การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

 ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3016 กฎหมายปกครอง  (สำหรับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์)

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  นายบดี  บ้านด่าน  ถูกเวนคืนที่ดินและคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนได้มีหนังสือแจ้งให้นายบดีไปรับเงินค่าเวนคืนเป็นเงินหนึ่งล้านบาท  นายบดี  ไม่พอใจกับจำนวนเงินดังกล่าวเนื่องจากที่ดินของตนที่ถูกเวนคืน  ควรจะได้ค่าเวนคืนไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท  ดังนี้  หากนายบดี  มาปรึกษาท่าน  ท่านจะแนะนำอย่างไร

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  9  วรรคแรก  (1)  (2) บัญญัติว่า  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วย

กฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  คำสั่งหรือการกระทำอื่นใด  เนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่  หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน  หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม  หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น  หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร  หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

และมาตรา  42  วรรคสอง  บัญญัติว่า

ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ  การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว  และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้น  หรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด

วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงตามปัญหาดังกล่าว  ถ้านายบดี  บ้านด่าน  มาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำตามขั้นตอน  ดังนี้  คือ

1       การที่คณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืน  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีหนังสือแจ้งให้นายบดีไปรับเงินค่าเวนคืนนั้น  ถือว่าหนังสือแจ้งค่าเวนคืนดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครอง  เพราะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล  และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล

2       กรณีพิพาทที่เกิดขึ้น  เนื่องจากนายบดี  ไม่พอใจกับจำนวนเงินค่าเวนคืนที่คณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนกำหนด  คือจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท  เพราะที่ดินของนายบดี  ที่ถูกเวนคืนควรจะได้ค่าเวนคืนไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาทนั้น  ถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  คือได้ออกคำสั่งโดยการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ  คือการกำหนดจำนวนเงินค่าเวนคืนต่ำกว่าความเป็นจริง  คดีพิพาทดังกล่าวจึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตาม  มาตรา  9  วรรคแรก  (1)  ซึ่งนายบดี สามารถที่จะนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้

3       แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อคดีพิพาทดังกล่าว  เป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นก่อนที่นายบดี  จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  นายบดีจะต้องปฏิบัติตามมาตรา  42  วรรคสองก่อน  คือจะต้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนผู้ออกคำสั่ง  ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งนั้น  ถ้านายบดี  ไม่อุทธรณ์คำสั่งนั้น  ก็ไม่สามารถที่จะนำคดีไปฟ้องศาลปกครองได้

4       ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว  เมื่อพ้นกำหนด  60  วัน  ยังไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์  ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ  คือคณะกรรมการพิจารณาค่าเวนคืนปฏิบัติหน้าที่คือพิจารณาค่าเวนคืนล่าช้าเกินสมควร  ดังนี้ผู้อุทธรณ์คือนายบดี  สามารถนำคดีพิพาทดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองได้ภายในกำหนด  1  ปี

 

ข้อ  2  โรงงานน้ำตาลมั่วกี่ได้ปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำสาธารณะ  เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบตามกฎหมายได้ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย  แม้จะมีประชาชนร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ตาม  จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค  เกิดโรคผิวหนังผื่นคันซึ่งแพทย์ระบุว่าเกิดจากน้ำเป็นพิษ  ประชากรเสียค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคผิวหนังดังกล่าวติดต่อกันมารวมเป็นเงินคนละหลายหมื่นบาท

ถ้าท่านเป็นชาวบ้านจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  พ.ศ. 2542  มาตรา  9  วรรคแรก  (2)  และ  (3)  บัญญัติว่า  ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด  หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  หรือจากกฎ  คำสั่งทางปกครอง  หรือคำสั่งอื่น  หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

วินิจฉัย

การที่โรงงานน้ำตาลมั่วกี่ได้ปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำสาธารณะ  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบตามกฎหมายได้ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย  แม้จะมีประชาชนร้องเรียนหลายครั้งแล้วก็ตาม  ถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายได้ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ  ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา 9  วรรคแรก  (2)

และเมื่อการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน  คือทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคเกิดโรคผิวหนัง  และต้องเสียค่ารักษาพยาบาล  ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดทางปกครอง  ตาม  พ.ร.บ.  จัดตั้งศาลปกครองฯ  มาตรา  9  วรรคแรก  (3)

ดังนั้นคดีพิพาทดังกล่าว  ถือว่าเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง  ถ้าข้าพเจ้าเป็นชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว  ก็จะนำคดีไปฟ้องศาลปกครอง  โดย ฟ้องหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัดอยู่เพื่อให้ศาล ปกครองสั่งให้หน่วยงานทางปกครองนั้นใช้เงินค่าเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้ รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว

 

ข้อ  3  จงอธิบายเหตุผลของการที่ราชการบริหารส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคใช้ อำนาจกำกับดูแลกับราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแทนที่จะใช้อำนาจบังคับบัญชาว่า เป็นเพราะเหตุใด  รวมถึงอธิบายลักษณะของอำนาจบังคับบัญชาและอำนาจกำกับดูแลตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

อำนาจบังคับบัญชา  เป็นอำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถที่จะสั่งการใดๆ  ก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม  สามารถที่จะกลับ  แก้ไข  ยกเลิก  เพิกถอน  คำสั่งหรือการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ

เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น  แต่อย่างไรก็ตาม  การใช้อำนาจบังคับบัญชานั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมายด้วย  จะใช้อำนาจบังคับบัญชาที่ขัดต่อกฎหมายไม่ได้แม้ว่าจะได้ใช้ไปในทางที่เหมาะสมก็ตาม

อำนาจกำกับดูแล  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับองค์กรภายใต้ควบคุมกำกับซึ่งเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข  คือองค์กรควบคุมกำกับจะใช้อำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้และการใช้อำนาจนั้นต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด

องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้ควบคุมกำกับปฏิบัติการตามที่ตนเห็นสมควร

เหตุผลที่มีการบัญญัติให้อำนาจบังคับบัญชาต่างกับการบังคับบัญชาเพราะว่า  หลักการกระจายอำนาจเป็นการฝึกให้ประชาชนในท้องถิ่นตัดสินใจด้วยตนเอง  มีการปกครองด้วยตนเอง  การใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือราชการบริหารส่วนท้องถิ่นจึงเท่ากับทำลายระบบกระจายอำนาจในการให้ประชาชนปกครองตนเอง  ดังนั้น  การใช้อำนาจควบคุมกำกับดูแลควรจะอยู่ในขอบเขต

โดยพิจารณาแต่เพียงว่าท้องถิ่นทำกิจการในขอบอำนาจของตนหรือไม่  ละเมิดกฎหมายหรือไม่  รวมถึงควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองของท้องถิ่นเท่านั้น  ไม่สามารถควบคุมดุลพินิจได้  เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้

 

ข้อ  4  ขาวตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ  เป็นกรรมการพิจารณาผู้เข้ารับการประมูลติดตั้งระบบไฟฟ้าของอาคารสำนักงานของหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัด  ปรากฏว่าแดงซึ่งเป็นอดีตสามีของขาวและมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการบริษัท ได้ยื่นซองประมูลเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าของอาคารสำนักงานดังกล่าวด้วย

แดงเกรงว่าขาวจะพิจารณาเรื่องของตนไม่เป็นกลางเพราะตนเองทำร้ายจิตใจของขาวไว้อย่างมาก  ในขณะที่ขาวเองไม่ได้ติดใจและคิดอาฆาตแค้นกับแดงแต่อย่างใด  ดังนี้  ให้ท่านพิจารณาว่าขาวเป็นเจ้าหน้าที่ที่สามารถพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539  มาตรา  13  บัญญัติว่า

เจ้าหน้าที่ดังต่อนี้  จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

(1) เป็นคู่กรณีเอง

(2) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี

(3) เป็นญาติของคู่กรณี  คือ  เป็นบุพการี  หรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ  หรือเป็นพี่น้อง  หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม  หรือผู้พิทักษ์  หรือผู้แทน  หรือตัวแทน  ของคู่กรณี

(5) เป็นเจ้าหนี้  หรือลูกหนี้  หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี

(6) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

และมาตรา  16  บัญญัติว่า

ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  13  เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง  เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้

วินิจฉัย

การที่ขาวซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ  จะเป็นกรรมการพิจารณาผู้เข้ารับการประมูลติดตั้งระบบไฟฟ้าของอาคาร  โดยมีแดงซึ่งเป็นอดีตสามีของขาวได้ยื่นซองประมูลเพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าของอาคารดังกล่าวด้วยนั้น  ถือว่าขาวสามารถที่จะเป็นกรรมการที่จะทำการพิจารณากรณีดังกล่าวได้  เพราะไม่ต้องห้ามตาม  พ.ร.บ.  วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ  มาตรา  13(2)  ที่ได้บัญญัติห้ามไว้เฉพาะกรณีที่เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณีเท่านั้น  ไม่รวมถึงอดีตสามีหรืออดีตภรรยาที่การสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าแม้แดงจะเคยทำร้ายจิตใจของขาว  แต่ขาวไม่ได้ติดใจและคิดอาฆาตแค้นแดงแต่อย่างใด  และการพิจารณาทางปกครองดังกล่าวก็เป็นเพียงการพิจารณาผู้เข้ารับการประมูลติดตั้งระบบไฟฟ้าของอาคารสำนักงานของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น  ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่จะกระทบต่อความไม่เป็นกลางในการพิจารณาทางปกครอง  ตามมาตรา  16  เป็นเพียงกรณีที่แดงหวาดระแวงไปเอง

สรุป  ขาวเป็นเจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาทางปกครองได้  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  13  และ  16  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  พ.ศ. 2539

Advertisement