบกลับมาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายได้เพียง  100,000  บาท  ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายขององค์การบริหารส่วนตำบลดังกล่าวถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

ดังนั้นถ้านายสมชายไม่พอใจกับค่าเสียหายที่องค์การบริหารส่วนตำบลชดใช้ให้  นายสมชายจะต้องปฏิบัติตามมาตรา  42  วรรค  2  ก่อน  คือ  จะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นก่อนที่จะนำคดีพาทนั้นไปฟ้องศาลปกครอง

สรุป  เมื่อนายสมชายมาหาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะแนะนำกรณีดังกล่าวแก่นายสมชาย  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  จงอธิบายว่าประเทศไทยนำหลักการรวมอำนาจปกครอง  (Centralization)  มาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักการรวมอำนาจปกครอง  เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการ  โดยการมอบอำนาจปกครองให้แก่ราชการบริหารส่วนกลาง  และมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลางเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งหลักการรวมอำนาจปกครองนี้จะแบ่งออกเป็น  2  รูปแบบ  คือ  การรวมศูนย์อำนาจปกครอง  และการกระจายการรวมศูนย์อำนาจปกครองหรือการแบ่งอำนาจปกครอง

1       การรวมศูนย์อำนาจปกครอง  คือ  การรวมอำนาจวินิจฉัยสั่งการทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางหรือส่วนกลาง  และต้องมีระบบการบังคับบัญชาที่เคร่งครัด  มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ  คือ  กำลังทหาร  และกำลังตำรวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง  และมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่

2       การแบ่งอำนาจปกครองหรือการกระจายการรวมศูนย์อำนาจปกครอง  เป็นรูปแบบที่อ่อนตัวลงมาของการรวมศูนย์อำนาจปกครอง  โดย การมอบอำนาจในการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยสั่งการบางอย่างให้แก่องค์กรหรือ เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง  โอยองค์กรหรือเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของส่วนกลาง

ประเทศไทยได้นำแนวคิดเรื่องหลักการรวมอำนาจมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินคือ  การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางจะใช้หลักการรวมศูนย์อำนาจปกครอง  และการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคใช้หลักการกระจายการรวมศูนย์อำนาจหรือหลักการแบ่งอำนาจปกครอง

 

ข้อ  4  แดงทำหนังสือร้องเรียนต่อกรมที่ดินว่าตนเองถูกขาว ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินเรียกรับเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้ตนเองได้เอกสาร สิทธิ์ในที่ดิน  กรมที่ดินจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขาว  ปรากฏว่าคณะกรรมการได้รายงานผลสอบข้อเท็จจริงต่อกรมที่ดินว่า  ไม่ปรากฏว่าขาวได้เรียกร้องรับเงินจากแดง

และไม่มีการออกเอกสารสิทธิ์ใดๆ  แก่แดง  กรมที่ดินจึงนำผลรายงานดังกล่าวแจ้งให้กับแดงทราบ  แดงเห็นว่ากระบวนพิจารณาสอบข้อเท็จจริงไม่ชอบเพราะคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เปิดโอกาสให้ตนเองโต้แย้งพยานหลักฐานใดๆ  ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  30  จึงทำให้ผลรายงานการสอบข้อเจจริงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนี้  ท่านคิดว่าความเห็นของแดงถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มีหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  ที่เกี่ยวข้องดังนี้

คำว่า  คู่กรณี  หมายความว่าผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ  ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง  และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง  เนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง

และมาตรา  30  วรรคแรก  ได้บัญญัติหลักไว้ว่า

ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี  เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน

จากหลักกฎหมายดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  การที่เจ้าหน้าที่จะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการพิจารณาทางปกครอง  คือการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง  และคำสั่งทางปกครองนั้นอาจจะกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเท่านั้น

วินิจฉัย

การที่กรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขาวตามที่แดงได้ทำหนังสือร้องเรียนนั้น  เป็นเพียงการดำเนินการภายในของกรมที่ดินเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือร้องเรียนของแดงเท่านั้น  มิใช่เป็นการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองเหมือนเช่นการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเพื่อจัดให้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด  อีกทั้งแดงก็มิใช่คู่กรณีตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้นการดำเนินการของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง  จึงไม่จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้แดงได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแต่อย่างใด

สรุป  ความเห็นของแดงที่ว่ากระบวนการพิจารณาสอบข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นจึงไม่ถูกต้อง  ตามมาตรา  30  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

Advertisement