การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแดงมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงขาวอายุ 14 ปีเศษ ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายดําที่มีอายุ 22 ปีเศษแล้ว ฐานข่มขืนกระทําชําเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ตามคําฟ้องนั้นระบุด้วยว่าเด็กหญิงขาวผู้เยาว์โดยนายแดงบิดาผู้ปกครองผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโจทก์ แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าเด็กหญิงขาวเป็นบุตรของโจทก์อันเกิดจากนางเขียว ภริยาของโจทก์ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายและนางเขียวได้หนีออกจากบ้านตั้งแต่ เด็กหญิงขาวยังเล็กอยู่ โดยนายแดงเป็นผู้ให้อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และให้เด็กหญิงขาวใช้ นามสกุลมาตลอด ศาลเห็นว่า คดีของโจทก์มีมูลจึงให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาจนเสร็จคดี และก่อนที่ศาลชั้นต้น จะพิพากษาได้สั่งแต่งตั้งให้นายแดงเป็นผู้แทนเฉพาะคดีด้วย เช่นนี้ นายแดงจะมีอํานาจเป็นโจทก์ ฟ้องคดีนี้แทนเด็กหญิงขาวดังกล่าวหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล”

มาตรา 6 “ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทําการตามหน้าที่ โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์ เกี่ยวข้องอาจร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้

เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่นซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควร เป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน

ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เด็กหญิงขาวอายุ 14 ปีเศษ ถือว่าเป็นผู้เยาว์ เมื่อถูกข่มขืนกระทําชําเรา จึงไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้เอง ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้จัดการฟ้องคดีแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(1) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านางเขียวซึ่งเป็นมารดาและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงขาวได้หนีออกจาก บ้านไปตั้งแต่เด็กหญิงขาวยังเล็กอยู่ จึงถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถจะทําการตามหน้าที่ได้โดยเหตุใด เหตุหนึ่ง จึงจําเป็นต้องตั้งผู้แทนเฉพาะคดีขึ้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 6 เพื่อดําเนินคดีแทนต่อไป

ซึ่งการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีนั้น โดยหลักตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 6 จะต้องมีผู้ร้องขอต่อศาล แต่ในทางปฏิบัติศาลจะตั้งให้เองก็ได้ (ฎีกาที่ 617/2492) และในคดีนี้เมื่อปรากฏว่า ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็น ข้อเท็จจริงเช่นนั้นยังประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จึงถือโดยปริยายว่าศาลได้ตั้งให้นายแดงเป็นผู้แทนเฉพาะคดีแล้ว

และข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าก่อนศาลพิพากษายังตั้งให้นายแดงเป็นผู้แทนเฉพาะคดีด้วย เช่นนี้ นายแดงจึงมีอํานาจ เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้แทนเด็กหญิงขาวได้ (ฎีกาที่ 2958/2541)

สรุป

นายแดงมีอํานาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้แทนเด็กหญิงขาวได้

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 นายเอกพร้อมนางเบญจภริยาเข้าไปล่าสัตว์ในป่าบริเวณรอยต่อระหว่างอําเภอบัวใหญ่และอําเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่ล่าสัตว์อยู่โดยไม่แน่ชัดว่าอยู่ บริเวณใด นายโทและนายตรีได้ร่วมกันใช้ปืนยิงนายเอกถึงแก่ความตาย พันตํารวจโทจัตวาซึ่งเป็น สารวัตรสืบสวนสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ จึงตามจับตัวนายโทและนายตรี แต่จับได้เฉพาะนายโทในท้องที่อําเภอแก้งสนามนาง แล้วพันตํารวจโทจัตวานําตัวนายโทส่งให้แก่ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่ดําเนินคดีในวันเดียวกันนางเบญจภริยานายเอกจึงเข้า ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่ให้ดําเนินคดีกับนายโทและนายตรี หลังจากนั้น อีกหนึ่งเดือนนายตรีได้เข้ารับมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนาง พนักงาน สอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนางจึงได้รับตัวไว้ทําการสอบสวน ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบที่มีอํานาจทําการสอบสวน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทําผิดอาญาได้กระทําในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่

พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอํานาจ

(ข) ถ้าจับตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทําผิดก่อนอยู่ในเขตอํานาจ”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโทและนายตรีร่วมกันใช้ปืนยิงนายเอกถึงแก่ความตาย โดยที่ ข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าเหตุเกิดขึ้นในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอําเภอบัวใหญ่กับอําเภอแก้งสนามนางนั้น ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ก) ได้กําหนดให้พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอํานาจ เป็นพนักงานสอบสวน ที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน ดังนั้น เมื่อนายโทถูกจับกุมที่อําเภอแก้งสนามนาง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในคดีนี้จึงได้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรอําเภอแก้งสนามนาง ซึ่งมีอํานาจที่จะสรุปสํานวนและทํา ความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง

แม้นางเบญจภริยาของนายเอกจะเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่ ให้ดําเนินคดีกับนายโทและนายตรี แต่ก็เป็นการร้องทุกข์ในภายหลังที่เจ้าพนักงานตํารวจจับนายโทได้แล้ว กรณีจึงมิใช่ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่ก่อนที่จะจับนายโทได้ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธร บัวใหญ่จึงไม่ใช่พนัางานสอบสวนท้องที่ที่พบการกระทําผิดก่อนอยู่ในเขตอําเภอ อันจะทําให้เป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบการสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) แต่อย่างใด

เมื่อพนักงานสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จึงถือได้ว่ามีการ สอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 (ฎีกาที่ 3466/2547) พนักงานสถานีตํารวจภูธรบัวใหญ่จึง ต้องโอนสํานวนและตัวผู้ต้องหาคือนายโทไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนาง ดําเนินการสอบสวน ต่อไป

ส่วนการที่นายตรีได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนาง และ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนางได้รับตัวนายตรีไว้ทําการสอบสวนนั้น ถือว่าชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับตัวผู้ต้องหาได้และอยู่ในเขตอํานาจ

สรุป

คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรแก้งสนามนางเป็นพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบที่มีอํานาจทําการสอบสวนทั้งกรณีของนายโทและนายตรี

 

ข้อ 3. นายดําถูกจับและถูกขังในห้องขังของสถานีตํารวจภูธรช้างคลาน ในข้อหามียาเสพติดไว้ในความครอบครองโดยผิดกฎหมาย แต่ปรากฏว่ารุ่งเช้านายดํานอนเสียชีวิตในห้องขัง แพทย์ประจํา โรงพยาบาลช้างคลานและพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรช้างคลานร่วมกันชันสูตรพลิกศพ พบว่า นายดําถูกวางยาพิษจนถึงแก่ความตายและได้มอบศพให้ญาติไปฌาปนกิจตามพิธีทางศาสนา ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรช้างคลานได้ทําการสอบสวนหาตัวผู้กระทําผิด พบว่านายขาว เป็นคนแอบเอายาพิษใส่ในข้าวให้นายดํา เพื่อมิให้นายดําซัดทอดว่าได้ยาเสพติดมาจากนายขาว พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรช้างคลานจึงแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมทําสํานวนสอบสวน ดําเนินคดีกับนายขาวในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การชันสูตรพลิกศพนายดําผู้ตายขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และควรต้องดําเนินการเช่นใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 150 วรรคสาม วรรคสี่และวรรคห้า “ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทํา ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่า ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่า ขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นํา บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจําเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการ ขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ

เมื่อได้รับสํานวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทําคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่ง ท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทําการไต่สวนและทําคําสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและ พฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทําร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทําร้ายเท่าที่จะทราบได้ภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับสํานวน ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้อง บันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําถึงแก่ความตายในห้องขังของสถานีตํารวจภูธรช้างคลานนั้น ถือเป็นกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน การชันสูตรพลิกศพจึงต้องมี พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ทําการชันสูตรพลิกศพ และ พนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพ จากนั้นพนักงานอัยการต้องทําคําร้องขอ ต่อศาลเพื่อให้ศาลทําการไต่สวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคสาม วรรคสีและวรรคห้า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเพียงแพทย์ประจําโรงพยาบาลช้างคลานและพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรช้างคลานเท่านั้นที่ร่วมกันชันสูตรพลิกศพ หาได้มีพนักงานอัยการร่วมด้วยแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การชันสูตรพลิกศพคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ดีการที่ศพถูกฌาปนกิจไปแล้ว ย่อมไม่อาจทําการ ชันสูตรพลิกศพใหม่ได้ แต่พนักงานสอบสวนก็สามารถแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวน ชันสูตรพลิกศพแล้วส่งให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลให้ทําการไต่สวนได้

สรุป การชันสูตรพลิกศพนายดําผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานสอบสวนควรแจ้ง ให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพแล้วส่งให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาล เพื่อทําการไต่สวนต่อไป

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.แก้วสืบทราบว่านายเบิ้มซึ่งศาลได้ออกหมายจับในคดีชิงทรัพย์หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านเลขที่ 30 ซึ่งเป็นบ้านของนายธกฤตน้องชายนายเบิ้ม พ.ต.ต.แก้วจึงยื่นคําร้องต่อศาลขอออกหมายค้นบ้านหลัง ดังกล่าว ศาลออกหมายค้นให้ตามคําร้องขอ เมื่อ พ.ต.ต.แก้วไปถึงบ้านนายธกฤตพบว่านายเบิ้ม หลบหนีไปอยู่บ้านเลขที่ 31 ซึ่งตามทะเบียนบ้านมีนายเบิ้มเป็นเจ้าบ้าน พ.ต.ต.แก้วจึงไปที่บ้านเลขที่ 31 และได้พบนายเบิ้มอยู่ภายในบ้านหลังดังกล่าว พ.ต.ต.แก้วได้แสดงตัวเป็นตํารวจแจ้งนายเบิ้ม ว่าต้องถูกจับทั้งแจ้งข้อหา แสดงหมายจับต่อนายเบิ้ม พร้อมทั้งแจ้งสิทธิตามกฎหมาย จากนั้นเข้าไป จับกุมนายเบิ้มในบ้านเลขที่ 31 ทันทีโดยไม่มีหมายค้น ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.แก้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 57 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้จะจับ ขัง จําคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคําสั่ง หรือหมายของศาลสําหรับการนั้น

บุคคลซึ่งต้องขังหรือจําคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้

(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตาม มาตรา 78”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.แก้วได้เข้าไปจับกุมนายเบิ้มในบ้านนั้นถือเป็นการจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับ โดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้โดยไม่ต้อง มีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจในการค้นโดยมีหมายค้น หรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 57 )

ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายเบิ้มเป็นผู้ต้องหาซึ่งศาลได้ออกหมายจับแล้ว แม้ พ.ต.ต.แก้วจะไม่มี หมายค้นบ้านเลขที่ 31 แต่เมื่อนายเบิ้มเป็นเจ้าบ้านเลขที่ 31 พ.ต.ต.แก้วจึงสามารถเข้าไปในบ้านหลังนี้ได้โดยไม่ต้อง มีหมายค้นเนื่องจากที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ พ.ต.ต.แก้วจึงสามารถ ทําการจับนายเบิ้มในบ้านเลขที่ 31 ได้แม้จะไม่มีหมายค้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 ประกอบมาตรา 9245) ดังนั้น การจับของ พ.ต.ต.แก้วจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับของ พ.ต.ต.แก้วชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement