การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3016 (LA316) (LW318) กฎหมายปกครอง 

Advertisement

(สำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)  

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  จงอธิบายอย่างละเอียดว่า  กฎหมายปกครอง  มีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินทั้งส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่นอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กฎหมายปกครอง  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ซึ่งอำนาจและหน้าที่ในทางปกครองนั้นได้แก่อำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นกิจการของฝ่ายปกครอง

รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองต่างๆ  เช่น  การออกกฎ  การออกคำสั่งทางปกครอง  หรือการทำสัญญาทางปกครอง  เป็นต้น

และการบริหารราชการแผ่นดิน  ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่น  ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม  และการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อออกกฎ  ออกคำสั่งทางปกครอง  รวมทั้งการทำสัญญาทางปกครองทั้งสิ้น  เช่น  ตาม  พ.ร.บ.  ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  พ.ศ. 2534  ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการออกกฎระเบียบ  หรือข้อบังคับต่างๆได้

หรือตาม  พ.ร.บ.   เทศบาล  ได้บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่เทศบาลซึ่งเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ถ้าไม่มีกฎหมายปกครองบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่นายกรัฐมนตรีหรือเทศบาลแล้ว  นายกรัฐมนตรีหรือเทศบาลก็ย่อมไม่มีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวได้เลย

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า  กฎหมายปกครองมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดินทั้งส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  และส่วนท้องถิ่น  ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

ข้อ  2  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง”  หมายความว่าอย่างไร  มีความสำคัญกับกฎหมายปกครองอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  หมายความว่า  การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่  เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง  หรือกฎและรวมถึงการดำเนินการใดๆ  ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้  (พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  5)

และ  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  มีความสำคัญกับกฎหมายปกครอง  ทั้งนี้เพราะ

กฎหมายปกครอง  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ซึ่งอำนาจหน้าที่ในทางปกครองนั้น  ก็คือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งทางปกครอง  ออกกฎ  หรือการกระทำทางปกครองในรูปแบบอื่น  ได้แก่  ปฏิบัติการทางปกครองรวมถึงการทำสัญญาทางปกครอง  นั่นเอง

ซึ่งการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าว  โดยเฉพาะที่สำคัญคือการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะออกคำสั่งทางปกครอง  หรือกฎนั้น  ถ้าจะให้คำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ออกมานั้น

เป็นคำสั่งทางปกครองหรือกฎที่ชอบด้วยกฎหมาย  เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎนั้น  จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดไว้  เช่น  ตามมาตรา  13  ในการพิจารณาทางปกครอง  เจ้าหน้าที่ผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนมีอำนาจพิจารณาทางปกครอง

จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้  หรือตามมาตรา  30  ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี  เจ้าหน้าที่ต้องให้โอกาสคู่กรณีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ  และให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการใช้ อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน ที่กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดไว้แล้ว  ก็จะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งจะทำให้เกิดข้อพิพาททางปกครองขึ้นได้


ข้อ  3  หลักกระจายศูนย์รวมอำนาจปกครอง  หรือหลักการแบ่งอำนาจปกครอง  มีสาระสำคัญอย่างไร  การจัดระเบียบอำนาจปกครองโดยวิธีดังกล่าวเป็นประโยชน์หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยหรือไม่  จงอธิบายธงคำตอบ

หลักกระจายศูนย์รวมอำนาจปกครองหรือหลักการแบ่งอำนาจปกครอง  เป็นหลักในการจัดระเบียบบริหารราชการที่ราชการบริหารส่วนกลางได้มอบ อำนาจในการวินิจฉัยสั่งการบางส่วนให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ส่งไป ประจำเพื่อปฏิบัติราชการตามเขตภูมิภาคหรือเขตการปกครองต่างๆ  ของประเทศ  โดยเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาจากส่วนกลางโดยตรง

สาระสำคัญของหลักการแบ่งอำนาจปกครอง

1       ต้องมีราชการบริหารส่วนกลาง  เพราะราชการบริหารส่วนกลางเป็นเจ้าของอำนาจและจะเป็นผู้จัดแบ่งอำนาจของตนไปให้แก่ส่วนภูมิภาค

2       ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของส่วนกลาง  โดยส่วนกลางจะเป็นผู้แต่งตั้งและจัดส่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นไปประจำอยู่ตามเขตการปกครองในส่วนต่างๆของประเทศ  เช่น  ไปประจำอยู่ตามจังหวัด  และอำเภอต่างๆเป็นต้น  และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของส่วนกลาง

3       ส่วน กลางจะแบ่งอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งไปประจำอยู่ในส่วนภูมิภาคเพื่อไป ดำเนินการเฉพาะบางเรื่องหรือบางขั้นตอนในขอบเขตที่ส่วนกลางกำหนด  ซึ่งจะแบ่งอำนาจให้มากน้อยขึ้นอยู่กับส่วนกลางโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

การจัดระเบียบอำนาจปกครองโดยวิธีดังกล่าวนั้น  จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่ยังขาดสำนึกหรือยังหย่อนความสามารถในการที่จะปกครองตนเอง เพราะการแบ่งอำนาจปกครองเป็นการฝึกฝนให้แก่ประชาชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปกครองตนเอง  ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การกระจายอำนาจปกครอง  จึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ดี  การจัดระเบียบอำนาจปกครองโดยวิธีดังกล่าว  ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน  เพราะการที่ส่วนกลางได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปบริหารงานในแต่ละท้องที่นั้น  แสดงให้เห็นว่าส่วนกลางยังไม่เชื่อมั่นในความสามารถของประชาชนในการปกครองตนเอง  และประชาชนในแต่ละท้องถิ่นก็จะมองว่าการบริหารงานของส่วนภูมิภาคยังเป็นของส่วนกลางไม่เกี่ยวกับตน  ดังนั้นการพัฒนาการเรียนรู้การปกครองตนเองก็อาจไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น  การจัดระเบียบอำนาจปกครองโดยวิธีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์หรืออุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย  จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชาชนเป็นสำคัญ

 

ข้อ  4  นายกเทศมนตรีตำบลนาดีอาศัยอำนาจตามกฎหมายควบคุมอาคาร  มีหนังสือถึงนายโชค  ความว่าห้ามนายโชคเข้าใช้อาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม  โดยให้เหตุผลว่าร้านขายอาหารและเครื่องดื่มของนายโชคเปิดตลอด  24  ชั่วโมง

และส่งเสียงดังเป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง  ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดย ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าตัวอาคารพาณิชย์ของนาย โชคนั้นมีสภาพที่อาจเป็นภยันตรายตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายควบคุมอาคารแต่อย่างใด

ดังนี้หนังสือที่ห้ามนายโชคเข้าใช้อาคารพาณิชย์ดังกล่าวถูกต้องตามรูปแบบตามที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  37  หรือไม่  และหนังสือดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  37  วรรคแรก  บัญญัติว่า

คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย  และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  หมายความว่า  เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งทางปกครองและเป็นคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือ  เจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ในคำสั่งทางปกครองนั้นด้วย  และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ  ข้อกฎหมายที่อ้างอิง  และข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

วินิจฉัย

การที่นายกเทศมนตรีตำบลนาดีได้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือห้ามนายโชคเข้าใช้อาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม  โดยให้เหตุผลว่าร้านขายอาหารและเครื่องดื่มของนายโชคเปิดตลอด  24  ชั่วโมง  และส่งเสียงดังเป็นที่น่ารำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงนั้น  เหตุผล ที่นายกเทศมนตรีตำบลนาดีได้ให้ไว้ในคำสั่งห้ามใช้อาคารไม่มีข้อเท็จจริงอัน เป็นสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอาคารดังกล่าวมีสภาพที่อาจเป็นอันตราย

รวมทั้งไม่มีข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด  คำสั่งทางปกครองดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการปกครองฯ  มาตรา  37  วรรคแรก

สรุป  หนังสือห้ามนายโชคเข้าใช้อาคารพาณิชย์ดังกล่าว  เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement